กรมบัญชีกลางเผยผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณประจำปี พ.ศ.2544 ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ จนถึงวันที่ 25 เม.ย.44

ข่าวทั่วไป Friday May 4, 2001 10:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 พ.ค.--กรมบัญชีกลาง
นางสาวเพ็ญศรี ตรีทัพ รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง แถลงถึงผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณประจำปี พ.ศ.2544 ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณจนถึงวันที่ 25 เมษายน 2544 ว่า มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณไปแล้วทั้งสิ้น 423,814 ล้านบาท หรือร้อยละ 46.57 ของวงเงินงบประมาณ และเมื่อรวมรายจ่ายเงินเดือน และค่าจ้างในส่วนภูมิภาคที่มีการอนุมัติเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2544 จำนวนประมาณ 18,000 ล้านบาท และประมาณการรายจ่ายในช่วง 3 วันทำการสุดท้ายของเดือนอีกประมาณ 5,000 ล้านบาทแล้ว อัตราการเบิกจ่ายจะเป็น 446,814 ล้านบาท หรือร้อยละ 49.10 ซึ่งสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณก่อนประมาณร้อยละ 0.22
ในส่วนของการเบิกจ่ายงบลงทุน ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณจนถึงวันที่ 25 เมษายน 2544 มีการเบิกจ่ายงบลงทุนทั้งสิ้น 63,172 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 28.43 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุน 222,170 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 7,725 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.47 สำหรับหน่วยงานที่มีงบลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก อันได้แก่กรมทางหลวง กรมการปกครอง กรมชลประทาน กรมโยธาธิการ และกรมการเร่งรัดพัฒนาชนบท มีการเบิกจ่ายงบลงทุนเพิ่มขึ้น 4,751 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.67
อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลังเห็นว่ายังจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายเพื่อให้การใช้จ่ายภาครัฐมีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น โดยกระทรวงการคลังได้แต่งตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานติดตามและเร่งรัดผลการดำเนินงานและการใช้จ่ายเงินงบประมาณ เพื่อทำหน้าที่ติดตามและเร่งรัดการใช้จ่ายเงินของหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีงบลงทุนสูงเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 32 แห่ง เพื่อติดตามผลเป็นรายหน่วยงานและรายโครงการร่วมกับผู้แทนส่วนราชการที่มีงบลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก โดยเน้นติดตามโครงการที่มีงบลงทุนแต่ยังเบิกจ่ายต่ำ และติดตามผลการดำเนินงานของโครงการที่ส่วนราชการดำเนินการเองแยกจากโครงการถ่ายโอนฯ และให้ส่วนราชการทั้ง 32 หน่วย เสนอแผนปฏิบัติงานและรายงานผลการดำเนินงานให้ทราบเป็นประจำทุกเดือน เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและกำหนดมาตรการแก้ไขให้เหมาะสมได้โดยเร็ว และได้กำหนดมาตรการต่างๆ ไปแล้ว คือ
1. เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเป้าหมายการเบิกจ่ายเงินงบประมาณในภาพรวมทั้งปี (ร้อยละ 90 ของวงเงินงบประมาณ) และรายไตรมาส เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการติดตามและประเมินผลการใช้จ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ และรายงานผลการเบิกจ่ายเงินให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเจ้าสังกัดทราบเป็นประจำทุกเดือน เพื่อเป็นข้อมูลในการติดตามเร่งรัดการดำเนินงานของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจในสังกัด
2. รายงานการติดตามผลการเบิกจ่ายเงิน ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจและแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีเป็นรายไตรมาส โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติสั่งการให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดติดตามเร่งรัดการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาอุปสรรค เพื่อให้การใช้จ่ายเงินเป็นเป็นไปตามเป้าหมาย รวมทั้งมีมติให้สำนักงบประมาณรับข้อสังเกตของกระทรวงการคลังไปประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายลงทุนในปีงบประมาณต่อไป โดยเฉพาะส่วนราชการที่มีโครงการที่ยังไม่ได้ดำเนินการก่อหนี้ผูกพันหลายโครงการเพื่อทบทวนวิธีการจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องและเหมาะสมกับความสามารถในการใช้จ่ายเงินและความพร้อมของหน่วยงานต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความล่าช้าในการดำเนินงานและการใช้จ่ายเงิน และปัญหาการขยายตัวของวงเงินกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี ทั้งนี้ให้เริ่มใช้กับการพิจารณาจัดสรร งบประมาณของปีงบประมาณ พ.ศ.2545 เป็นต้นไป
3. เร่งรัดการดำเนินงานในส่วนภูมิภาคและโครงการถ่ายโอนงาน/กิจกรรมให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยประสานงานกับกระทรวงมหาดไทยและส่วนราชการต่างๆ ที่มีโครงการถ่ายโอนฯ หรือที่มีงบลงทุนกระจายใน ภูมิภาคจำนวนมาก ให้เร่งรัดการดำเนินงานและให้ความช่วยเหลือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้มีมติสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรับผิดชอบดำเนินการ และกระทรวงการคลังได้สั่งการให้สำนักงานคลังจังหวัดทั่วประเทศรายงานสรุปผลการเบิกจ่ายเงินเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดและที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดเป็นประจำทุกเดือนเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาสั่งการและแก้ไขปัญหาในการดำเนินงาน
นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงการคลังยังได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของการเร่งรัดการใช้จ่ายเงินเป็นพิเศษ และมอบนโยบายให้กรมบัญชีกลางติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายเงินในส่วนภูมิภาคเป็นรายจังหวัดด้วย จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมร่วมกันในวันนี้ (1 พ.ค.44) และเห็นว่าควรมีการกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อเร่งรัดการใช้จ่ายเงินภาครัฐเพิ่มขึ้น ดังนี้
1. สำรวจโครงการงบลงทุนในส่วนที่เป็นโครงการใหม่ซึ่งใช้เงินงบประมาณประจำปี 2544 ของส่วนราชการต่างๆ ที่ยังไม่ได้ดำเนินการก่อหนี้ผูกพัน เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและความพร้อมของโครงการดังกล่าว ซึ่งหากผลปรากฏว่าโครงการใดไม่มีความพร้อมหรือยังไม่มีแผนปฏิบัติงานที่ชัดเจนจะได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาทบทวนหรือยกเลิกโครงการดังกล่าวต่อไป
2. กำหนดมาตรการการกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีที่เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะโครงการที่ยังไม่มีหนี้ผูกพันและส่วนราชการดำเนินงานล่าช้าโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เพื่อให้ส่วนราชการตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการเร่งรัดการดำเนินงานและการใช้จ่ายเงินให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณเพื่อรักษาวินัยทางการคลังอย่างเคร่งครัด
3. ใช้อัตราการเบิกจ่ายเงินงบประมาณเป็นตัวชี้วัดสำคัญในการประเมินผลงานของหน่วยงาน (Key Performance Indicator) เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการการปรับปรุงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานราชการและนโยบายการปฏิรูประบบราชการซึ่งมุ่งเน้นผลสำเร็จของงาน
4. เสนอคณะรัฐมนตรีให้ใช้ผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณเป็นเกณฑ์ในการจัดสรรและกำหนดวงเงินงบประมาณของส่วนราชการ/รัฐวิสาหกิจในปีงบประมาณถัดไป และขอความร่วมมือให้สำนักงบประมาณพิจารณาความพร้อมของส่วนราชการประกอบการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายลงทุน เช่น การเตรียมพร้อมในเรื่องการออกแบบการจัดหาพื้นที่ในการดำเนินการ เป็นต้น เพื่อให้ส่วนราชการสามารถเริ่มดำเนินงานได้ทันทีที่ได้รับงบประมาณ และเงินประจำงวด
ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการที่กำหนดขึ้นจะสามารถเร่งรัดให้หน่วยงานต่างๆ สามารถดำเนินการขออนุมัติเบิกจ่ายเงินงบประมาณได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลให้เม็ดเงินสามารถเข้าไปหมุนเวียนกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามเป้าหมายที่ทางรัฐบาลกำหนดไว้--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ