กรุงเทพฯ--29 พ.ย.--กรมสุขภาพจิต
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิต เห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริม ป้องกัน ช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาด้านสุขภาพจิตและจิตเวชเด็กและวัยรุ่นมาอย่างต่อเนื่อง และตระหนักว่า หากปัญหาดังกล่าวไม่ได้รับการดูแลแก้ไขและเอาใจใส่จากบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะทางอย่างจริงจัง จะกลายเป็นปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้นและอาจขยายตัวกลายเป็นปัญหาระดับชาติที่จะส่งผลกระทบถึงการพัฒนาประเทศในอนาคต การพัฒนาบุคลากรเฉพาะทางจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะพยาบาลซึ่งเป็นวิชาชีพหนึ่งของบุคลากรทางสุขภาพที่มีโอกาสเข้าถึงและให้การดูแลกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ ซึ่งเป็นกำลังหลักสำคัญในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตและจิตเวชในเด็กและวัยรุ่นในพื้นที่รับผิดชอบให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นได้
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า กรมสุขภาพจิตจึงสนับสนุนให้สถาบันราชานุกูล เป็นสถาบันหลักในการจัดอบรมหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางสาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวชเด็กและวัยรุ่น (PG) ร่วมกับสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ รพ.ยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ และ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 15 รุ่น โดยมีผู้ผ่านการอบรมแล้วทั้งสิ้น 573 คน จาก 352 หน่วยงาน ใน 13เขตบริการสุขภาพ ทั้งจาก หน่วยงานสังกัดกรมสุขภาพจิต โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) โรงพยาบาลในเขต กทม. วิทยาลัยพยาบาล โรงพยาบาลเอกชน หน่วยงานเอกชน และศาลจังหวัด เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ในการดำเนินงานเชิงรุกดูแลสุขภาพจิตและจิตเวชให้กับเด็กและวัยรุ่นไทยทั่วประเทศ ด้วยการเพิ่มศักยภาพให้กับพยาบาลในการปฏิบัติงานด้านการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวชเด็กและวัยรุ่นที่มีปัญหาซับซ้อน สามารถใช้ศาสตร์ทางการพยาบาลและศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการพยาบาลแบบองค์รวม ส่งเสริม ป้องกัน บำบัด ฟื้นฟูสุขภาพจิตและจิตเวชให้กับเด็กและวัยรุ่น ครอบครัวและชุมชนได้ ซึ่งเป็นการช่วยเสริมความมั่นใจให้กับผู้ปฏิบัติงานในการช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชเด็กได้มากยิ่งขึ้น ปัจจุบัน เห็นได้ชัดเจนจากการที่หน่วยบริการสาธารณสุขมีการคัดกรองพัฒนาการ มีคลินิกกระตุ้นพัฒนาการ และคลินิกเกี่ยวกับจิตเวชเด็ก เป็นต้น
หลักสูตรการอบรม ประกอบด้วย ภาคทฤษฎี 4 รายวิชา ได้แก่ ระบบสุขภาพและการจัดการ การประเมินภาวะสุขภาพจิตและจิตเวชเด็กและวัยรุ่นขั้นสูง การพยาบาลสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น การพยาบาลจิตเวชเด็กและวัยรุ่น และภาคปฏิบัติ จำนวน 2 รายวิชา ได้แก่ ปฏิบัติการพยาบาลสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น และปฏิบัติการพยาบาลจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ระยะเวลาในการอบรม ประมาณ 4 เดือน โดยมีพยาบาลวิชาชีพจากโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานเอกชนเข้าร่วมการอบรม ทั้งนี้ จากการประเมินความพึงพอใจผู้เข้ารับการอบรม พบว่า ทุกคนมีความพึงพอใจต่อหลักสูตร และ ร้อยละ 92 มีความมั่นใจต่อการนำความรู้ไประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว