กรุงเทพฯ--29 พ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
· กสอ. จัดโครงการ "เครือข่ายกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ช่วยชาวนาซื้อข้าว"ช่วยเกษตรกรขายข้าวกว่า 500 ตัน
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เร่งนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอย่างยั่งยืนจัดตั้งโครงการ "เครือข่ายกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ช่วยชาวนาซื้อข้าว" โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือ และบรรเทาสถานการณ์ที่ราคาข้าวตกต่ำ นำร่องให้สมาชิกเครือข่ายผู้ประกอบการ บริการสั่งซื้อข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา100% จากเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งสหกรณ์ ฯ มีโรงสีเอง ที่มีกระบวนการและกรรมวิธีในการแปรรูปตามระบบมาตรฐานสากลแบบครบวงจรให้แก่เกษตรกรสมาชิกของสหกรณ์ พร้อมเป็นสื่อกลางในการขายให้แก่ประชาชนทั่วไปผ่าน Market Place และตามด้วยช่องทางออนไลน์ อีกทั้งยังร่วมมือกับเครือข่ายผู้ประกอบการขนาดใหญ่จากโครงการต่าง ๆ ของ กสอ.จัดจำหน่ายให้กับพนักงาน และชุมชนโดยรอบสถานประกอบการ ซึ่งในเบื้องต้นตั้งเป้ากระจายข้าวสารในโครงการดังกล่าว รวมทั้งสิ้นประมาณ 500 ตันข้าวสาร
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนาผู้ประกอบการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร.0 2202 4579 หรือ เข้าไปที่ www.dip.go.th
ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากสถานการณ์ราคาข้าวตกต่ำที่กำลังเกิดขึ้น ทั่วโลกทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์นี้ และยังส่งผลถึงเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขาดทุนจากการประกอบอาชีพและได้รับความยากลำบากกันเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้รัฐบาลและ กระทรวงอุตสาหกรรม จึงมีนโยบายที่ต้องการช่วยเหลือชาวนา และรักษาเสถียรภาพราคาข้าวประจำปีการผลิต 2559/60 โดย กสอ. เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ร่วมให้การสนับสนุนในการช่วยเหลือ และนโยบายเร่งด่วนดังกล่าว จึงได้จัดทำโครงการ "เครือข่ายกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ช่วยชาวนาซื้อข้าว" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการทำCSR ร่วมกับเครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จากโครงการต่าง ๆ ของ กสอ. โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาสถานการณ์ที่ราคาข้าวกำลังตกต่ำ และกระตุ้นการบริโภคข้าวให้เพิ่มขึ้น รวมทั้งช่วยซื้อข้าวจากชาวนาในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งจากการจัดทำโครงการนี้เชื่อว่าจะเป็นหนึ่งในการสนับสนุนนโยบาย "อุตสาหกรรมรวมใจช่วยชาวนาไทยขายข้าว" ของกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะทำให้ราคาข้าวปรับตัวสูงและช่วยให้สถานการณ์ที่ได้รับผลกระทบต่าง ๆ ดีขึ้นต่อไปได้ตามลำดับ
ดร.พสุ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับรายละเอียดของโครงการ "เครือข่ายกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมช่วยชาวนา ซื้อข้าว" กสอ. ได้ประสานงานสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด มีสมาชิกเป็นชาวนา 9,000 ครอบครัว มีโรงสีข้าวเองที่มีกระบวนการ และกรรมวิธีในการแปรรูปตามระบบมาตรฐานสากลแบบครบวงจรให้แก่เกษตรกร ที่เป็นสมาชิกในพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด โดยซื้อข้าวจากสมาชิกในราคาที่สูงกว่านำมาสีขาย ซึ่งข้าวที่จะนำมาสีนั้น เป็นข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา สีเป็นข้าวสาร 100 % โดยแบ่งบรรจุถุงละ 5 กิโลกรัม จัดจำหน่าย ในราคากิโลกรัมละ 31 บาท จากนั้น กสอ. จะเป็นสื่อกลางในการมาขายให้แก่ประชาชนทั่วไป ผ่าน Market Place และตามด้วยช่องทางออนไลน์ ตลอดจนร่วมมือกับเครือข่ายผู้ประกอบการขนาดใหญ่ จากโครงการต่าง ๆ ของ กสอ. อาทิ เครือข่าย DIP SMEs NETWORK โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน (MDICP) โครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.) เป็นต้นเพื่อนำไปจำหน่ายให้กับพนักงานและชุมชนโดยรอบสถานประกอบการ
อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าวนี้จะใช้ระยะเวลาในการดำเนินงานตั้งแต่ เดือนพฤศจิกายน 2559 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2560 เบื้องต้นได้ตั้งทีมบริหารโครงการ และคณะทำงาน 2 ชุด และเตรียมความพร้อมผู้ที่จะจัดหาข้าวจากชาวนาดำเนินการผลิตข้าวสารไว้แล้ว โดยจะเริ่มจัดส่งข้าวสารถึงผู้บริโภคงวดแรกใน เดือนธันวาคม 2559 และจัดส่งงวดต่อ ๆ ไป ในทุก ๆ เดือน จนกว่าจะครบตามจำนวนที่ระบุไว้ของโครงการ ทั้งนี้ ได้วางเป้าหมายปริมาณการสั่งซื้อเบื้องต้นรวมทั้งสิ้นประมาณ 500 ตันข้าวสาร ซึ่งคาดว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นหนึ่งในโครงการช่วยเหลือที่จะเป็นช่องทางในการกระจายข้าว เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาชาวนาได้อย่างยั่งยืน ดร.พสุ กล่าวปิดท้าย
ด้าน ดร.เกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด กล่าวว่า อำพลฟูดส์ ในนามตัวแทนของภาคอุตสาหกรรมที่ใช้ข้าวสารเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าและใช้เป็นสวัสดิการพนักงานพร้อมสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำ อีกทั้งยังพร้อมที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวนาไทย ด้วยการเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์และรณรงค์เชิญชวนให้บุคลากร ของอำพลฟูดส์ รวมถึงพนักงานของโรงงานเครือข่ายกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้ช่วยกันอุดหนุนซื้อข้าวสารจากกลุ่มเกษตรกรเพื่อนำไปบริโภค โดยอำพลฟูดส์และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะมีการรวบรวมปริมาณความต้องการการซื้อข้าวสาร แล้วประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการจัดหาข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา ข้าวหอมมะลิสุพรรณ ข้าวหอมปทุม ข้าวไรเบอรี่ ซึ่งเป็นข้าวสารคุณภาพดี 100 % จากกลุ่มชาวนา สหกรณ์การเกษตร โรงสีข้าวชุมชนโรงสีข้าวสหกรณ์การเกษตร จัดส่งมอบให้แก่ผู้ที่มีความต้องการซื้อต่อไป ซึ่งได้เริ่มประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไปบ้างแล้ว และเบื้องต้นมีผู้สั่งซื้อข้าวสารมาแล้วประมาณ 50 ตัน
ทั้งนี้ ดร.เกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด ผู้แทนของภาคเอกชน โรงงานอุตสาหกรรม จะร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสั่งซื้อข้าวสารหอมมะลิ ร่วมกับนางบุญเกิด ภานนท์ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด ผู้แทนจากภาคเกษตรกร โดยมี ดร. พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้แทนจากภาครัฐ ร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ในครั้งนี้ถือเป็นการนำร่องและกระตุ้นให้สมาชิกเครือข่ายผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ช่วยรับซื้อข้าวสารจากเกษตรกรโดยตรงส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดย บริษัท อำพลฟูดส์ จะเริ่มสั่งซื้อข้าวสารหอมมะลิกับสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ 1 ธันวาคม.2559 จนถึง 31 พฤษภาคม 2560 หรือจนกว่าจะครบตามจำนวนที่ระบุไว้บันทึกข้อตกลงฯ
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนาผู้ประกอบการ
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร.0 2202 4579 หรือ เข้าไปที่www.dip.go.th