กรุงเทพฯ--29 พ.ย.--สยามกลการ
กลุ่มสยามกลการ โดย สยามดนตรียามาฮ่า และสถาบันดนตรียามาฮ่า ร่วมกับ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จัดถวายความอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นำ ๙ บทเพลง โชว์ศักยภาพเมล็ดพันธุ์ดนตรีนักเรียนโรงเรียนดนตรียามาฮ่าทั่วประเทศ นักดนตรี ศิลปินยามาฮ่า นักร้องคุณภาพสยามกลการ และวง The Yamaha Sound ภายใต้ชื่อ นบพระภูมิบาล บุญดิเรกเจ้าจอมไทย : เมล็ดพันธุ์ดนตรีจากต้นไม้ของพ่อ ที่จะอยู่ในหัวใจคนไทยทั้งประเทศ
บริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัด และโรงเรียนดนตรียามาฮ่า ผู้นำดนตรีศึกษารายแรกของเมืองไทย มาเป็นเวลา ๕๐ ปี โดยยึดหลักสูตร Yamaha Music Worldwide Education System ที่มีเครือข่ายกว่า ๔๐ ประเทศทั่วโลก รับรองโดย Yamaha Music Foundation ประเทศญี่ปุ่น โดยบริษัทฯ ได้ยึดแนวทางตามพระราชดำริของพระองค์ท่าน ที่แสดงถึงพระอัจฉริยะภาพด้านดนตรี และส่งผลต่อการผลิตบุคลากรด้านดนตรี ซึ่งเมล็ดพันธุ์ดนตรีเหล่านี้ ได้เติบโตแข็งแกร่งเป็นที่รู้จักสร้างชื่อเสียง และสร้างสรรค์สังคมเป็นที่ยอมรับแก่วงการดนตรีในประเทศไทย ร่วมถวายอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยการรวมพลังคนรักดนตรีร้อยใจเป็นหนึ่งเดียวกันในการถ่ายทอดความไพเราะ ๙ บทเพลงอันยิ่งใหญ่
"นบพระภูมิบาล บุญดิเรกเจ้าจอมไทย" เมล็ดพันธุ์ดนตรีจากต้นไม้ของพ่อ เป็นกิจกรรมในการถ่ายทอด บทเพลง ๙ บทเพลง ที่มีความหลากหลายของแนวดนตรีทั้งในรูปแบบของเปียโน อิเลคโทน กีตาร์ โดยศิลปิน นักร้อง นักดนตรีขั้นเทพของเมืองไทย และเยาวชนจากโรงเรียนดนตรียามาฮ่ากว่า ๕๐๐ ชีวิต ได้แก่ เพลงสรรเสริญพระบารมี และ เพลงพระราชนิพนธ์พระมหามงคล บรรเลงโดย RSU Big Band ร่วมกับ Yamaha Artists, เพลงพระราชาผู้ทรงธรรม ถ่ายทอดโดย คุณรัดเกล้า อามระดิษ, เพลงแผ่นดินของเรา ถ่ายทอดโดย เบิร์ด-เอกชัย เจียรกุล ร่วมกับ นักกีตาร์คลาสสิกระดับโลก, เพลงลมหนาว บรรเลงโดย Electone Ensemble, เพลงสายฝน บรรเลงโดย ๗ Pianists, เพลงต้นไม้ของพ่อ โดยวง Symphonic Band, โรงเรียนสุรนารีวิทยา ร่วมกับนักร้องคอรัส, เพลงอาทิตย์อับแสง บรรเลงโดย โต๋ - ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร นักร้อง และนักเปียโนชื่อดัง, วง The Yamaha Sound ร่วมกับนักร้องดังสยามกลการ, การแสดงดนตรีของครอบครัว "ศรีกรานนท์" นำโดย เรืออากาศตรี ศาตราจารย์พิเศษ ดร.แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ - ดร.อินทุอร–ดร.ภาธร ศรีกรานนท์, การแสดงชุด EARTH เพลงในหลวงของแผ่นดิน และร่วมพูดคุยกับ ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ More Than a Monarch ธ ทรงเป็นยิ่งกว่ามหากษัตริย์ โดยงานครั้งนี้ ได้ความร่วมมือจากพันธมิตรดนตรี อาทิ คณาจารย์จากมหาวิทยาลัย, เจ้าของธุรกิจโรงเรียนดนตรียามาฮ่า และนักเรียนโรงเรียนดนตรียามาฮ่าในเครือข่ายทั่วประเทศ
• ครอบครัว "ศรีกรานนท์" นักดนตรี นักประพันธ์ดนตรี คนสำคัญของเมืองไทย ที่มีโอกาสรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท โดยถวายงานด้านดนตรีแด่พระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มายาวนานกว่า ๖๐ ปี คือ เรืออากาศตรี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงดนตรีสากล ประจำปี ๒๕๓๕ ผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนดนตรียามาฮ่า อดีตประธานบริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัด และยังเป็นคณบดีผู้ก่อตั้งคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ในฐานะนักดนตรี อาจารย์แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ มีผลงานเพลงที่ประพันธ์ทำนองมากกว่า ๑,๐๐๐ เพลง ซึ่งเพลง ที่สร้างชื่อเสียง คือ เพลง "รักเอย" ได้รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำ เพลง "ชั่วฟ้าดินสลาย" ได้รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงเงิน และเพลง "จับปู" เป็นเพลงที่มีท่วงทำนองสนุกสนาน นำไป บรรเลงอย่างแพร่หลาย นอกจากนี้ยังได้เป็นผู้ร่วมประพันธ์ทำนองเพลง "ภูมิแผ่นดินนวมินทร์มหาราชา" ซึ่งเป็นเพลงที่สื่อ ถึงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไม่ว่าคนไทยคนไหนที่ได้ฟังท่วงทำนอง และเนื้อหาของบทเพลงนี้จะรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเมื่ออาศัยอยู่ใต้ร่มพระบารมี
ครอบครัวนักดนตรี "ศรีกรานนท์" ยังคงมุ่งมั่นทำความดีให้ความรู้ด้านดนตรีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงทำการกุศลเรื่อยมา โดยเฉพาะในวันเกิดของอาจารย์แมนรัตน์ และคุณลออวรรณ ศรีกรานนท์ ครอบครัวศรีกรานนท์ จะจัดการแสดงดนตรี เพื่อรวบรวมรายได้จากการจัดแสดงไปมอบให้การกุศลเป็นประจำเรื่อยมา โดยในการแสดง ครั้งนี้ ทายาททางดนตรีของอาจารย์แมนรัตน์ นำโดย ดร.อินทุอร - รศ.ดร.ภาธร ศรีกรานนท์ และหลานสาววรรัตน์ บาลาเคาสคัส จะเป็นผู้ถ่ายทอดบทเพลงพระราชนิพนธ์ Somewhere Somehow และเพลง Still on my Mind
• เบิร์ด-เอกชัย เจียรกุล ศิลปินยามาฮ่าคนไทยและคนเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลชนะเลิศกีตาร์คลาสสิก 'GFA Guitar Foundation of America International Concert Artist Competition ๒๐๑๔ นำบทเพลงพระราชนิพนธ์ "แผ่นดินของเรา" ที่เรียบเรียงมาพิเศษสำหรับกีตาร์คลาสสิค ๖๙ คน เป็นวง Guitar Orchestra ที่มีความไพเราะอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งผมไม่เคยเล่นที่ไหนมาก่อน โดยจะร่วมบรรเลงถวายอาลัยให้พระองค์ท่าน
ซึ่งพระองค์ท่านเปรียบเสมือนเป็นแรงบันดาลใจ ให้ผมได้มีโอกาสเล่นกีตาร์ เพราะได้ยินบทเพลงชะตาชีวิตซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผมอยากเล่นกีตาร์คลาสสิค เรียกได้ว่าไม่ได้ยินเพลงของพระองค์ท่าน ก็ไม่มีนักกีตาร์คลาสสิคอย่างผมในวันนี้
• The Yamaha Sound วงดนตรี Jazz Big Band ที่โด่งดังในช่วงปี ๑๙๘๓-๑๙๙๓ จากเวทีประกวดร้องเพลงสยามกลการในยุคสมัยนั้น ที่คนไทยต่างเฝ้ารอคอยติดตามชมการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ทั่วประเทศ สร้างปรากฏการณ์ของการประกวดร้องเพลงที่มีมาตรฐานสูงสุด และเป็นที่ยอมรับทั่วไป โดยวงยามาฮ่าซาวด์ มีผลงานด้านดนตรียอดยเยี่ยม เช่น ตัวแทนประเทศไทยแสดงดนตรีแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกลุ่มประเทศอาเซียน, งานประกวดมิสยูนิเวิร์ส, งานสารานุกรมไทย ที่มีโอกาสแสดงต่อหน้าพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นอัครศิลปินระดับโลก (๕ ตุลาคม ๒๕๐๗ สถาบันการดนตรีและศิลปะแห่งกรุงเวียนนา (The Institute of Music and Arts of the City of Vienna) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาและสมาชิกกิตติมศักดิ์หมายเลขที่ ๒๑ และจารึกพระนามาภิไธยของพระองค์ลงบนแผ่นหินสลักของสถาบัน ทรงเป็นชาวเอเชียพระองค์แรกที่ทรงได้รับการถวายพระเกียรตินี้)
• อาจารย์ยงยศ แสงไพบูลย์ Assistance Music Director สถาบันดนตรียามฮ่า (สยามกลการ)นักวิชาการด้านดนตรี ที่จะโชว์ลีลาการบรรเลง Electone Ensemble ร่วมกับคณะครูและนักเรียนโรงเรียนดนตรียามาฮ่า ในบทเพลงพระราชนิพนธ์เพลง "ลมหนาว" โดยเพลงพระราชนิพนธ์จะหาฟังที่ไหนก็ได้แต่เพลง "ลมหนาว" ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นพิเศษที่ตั้งใจแสดงในงานนี้ หาฟังที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว เพราะเรามีอะไรที่คนอื่นไม่มีเช่นอิเล็คโทน บรรเลงพร้อมกันที่เดียวหลายเครื่อง หรือกีตาร์คลาสสิกหลายตัว และเปียโนแสดงพร้อมกันถึง ๗ หลัง นับว่าเป็นความมหัศจรรย์ทางดนตรีที่ยิ่งใหญ่อีกครั้งในเมืองไทย
ความสำเร็จของ "นบพระภูมิบาล บุญดิเรกเจ้าจอมไทย" เมล็ดพันธุ์ดนตรีจากต้นไม้ของพ่อ ครั้งนี้ แสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาคนไทยทั้งประเทศและทั่วโลก อีกทั้ง ยังโชว์ศักยภาพของนักรียนโรงเรียนดนตรียามาฮ่า และบุคลากรที่อยู่ใน วงการดนตรีระดับแนวหน้าของเมืองไทย นำไปเป็นต้นแบบอย่างที่ดี เพื่อพัฒนาเมล็ดพันธุ์ดนตรีที่ยิ่งใหญ่ต่อไป