ปภ.เตือนอันตรายจากการนอนหลับในรถที่สตาร์ทเครื่องยนต์

ข่าวทั่วไป Tuesday November 29, 2016 14:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 พ.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เตือนอันตรายจากการนอนหลับในรถที่สตาร์ทเครื่องยนต์ ทำให้ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้ามาในห้องโดยสาร เมื่อสูดดมเข้าสู่ร่างกาย ในปริมาณมาก อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากจำเป็นต้องนอนในรถ ควรหาที่จอดรถพักในบริเวณที่ปลอดภัย ไม่จอดรถในบริเวณที่ไม่มีอากาศถ่ายเท ดับเครื่องยนต์และปิดเครื่องปรับอากาศ เปิดพัดลมแอร์แทนเครื่องปรับอากาศ ลดกระจกลงทั้ง 4 ด้าน หรือด้านใดด้านหนึ่งลงเล็กน้อยประมาณ 2 – 3 นิ้ว ไม่นอนหลับในรถเป็นเวลานานเกินไป ควรพักหลับประมาณ 30 – 40 นาที จะช่วยคลายความอ่อนล้าและลดความเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า บ่อยครั้งที่ผู้ขับขี่มักจอดรถพัก และนอนหลับในรถที่สตาร์ทเครื่องยนต์ ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะผู้ขับขี่เรียนรู้อันตรายจากการนอนหลับในรถที่สตาร์ทเครื่องยนต์และ ข้อควรปฏิบัติเมื่อจำเป็นต้องนอนในรถ ดังนี้ อันตรายจากการนอนหลับในรถที่สตาร์ทเครื่องยนต์ระบบเครื่องปรับอากาศ ในรถยนต์จะดูดควันจากท่อไอเสียรถยนต์ ที่เป็นเป็นก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้ามาหมุนเวียน เมื่อสูดดมเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากเป็นระยะเวลานาน จะเป็นอันตรายต่อร่างกาย ทำให้มีอาการปวดศีรษะ เซื่องซึม และมึนงง หายใจติดขัด หมดสติและไม่รู้สึกตัว หัวใจเต้นแรงผิดปกติ เพราะฮีโมโกบินในเลือดลดลง ระบบประสาทส่วนกลางได้รับผลกระทบ หมดสติและอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ข้อควรปฏิบัติเมื่อจำเป็นต้องนอนในรถหาที่จอดรถพักในบริเวณที่ปลอดภัย อาทิ สถานีบริการน้ำมัน จุดพักรถริมทาง ป้อมตำรวจทางหลวง หรือบริเวณที่มีแสงไฟส่องสว่าง ไม่จอดรถในบริเวณที่ไม่มีอากาศถ่ายเท อาทิ ลานจอดรถชั้นใต้ดิน เพราะอากาศไม่ไหลเวียน ทำให้ร่างกายสูดดมควันจากท่อไอเสียเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมาก ดับเครื่องยนต์และปิดเครื่องปรับอากาศ เพื่อป้องกันเครื่องปรับอากาศดูดควันจากท่อไอเสียเข้ามาหมุนเวียนในห้องโดยสารทางช่องแอร์หรือขอบยางรอยต่อกระจก ทำให้เกิดอันตรายได้ เปิดพัดลมแอร์แทนเครื่องปรับอากาศ จะช่วยดูดอากาศ จากภายนอกเข้ามาหมุนเวียนในห้องโดยสาร ลดกระจกลงทั้ง 4 ด้าน หรือด้านใดด้านหนึ่งลงเล็กน้อยประมาณ 2 – 3 นิ้ว เพื่อระบายอากาศ และให้อากาศในรถหมุนเวียนได้สะดวกขึ้น ไม่นอนหลับในรถเป็นเวลานานเกินไป ควรพักหลับประมาณ 30 – 40 นาที จะช่วยคลายความอ่อนล้า ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัย ผู้ขับขี่ควรหลีกเลี่ยงการนอนหลับในรถที่สตาร์ทเครื่องยนต์และเปิดแอร์ทิ้งไว้ หากจำเป็นควรปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้น จะช่วยลดความเสี่ยงต่ออันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ