กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--ธนาคารไทยพาณิชย์
กรุงเทพมหานคร–สมาชิกสมาคมธนาคารอาเซียน (ASEAN Bankers Association : ABA)พร้อมสมาคมธนาคารไทย ร่วมระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับบริบททางการเงินของโลกและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ในงานสัมมนา ASEAN Banking Conferenceครั้งที่ 21 และการประชุม ASEAN Banking Council Meeting ครั้งที่ 46 ภายใต้หัวข้อ "Enhancing and Strengthening the Roles of Regional ASEAN Banks in the context of growing the ASEAN Economic Community (AEC)" โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างบทบาทและความแข็งแกร่งของธนาคารในภูมิภาคอาเซียนให้สามารถรองรับการเติบโตทางการค้าการลงทุนในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และพร้อมรับความท้าทายใหม่ๆ ในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้การประชุมมีขึ้นต่อเนื่องจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพ
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า "ปัจจุบันภาคการเงินการธนาคารในภูมิภาคอาเซียนกำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านสู่บรรทัดฐานใหม่ของเศรษฐกิจโลก (New Normal Economy) อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งระบบนิเวศทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป การแข่งขันภายใต้เทคโนโลยี เช่น ฟินเทค (Fintech) ในภาคการเงินอย่างรวดเร็ว ตลอดจนหลักเกณฑ์ข้อบังคับใหม่ๆ ที่ถูกนำมาใช้ในการควบคุมกิจการของสถาบันการเงิน การรวมตัวของนายธนาคารและนักการเงินจากประเทศอาเซียนในครั้งนี้จึงเป็นการประชุมที่สำคัญอย่างยิ่ง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ในอนาคตและเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภาคการเงินในภูมิภาค ผ่านความร่วมมือที่แนบแน่นยิ่งขึ้นด้วยแนวทางและเป้าหมายที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นั่นคือการยกระดับบริการทางการเงินให้สามารถรองรับศักยภาพการเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งด้านการค้าและการส่งออกในภูมิภาคอาเซียนที่มีมูลค่าสูงถึง 2.27 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีการลงทุนจากต่างประเทศมากถึง 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หลังจากเริ่มต้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปลายปี 2558 พร้อมใช้เครือข่ายที่แข็งแกร่งของสมาชิกสมาคมธนาคารอาเซียนส่งเสริมให้ภาคธุรกิจสามารถขยายฐานการค้าและการลงทุนระหว่างกันได้อย่างเต็มศักยภาพ"
ดร.วิรไท สันติประภพผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้กล่าวในปาฐกถาว่า "โลกเรากำลังเผชิญกับ New Mediocre หรือ ภาวะเศรษฐกิจเติบโตเชื่องช้า ภาวะเงินเฟ้อต่ำ ส่งผลความรู้สึกและพฤติกรรมของผู้บริโภค ในปัจจุบัน ผู้บริโภคต้องการความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงินมากขึ้น คาดหวังให้ค่าบริการลดลง ในขณะเดียวกัน Non- bank ก็ก้าวเข้ามาเป็นผู้เล่นในภาคการเงินผ่านเทคโนโลยีฟินเทค (FinTech) ส่งผลให้ภาคการเงินการธนาคารต้องมีการปรับตัวขนานใหญ่ ซึ่งภูมิภาคอาเซียนก็ได้รับผลกระทบดังกล่าวเช่นกัน จึงจำเป็นที่ธนาคารในอาเซียนต้องร่วมมือกัน ทั้งในด้านการสร้างระบบ Cross – border Payment and Settlement หรือ ระบบการชำระเงินค่าสินค้าและบริการระหว่างประเทศให้เป็นระบบเดียวกัน รวมทั้งวิธีการคิดค่าบริการ"
"ในด้านของความปลอดภัยก็จำเป็นที่ต้องมีระบบในการป้องกันที่ดีควบคู่ไปกับการสร้างความรู้ด้านการเงินแก่ผู้บริโภค ในส่วนของธนาคารเองต้องไม่พิจารณาเฉพาะผลประกอบการในระยะสั้น หากแต่ต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดำรงอยู่บนจรรยาบรรณและรับผิดชอบต่อสังคมเพราะในที่สุดการตัดสินใจต่างๆของธนาคารก็สะท้อนมาจากค่านิยมขององค์กรนั่นเอง" ดร. วิรไท กล่าวทิ้งท้าย
การสัมมนาASEAN Banking Conferenceครั้งที่ 21 และการประชุม ASEAN Banking Council Meeting ครั้งที่ 46 ณ กรุงเทพมหานคร สมาคมธนาคารไทยได้รับมอบหมายจากสมาคมธนาคารอาเซียนให้เป็นเจ้าภาพดำเนินการจัดงาน โดยการสัมมนาจะมีขึ้นทุกๆ 2 ปี ในขณะที่การประชุมจะมีขึ้นทุกปี โดยกำหนดหัวข้อหลักจากสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อภาคการเงินในอนาคต โดยผู้แทนจากนายธนาคารจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคจะร่วมกันระดมความคิดเห็นและกำหนดแนวทางความร่วมมือระหว่างกัน ด้วยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคการเงินของภูมิภาคอาเซียนอย่างยั่งยืนต่อไป