กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนาระดมความเห็นต่อร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง หลักปฏิบัติด้านสุขลักษณะสำหรับทุเรียนแช่เยือกแข็ง ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง กรุงเทพฯ ว่า จากการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้มีการจัดทำมาตรฐานหลักปฏิบัติด้านสุขลักษณะสำหรับทุเรียนแช่เยือกแข็งเป็นมาตรฐานบังคับ เนื่องจากทุเรียนแช่เยือกแข็ง เป็นสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญและมีแนวโน้มการส่งออกเพิ่มขึ้นทุกปี ประกอบกับช่วงที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรได้รับแจ้งปัญหาจากผู้ประกอบการผลิตและส่งออกทุเรียนแช่เยือกแข็ง พบว่า เนื้อทุเรียนไม่ได้คุณภาพ มีสิ่งปนเปื้อนซึ่งไม่ใช่อาหาร รวมถึงพบค่าเชื้อแบคทีเรียเกินกว่าค่าที่กำหนด ขณะที่กระบวนการแช่แข็งก็ไม่มีการควบคุมคุณภาพในด้านกระบวนการผลิตที่เกี่ยวกับสุขลักษณะและความปลอดภัย จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่กระทรวงเกษตรฯ ต้องดำเนินการในเรื่องดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบต่อการส่งออกในภาพรวม และสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพทุเรียนแช่เยือแข็งของไทยให้กับประเทศผู้นำเข้าทุเรียนจากไทย
"ทุเรียนแช่เยือกแข็ง เป็นสินค้าเกษตรชนิดหนึ่งที่สำคัญและมีแนวโน้มการส่งออกเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในช่วงปี 2556 – 2558 ไทยมีแนวโน้มการส่งออกทุเรียนแช่เยือกแข็งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2558
ที่ผ่านมามีการส่งออกทุเรียนแช่เยือกแข็งประมาณ 22,180 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1,944 ล้านบาท โดยเฉพาะเนื้อทุเรียนแช่เยือกแข็งมีประมาณ 1,588 ตัน คิดเป็นมูลค่า 105.08 ล้านบาท โดยประเทศส่งออกทุเรียนแช่เยือกแข็งที่สำคัญของไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ออสเตรเลีย ไต้หวัน เกาหลี และฮ่องกง " นางสาวดุจเดือน กล่าว
ดังนั้น การจัดสัมมนาครั้งนี้ จะนำข้อคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการจัดทำร่างมาตรฐานทุเรียนแช่เยือกแข็ง เป็นมาตรฐานบังคับ ประมาณ 100 คน ประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาคมผู้ค้าและผู้ส่งออกผลไม้ไทย ผู้ประกอบการผลิตและแปรรูปที่เกี่ยวข้อง นำมาปรับปรุงร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง หลักปฏิบัติด้านสุขลักษณะสำหรับทุเรียนแช่เยือกแข็งในครั้งนี้ จะส่งผลให้ร่างมาตรฐานดังกล่าวเกิดความสมบูรณ์ นำไปใช้ปฏิบัติได้จริง และเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายก่อนประกาศเป็นมาตรฐานของประเทศ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ภายในปี 2560