กรุงเทพฯ--29 พ.ย.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
โรคอ้วนหรือภาวะน้ำหนักเกิน เป็นปัญหาที่พบเห็นกันมากในปัจจุบัน สาเหตุหลักมาจากการบริโภคที่มากเกินไป และในอาหารแต่ละชนิดก็มีปริมาณแคลอรีที่ต่างกัน หากไม่สามารถควบคุมปริมาณแคลอรี่ให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมได้หรือเผาผลาญไม่หมดก็จะก่อให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนได้ในที่สุด แต่หากเราสามารถควบคุมแคลอรี่ให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมก็จะส่งผลดีต่อการลดน้ำหนักได้ จากเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการคิดค้นและพัฒนาแออพลิเคชั่นที่ชื่อว่า " O-Bese-Gone ลดน้ำหนัก ลดโรคด้วยนาฬิกาและแอพพิลเคชั่นเพื่อสุขภาพ" ผลงานของสามสาวนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ (SIT) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ประกอบด้วย น.ส.ณัฏฐิกา ศรีเกียรติวงศ์ , น.ส.ธัญลักษณ์ ก้างออนตา และน.ส.ณัฐวรรณ ภูพานใหญ่ มี ผศ.ดร.พรชัย มงคลนาม และ ดร.วรรัตน์ กระทู้ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
น.ส.ณัฏฐิกา ศรีเกียรติวงศ์ กล่าวว่า แนวคิดคือต้องการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อการลดน้ำหนักและการดูแลสุขภาพสำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักหรือผู้ที่มีความใส่ใจในการดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ โดยแอพฯนี้ ประกอบด้วย อุปกรณ์ 2 ส่วน คือ นาฬิกาอัจฉริยะ(smartwatch)และโทรศัพท์มือถือระบบandroid (smartphone) ชื่อว่า "O-Bese-Gone ลดน้ำหนัก ลดโรคด้วยนาฬิกาและแอพพิลเคชั่นเพื่อสุขภาพ" ซึ่งจะเป็นอุปกรณ์ในการช่วยในด้านการลดน้ำหนักด้วยการควบคุมอาหารอย่างถูกวิธีตลอดจนการแนะนำกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมร่วมไปถึงการดูแลสุขภาพในด้านอื่นๆอีกด้วย จุดเด่นคือ ระบบจะทำงานด้วยคำสั่งเสียงในการบันทึกข้อมูลแทนการบันทึกด้วยมือ ซึ่งเราได้ออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานและยังเหมาะสมในการใช้งานได้ในทุกที่ทุกเวลา
"เหตุผลที่เราใช้นาฬิการ่วมด้วยเพราะบางทีมือถือก็ไม่สะดวกที่จะพกพาไปได้ด้วยทุกที่แต่นาฬิกาถูกออกแบบให้ติดข้อมือไปได้ทุกที เราจึงได้ติดตั้งตัวรับคำสั่งเสียงลงไปในตัวนาฬิกาเพื่อให้สามารถบันทึกเสียงได้ ซึ่งเป็นการบันทึกอาหารที่เรารับประทานในแต่ละมื้อแต่ละวันว่าเราทานไปเท่าไหร่ และยังใช้ในการนับก้าวเดิน ซึ่งก็ไปแสดงผลเป็นตัวเลขและส่งข้อมูลไปยังที่มือถือแบบอัตโนมัติได้ นอกจากนี้แอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือยังมีฟังก์ชั่นอีกมากมายสำหรับการดูแลสุขภาพโดยเฉพาะที่ได้รวบรวมไว้มาอยู่ในมือถือเครื่องเดียว"
สำหรับการใช้งาน O-Bese-Gone ลดน้ำหนัก ลดโรคด้วยนาฬิกาและแอพพิลเคชั่นเพื่อสุขภาพนั้น ผู้ใช้งานสามารถสวมใส่นาฬิกาและพูดชื่ออาหารที่รับประทานลงในแอพฯด้วยคำสั่งเสียงบนนาฬิกา หลังจากนั้นชื่ออาหารเหล่านั้นก็จะปรากฏบนโสมาร์ทโฟนพร้อมกับจำนวนแคลอรี่ของอาหารชนิดนั้น และยังแสดงผลรวมของจำนวนแคลอรี่ที่ผู้ใช้งานที่ได้รับประทานในแต่ละวันอีกด้วย รวมถึงยังสามารถตรวจนับจำนวนก้าวเดินที่ผู้ใช้งานเดินในแต่ละวันได้อีกด้วย แต่ทั้งนี้แอพฯเป็นเพียงอุปกรณ์หรือตัวช่วยที่จะทำให้เห็นภาพตัวเลขของปริมาณแคลอรี่ที่เรารับประทานอาหารในแต่ละวันได้ชัดเจนขึ้นเพื่อเตือนให้เราควรจะเผาผลาญพลังงานส่วนเกินอย่างไรที่จะเหมาะสมเท่านั้น จะได้ผลหรือไม่นั้นต้องขึ้นอยู่กับการกระทำและวินัยเป็นหลักเพราะเรื่องนี้ไม่สามารถพึ่งอุปกรณ์เพียงอย่างเดียว
อย่างไรก็ตาม แม้แอพพลิเคชั่นนี้ จะยังไม่ได้เปิดให้ใช้ทั่วไปเพราะเป็นผลงานต้นแบบสำหรับโปรเจคจบของน้องๆ กลุ่มนี้ แต่ผลงานชิ้นนี้สามารถคว้ารางวัลจากเวทีการประกวดระดับชาติมาได้ถึง 2 เวที คือ รางวัลชนะเลิศ สาขานวัตกรรมกิจกรรมทางกายและกีฬาเพื่อสุขภาพ จากโครงการประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 16 จัดโดยสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ได้รับเงินรางวัล 50,000บาท พร้อมถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์และยังได้ไปดูงานต่างประเทศที่งาน Taiwan International Science Fair 2017 (TISF 2017) ระหว่างวันที่ 5-11 กุมภาพันธ์2560
และล่าสุดยังได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ในหมวด Tertiary Student จากโครงการประกวดผลงานด้านซอฟต์แวร์แห่งชาติประจำปี 2016 หรือThailand ICT Awards (TICTA) 2016 จัดโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย ซึ่งจะมีการนำผลงานทีมชนะเลิศและรองชนะเลิศไปร่วมประกวดระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ APICTA Awards 2016 ที่กรุงไทเป ไต้หวัน ซึ่งเป็นเวทีประกวดซอฟต์แวร์ที่ใหญ่ที่สุดในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ระหว่างวันที่ 2-5 ธันวาคม 2559