กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--มูลนิธิไทยคม
มูลนิธิไทยคมจัดโครงการนักพัฒนาน้อยแห่งบ้านสามขาให้กับนักเรียน ครูและตัวแทนชุมชนจากบ้านสามขา จำนวน 40 คน โดยมีคุณจารุวรรณ คำเมือง คุณปฏิญญา เฉลิมสุข และคุณพรนับพัน วงศ์ตระกูล กลุ่มเจ้าของธุรกิจในชุมชนบ้านสามขาและเครือข่ายมูลนิธิไทยคมร่วมเป็นวิทยากร เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างของนักพัฒนา
ด้วยความที่กรุงเทพมหานครเป็นทั้งเมืองหลวงของประเทศไทยและเขตเศรษฐกิจที่สำคัญ ทำให้คนต่างจังหวัดย้ายเข้ามาหางานทำเป็นจำนวนมากในทุกๆ ปี กระทั่งเกิดเป็นปัญหาท้องถิ่นอย่างการขาดแคลนแรงงานวัยหนุ่มสาว ขาดการพัฒนาชนบท และขาดผู้สืบทอดวัฒนธรรมท้องถิ่น มูลนิธิไทยคมจึงมีแนวคิดริเริ่มปลูกฝังจิตสำนึกรักบ้านเกิด โดยจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ทำให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพโดยมุ่งให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเยาวชนและชาวบ้านในชุมชน
กว่า 16 ปี ที่มูลนิธิไทยคมสนับสนุนเยาวชนและชุมชนบ้านสามขา จ.ลำปาง จัดโครงการเพื่อพัฒนาเยาวชน อาทิเช่น โครงการรู้รักษ์ รู้จักพันธุ์ไม้ โครงการมัคคุเทศก์น้อยบ้านสามขา โครงการจากสมุนไพรบ้านสามขาสู่สินค้าชุมชน เป็นต้น ส่งผลให้ชุมชนบ้านสามขาได้รับรางวัลมากมายและได้รับการแต่งตั้งให้เป็น 1 ใน 12 ชุมชนต้นแบบการท่องเที่ยวชุมชนเชิงสร้างสรรค์จากกรมการท่องเที่ยว และในครั้งนี้มูลนิธิไทยคมสนับสนุนการจัดโครงการนักพัฒนาน้อยแห่งบ้านสามขาขึ้น ระหว่างวันที่ 23-25 พฤศจิกายน 2559 ณ โรงเรียนบ้านสามขา จ.ลำปาง เพื่อให้เด็กๆ ได้เห็นโอกาสสร้างอาชีพใหม่ที่สามารถทำได้ในบ้านเกิดของตัวเอง โดยนำหลักการเรียนรู้แบบ Constructionism มาสอนให้เกิดความเข้าใจคุณค่าของทรัพยากรท้องถิ่น โดยมีกลุ่มพี่บัณฑิตคืนสู่ถิ่นซึ่งเป็นเครือข่ายมูลนิธิไทยคมและปัจจุบันเป็นเจ้าของธุรกิจกระดาษฟางข้าว ข้าวอินทรีย์ และการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ในบ้านสามขามาเป็นวิทยากร นอกจากนี้เยาวชนยังได้มีโอกาสเรียนรู้วิธีการเกี่ยวข้าว การตีข้าวแบบดั้งเดิมจากชาวนาตัวจริง และร่วมเปิดประสบการณ์เรียนรู้งานศิลปหัตถกรรมและภูมิปัญญาล้านนาที่พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อพัฒนาทักษะด้านงานฝีมือนำไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่และทางเลือกสายอาชีพในชุมชนบ้านสามขาที่หลากหลายขึ้น
มูลนิธิไทยคมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะช่วยเป็นอีกแรงผลักดันให้เยาวชนเกิดสำนึกรักบ้านเกิด และนำโอกาสที่ได้รับจากโครงการในครั้งนี้ไปพัฒนาคุณภาพชีวิตและชุมชนบ้านสามขาให้มีสินค้าช่วยสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและชุมชน เป็นกำลังสำคัญในการช่วยรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นอนาคตนักพัฒนาชุมชนและประเทศชาติต่อไป