AIT ชี้สร้างแบบจำลองและการจำลองสถานการณ์มีความจำเป็น : ลดผลกระทบก่อนเกิดเหตุการณ์จริง

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday January 19, 2005 11:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--วช.
รองศาสตราจารย์ ดร.วรทัศน์ ขจิตวิชยานุกูล จากภาควิชาวิศวกรรมระบบอุตสาหกรรม คณะเทคโนโลยีชั้นสูง สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (AIT) เปิดเผยถึงการจัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติด้านการออกแบบสร้างแบบจำลองและการจำลองสถานการณ์ ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มูลนิธิโครงการหลวงและเอไอทีว่าการจัดประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมในระดับนักวิชาการทั้งจากภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและเอกชน รวม 15 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วย ไทย แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา อิหร่าน อิยิปต์ มาเลเซีย เบลเยี่ยม สิงคโปร์ ลาว เกาหลี สเปน เวียดนามและญี่ปุ่น ซึ่งจะแบ่งหัวข้อการประชุมฯ ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มการสร้างแบบจำลองและการจำลองสถานการณ์ด้านอุตสาหกรรม กลุ่มการสร้างแบบจำลองและการจำลองสถานการณ์ด้านบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกลุ่มการสร้างแบบจำลองและการจำลองสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจการเงินโดยการใช้ระบบคอมพิวเตอร์จัดเก็บข้อมูลที่ได้จากการสร้างแบบจำลองและการจำลองสถานการณ์ขึ้นมาซึ่งทำให้ประเมินผลกระทบต่าง ๆ และสามารถนำข้อมูลที่ได้เป็นพื้นฐานในการตัดสินใจ เช่น นำมาใช้งานทางด้านวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น การก่อสร้างสนามบิน เป็นต้น ด้านการบริหารจัดการ ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ การประยุกต์ใช้ในระบบฐานข้อมูลเพื่อช่วยตัดสินใจ ธรรมชาติวิทยา ป่าไม้ เกษตรกรรม เป็นต้น
ดังกรณีตัวอย่างจากคลื่นยักษ์สึนามิที่ถล่ม 6 จังหวัดภาคใต้เมื่อประมาณปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา หากว่าเราสามารถจำลองและจำลองสถานการณ์แบบคลื่นยักษ์ ความสูงของคลื่นก่อนก็ทำให้สามารถวางแผน อพยพผู้คนออกจากพื้นที่ได้โดยต้องมีการวางแผนอพยพคนไปไว้ ณ จุดใดจุดหนึ่งที่จะไม่ให้เกิดความเสียหายด้วย อย่างไรก็ตาม ต้องขึ้นอยู่กับหน่วยงานของรัฐในการเตือนภัยหรือรับมือกับสถานการณ์นั้น ๆ ด้วย โดยอาศัยการสร้างแบบจำลองและการจำลองสถานการณ์ก็จะลดผลกระทบลงไปได้ค่อนข้างมาก ซึ่งข้อมูลที่ได้จะทำเป็นระบบคอมพิวเตอร์ โดยความแม่นยำจะมีมากน้อยเพียงใดต้องขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ได้และเวลาในการคำนวณ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เทคโนโลยีเกี่ยวกับการสร้างแบบจำลองและการจำลองสถานการณ์เปลี่ยนไปมากจึงต้องมีการศึกษาค้นคว้าเพื่อให้ทันกับเทคโนโลยี โดยในส่วนของประเทศไทยการสร้างแบบจำลองและการจำลองสถานการณ์มีการใช้งานอยู่ในวงการจำกัดจึงมีความจำเป็นที่จะส่งเสริม สนับสนุน กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาด้านการจำลองแบบฯ ซึ่งผลการประชุมในระดับสหวิชาการนี้จะเป็นช่องทางให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เสนอผลงาน พบปะแลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกัน และสร้างเป็นเครือข่ายในระหว่างภูมิภาค--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ