กรุงเทพฯ--29 พ.ย.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
"เศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคม 2559 ขยายตัวดีจากการบริโภคภาคเอกชนและการเบิกจ่ายภาครัฐ ขณะที่ผลผลิตสินค้าเกษตรที่ยังขยายตัวดีต่อเนื่อง สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยยังคงแข็งแกร่งรองรับความผันผวนจากภายในและภายนอกประเทศได้"
นายพรชัย ฐีระเวช รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนตุลาคม 2559 ว่า "เศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคม 2559 ขยายตัวดีจากการบริโภคภาคเอกชนและการเบิกจ่ายภาครัฐ ขณะที่ผลผลิตสินค้าเกษตรที่ยังขยายตัวดีต่อเนื่อง สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยยังคงแข็งแกร่งรองรับความผันผวนจากภายในและภายนอกประเทศได้" โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัว โดยปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ยังขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 3.1 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 โดยเป็นการขยายตัวทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้เกษตรกรที่แท้จริงที่ยังขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.8 นอกจากนี้ ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่สามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 0.3 จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการใช้จ่ายภายในประเทศที่ขยายตัวร้อยละ 1.1 ขณะที่การใช้จ่ายของรัฐบาลโดยเฉพาะรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนขยายตัวดีต่อเนื่อง สะท้อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนตุลาคม 2559 สามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 435.4 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 16.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนจากงบประมาณรายจ่ายปีปัจจุบันที่ขยายตัวร้อยละ 17.5 และร้อยละ 17.0 ตามลำดับ
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการผลิตยังคงมีสัญญานที่ดี สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่ยังขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 5.9 และขยายตัวร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้วหลังปรับผลทางฤดูกาล โดยเป็นผลจากการขยายตัวของหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะยางพารา ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน และกลุ่มไม้ผล ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -1.2 เนื่องจากราคาในหมวดพืชผลสำคัญ อาทิ ข้าวเปลือก โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ที่ราคาหดตัวเนื่องจากเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยว รวมถึงราคามันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในขณะที่ราคายาง และปาล์มน้ำมันยังขยายตัวได้ดี นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันที่ระดับ 86.5 เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลที่มีคำสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับเทศกาลปีใหม่ทั้งจากผู้บริโภคภายในประเทศและต่างประเทศ
เสถียรภาพเศรษฐกิจยังคงแข็งแกร่ง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.3 และ 0.7 ตามลำดับ อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.2 ของแรงงานรวม หรือคิดเป็นผู้ว่างงาน 4.5 แสนคน นอกจากนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2559 อยู่ที่ระดับร้อยละ 42.8 ถือว่ายังอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 ส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2559 อยู่ที่ 180.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 3.2 เท่าเมื่อเทียบกับหนี้ต่างประเทศระยะสั้น สะท้อนให้เห็นถึงความมั่นคงของเศรษฐกิจไทยในการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้
เอกสารแนบ
รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนตุลาคม 2559
"เศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคม 2559 ขยายตัวดีจากการบริโภคภาคเอกชนและการเบิกจ่ายภาครัฐ ขณะที่ผลผลิตสินค้าเกษตรที่ยังขยายตัวดีต่อเนื่อง สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยยังคงแข็งแกร่งรองรับความผันผวนจากภายในและภายนอกประเทศได้"
1. การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดี สะท้อนจากปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนตุลาคม 2559 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกันที่ร้อยละ 3.1 ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ขยายตัวร้อยละ 7.2 และเขตภูมิภาคที่ขยายตัวร้อยละ 3.5 ตามรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งที่คลี่คลายลง และราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับรายได้เกษตรกรที่แท้จริงในเดือนตุลาคม 2559 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.8 ต่อปี ขณะที่ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนตุลาคม 2559 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.3 ต่อปี จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการใช้จ่ายภายในประเทศที่ขยายตัวร้อยละ 1.1 ต่อปี ในขณะที่ สำหรับ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนตุลาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 62.0 ปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า
2. การลงทุนภาคเอกชนในภาพรวมมีสัญญาณทรงตัว โดยการลงทุนในหมวดก่อสร้างสะท้อนจากภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนตุลาคม 2559 หดตัวที่ร้อยละ -2.9 ต่อปี แต่ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 ขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.9 สำหรับปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือนตุลาคม 2559 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -5.0 ต่อปี แต่เมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 2.2 ต่อเดือน ทางด้านดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือนตุลาคม 2559 หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -1.6 ต่อปี โดยได้รับอานิสงส์จากดัชนีราคาในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่ปรับตัวสูงขึ้น สำหรับการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนตุลาคม 2559 หดตัวที่ร้อยละ -14.0 ต่อปี ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 ขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.2
3. การใช้จ่ายของรัฐบาลโดยเฉพาะรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุนขยายตัวได้ดี สะท้อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนตุลาคม 2559 สามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 435.4 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 16.3 ต่อปี โดยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้จำนวน 422.4 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 17.5 ต่อปี หรือคิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 15.5 ของกรอบวงเงินงบประมาณ (2,733.0 พันล้านบาท) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุนที่เบิกจ่ายได้ 394.9 พันล้านบาท และ 27.5 พันล้านบาท ขยายตัวถึงร้อยละ 17.5 และ 17.0 ต่อปี สำหรับการจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนตุลาคม 2559 พบว่า รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ได้จำนวน 203.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.8 ต่อปี และสูงกว่าประมาณการ 16.1 พันล้านบาท หรือร้อยละ 8.5 ของประมาณการเอกสารงบประมาณ โดยมีปัจจัยจากการนำส่งรายได้ของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่สูงกว่าประมาณการ เป็นสำคัญ สำหรับดุลเงินงบประมาณในเดือนตุลาคม 2559 ขาดดุลจำนวน -280.9 พันล้านบาท
4. ด้านอุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้าในเดือนตุลาคม 2559 ชะลอตัวลง โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ มีมูลค่า 17.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -4.2 ต่อปี โดยเป็นการหดตัวเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะตลาดส่งออกสำคัญ เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป อาเซียน-9 อาเซียน-5 ฮ่องกง เกาหลีใต้ ทวีปออสเตรเลีย และแอฟริกา อย่างไรก็ดี การส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และกลุ่ม CLMV ทั้งนี้ สินค้าส่งออกที่หดตัว ได้แก่ สินค้าในกลุ่มเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตร ยานพาหนะและส่วนประกอบ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นสำคัญ ในขณะที่สินค้าในกลุ่มเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ ยังขยายตัวดี สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐมีมูลค่า 17.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 6.5 ต่อปี ทั้งนี้ มูลค่าส่งออกสินค้าที่สูงกว่าการนำเข้าสินค้าส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศเกินดุล 0.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
5. เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานมีสัญญาณดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนตุลาคม 2559 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.9 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 6.2 ต่อเดือน โดยเป็นผลจากการขยายตัวของหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะยางพารา ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน และกลุ่มไม้ผล เป็นสำคัญ สำหรับหมวดปศุสัตว์ขยายตัวได้ดีจากสุกร และไข่ไก่ ขณะที่หมวดประมงขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือนตุลาคม 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยอยู่ที่ระดับ 86.5 เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลที่มีคำสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับเทศกาลปีใหม่ทั้งจากผู้บริโภคภายในประเทศ และต่างประเทศ เป็นสำคัญ
6. เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพภายนอกอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนตุลาคม 2559 อยู่ที่ร้อยละ 0.3 ต่อปี โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก โดยสินค้าในหมวดยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.7 สำหรับอัตราการว่างงานในเดือนตุลาคม 2559 อยู่ที่ ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นผู้ว่างงาน 4.5 แสนคน ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนกันยายน 2559 อยู่ที่ระดับร้อยละ 42.7 ถือว่ายังอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2559 อยู่ที่ 180.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 3.2 เท่าเมื่อเทียบกับหนี้ต่างประเทศระยะสั้น
สำหรับมาตรการการเงินการคลังที่กระทรวงการคลังได้ผลักดันตามนโยบายรัฐบาลโดยได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 เป็นต้นมานั้น ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาและปี 2559 ต่อไป โดยมีความคืบหน้าของมาตรการต่างๆ ถึง ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2559 สรุปได้ดังนี้
1. โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ โดยการสนับสนุนเงินทุนให้แก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองจำนวน 79,556 กองทุน ผ่านสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) กองทุนละไม่เกิน 500,000 บาท ภายในวงเงิน 35,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ในชุมชน เช่น ยุ้งฉางชุมชน โรงตากพืชผลทางการเกษตร โรงสีชุมชน การจัดหาแหล่งเก็บน้ำชุมชน และเครื่องจักรสำหรับแปรรูปสินค้าเกษตร เป็นต้น และเพื่อการดำเนินงานเพื่อเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ของชุมชน ให้ดีขึ้น เป็นสำคัญ โดยสถานะปัจจุบันคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติได้ออกหลักเกณฑ์ในการดำเนินโครงการแล้ว และได้อนุมัติโครงการและงบประมาณแล้วจำนวน 65,261 กองทุน เป็นเงินงบประมาณจำนวน 32,593 ล้านบาท และมีการโอนเงินแล้ว 31,237 ล้านบาท และมีการเบิกจ่ายแล้ว 24,699 ล้านบาท
2. โครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 SME เกษตร เพื่อสร้างความยั่งยืนของภาคเกษตรไทย วงเงินสินเชื่อ 72,000 ล้านบาท ระยะเวลากู้ 10 ปี ดอกเบี้ยร้อยละ 4 ใน 7 ปีแรก และปีที่ 8 - 10 คิดอัตราดอกเบี้ยปกติ และจากข้อมูล ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559 พบว่า เบิกจ่ายเงินกู้แล้ว 12,354 ล้านบาท ให้กับ SMEs ภาคการเกษตรจำนวน 9,421 ราย
3. มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมืองตามแนวทางประชารัฐ ได้แก่
3.1 มาตรการสินเชื่อประชารัฐเพื่อประชาชน วงเงินสินเชื่อไม่เกินรายละ 50,000 บาท ระยะเวลาชำระคืน 5 ปี ดอกเบี้ยร้อยละ 0 ในปีแรก และปีที่ 2-5 คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือน และได้อนุมัติเงินกู้แล้ว 24,250 ราย จำนวนเงิน 957 ล้านบาท
3.2 มาตรการประชารัฐเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินประชาชนภายใต้นโยบายรัฐ พักชำระเงินต้น (ชำระเฉพาะดอกเบี้ย) สูงสุด 3 ปี และ/หรือขยายระยะเวลาชำระหนี้สูงสุดไม่เกิน 20 ปี มีการอนุมัติพักชำระหนี้แล้ว 10,390 ราย จำนวนเงิน 6,422 ล้านบาท
3.3 โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาอาชีพและสร้างความรู้ทางการเงินแก่ผู้ประกอบอาชีพรายย่อยในชุมชนเมือง (อบรมความรู้ทางการเงินและการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพครอบครัวละ 1 คน จำนวน 150,000 ครอบครัว) มีการจัดอบรมให้แก่บุคคลในครอบครัวของประชาชนรายย่อยไปแล้วจำนวน 142,702 ราย
4. มาตรการการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในระยะเร่งด่วน เพื่อสนับสนุนธุรกิจ SMEs ให้สามารถแข่งขันได้ ประกอบด้วย
4.1 โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Policy Loan) วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) ได้อนุมัติสินเชื่อแล้วจำนวน 13,420 ล้านบาท ให้กับ SMEs แล้วจำนวน 4,335 ราย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้มีการค้ำประกันสินเชื่อแล้วจำนวน 12,280 ล้านบาท ให้กับ SMEs แล้ว 4,239 ราย
4.2 โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสำหรับผู้ประกอบการ SMEs วงเงินสินเชื่อ 30,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 4 ระยะเวลา 7 ปี และจากข้อมูลล่าสุด พบว่า มีการอนุมัติสินเชื่อแล้ว 7,267 ล้านบาท ให้กับ SMEs แล้วจำนวน 614 ราย
4.3 โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 2 วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 13,500 ล้านบาท รายละไม่เกิน 200,000 บาท ค้ำประกันความเสียหายร้อยละ 30 – 50 และจากข้อมูลล่าสุด พบว่า มีการค้ำประกันสินเชื่อแล้ว 1,968 ล้านบาท ให้กับ SMEs แล้วจำนวน 20,439 ราย
4.4 มาตรการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมผ่านการร่วมลงทุน (Venture Capital วงเงินร่วมทุน 6,000 ล้านบาท) โดยธนาคารออมสิน ได้อนุมัติร่วมลงทุนกับ SMEs ไปแล้วจำนวน 5 ราย วงเงิน 115 ล้านบาท อนุมัติเบิกเงินลงทุนแล้ว 4 ราย วงเงิน 65 ล้านบาท ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) อนุมัติหลักการเพื่อร่วมลงทุนแล้ว 10 ราย วงเงิน 138 ล้านบาท อนุมัติเบิกเงินลงทุนแล้ว 3 ราย วงเงิน 46 ล้านบาท
5. มาตรการการเงินการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง
5.1 มาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้เปิดรับคำขอตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2558 และจากข้อมูลล่าสุดได้มีการอนุมัติสินเชื่อแล้ว 16,357 ราย วงเงินอนุมัติ 22,834 ล้านบาท
5.2 โครงการบ้านประชารัฐ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยครอบคลุมทั้งผู้มีรายได้ประจำ ได้แก่ ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ และบุคลากรทางการศึกษา และผู้มีรายได้ไม่แน่นอนหรืออาชีพอิสระ ที่ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์มาก่อน ให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ทั้งนี้ ให้รวมถึงการกู้ซ่อมแซม และ/หรือต่อเติมที่อยู่อาศัยผ่านการสนับสนุนสินเชื่อที่อยู่อาศัยเงื่อนไขผ่อนปรนจากสถาบันการเงินของรัฐ โดยข้อมูลล่าสุด พบว่า ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้อนุมัติสินเชื่อ Post Finance แล้วจำนวน 7,634 ราย วงเงิน 6,450 ล้านบาท และธนาคารออมสิน อนุมัติสินเชื่อ Pre Finance แล้ว 2 ราย วงเงิน 65 ล้านบาท และอนุมัติสินเชื่อ Post Finance แล้ว 3,886 ราย วงเงิน 3,343 ล้านบาท