สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมชี้แจงมาตรฐานสภาพเครื่องยนต์

ข่าวทั่วไป Monday September 11, 2000 12:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--สมอ.
"สมอ." ชี้ผู้ผลิตรถยนต์พร้อมรับยูโร 2 เผยตรวจสภาพเครื่องยนต์ปิกอัพผ่านแล้วเกือบทุกยี่ห้อ เตรียมประกาศใช้ต้นเดือนธันวาฯแน่นอน ส่วนเครื่องเบนซินระดับ 6 ผ่านฉลุยเช่นกัน แต่ปัญหาอยู่ที่รถบรรทุกใหญ่ หลังผู้ประกอบการตบเท้าขอผ่อนผันเพียบ เหตุเพราะเครื่องยนต์เก่ายังขายไม่หมด คาดต้องใช้เวลาระบายสต็อกกว่า 1 ปี นายไพโรจน์ สัญญะเดชากุล รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ถึงการบังคับใช้มาตรฐานที่เกี่ยวกับสารมลพิษจากยานยนต์ (Emission Standard) ในส่วนของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินเฉพาะด้านความปลอดภัย : สารมลพิษจากเครื่องยนต์ระดับ 6 และรถยนต์ดีเซลขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลระดับ 5 ที่คาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ในต้นเดือนธันวาคมนี้ว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการมีความพร้อมแล้ว สำหรับการบังคับใช้มาตรฐานในระดับที่สูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ผลิตรถปิกอัพได้ทยอยนำเครื่องยนต์เข้ามาตรวจสอบคุณภาพเรียบร้อยแล้ว
"สำหรับรถปิกอัพนั้นเป็นการเริ่มบังคับใช้มาตรฐานยูโร 2 ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการทั้งหมดได้นำเครื่องยนต์เข้ามาตรวจสอบคุณภาพผ่านแล้วทุกราย ส่วนรถเก๋งนั้นเราได้เริ่มบังคับใช้ยูโร 2 มาตั้งแต่เดือนมกราคม 2543 ซึ่งการปรับมาตรฐานเป็นระดับ 6 เป็นการปรับเพิ่มจากเดิมเล็กน้อย และผู้ประกอบการก็ได้ทยอยนำเครื่องยนต์เข้ามาตรวจสอบคุณภาพแล้วเช่นกัน" นายไพโรจน์กล่าว
ในส่วนของการบังคับมาตรฐานสำหรับรถยนต์ขนาดใหญ่ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลเฉพาะด้านความปลอดภัย : สารมลพิษจากเครื่องยนต์ระดับ 3 (ยูโร 2) ซึ่งทาง สมอ.ได้เริ่มบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2543 นั้น ปรากฏว่าผู้ประกอบการได้ยื่นเรื่องขอผ่อนผันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากขณะนี้ผู้ประกอบการเกือบทุกราย มีสต็อกเครื่องยนต์เก่าที่เป็นยูโร 1 ค้างอยู่เป็นจำนวนมาก จึงได้ทำหนังสือมาขอผ่อนผัน ให้สามารถผลิตและจำหน่ายได้ต่อไปอีก 1 ปี ซึ่งมีการอนุมัติไปเรียบร้อยแล้ว
"ตามกฎหมายระบุไว้ว่า ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรฐานในระดับที่สูงขึ้น สามารถขอผ่อนผันได้เป็นเวลา 1 ปี ซึ่งผู้ผลิตรถบรรทุกขนาดใหญ่ทั้งหลาย ต่างก็ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ซบเซากันอย่างถ้วนหน้า โดยเฉพาะรถบรรทุกขนาด 10 ล้อ ที่มีสต็อกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ในส่วนของรถบรรทุก 6 ล้อ เริ่มขยับตัวดีขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบจึงคาดว่าน่าจะใช้เวลาในการผลิตและจำหน่ายรถในสต็อกอีกประมาณ 1 ปี อย่างไรก็ตามขณะนี้ได้มีผู้ผลิตรถบรรทุกใหญ่บางราย ได้นำรถรุ่นใหม่ที่ใช้เครื่องยนต์ยูโร 2 เข้ามาจำหน่ายในตลาดบ้างแล้ว" นายไพโรจน์กล่าว
สำหรับมาตรฐานมลพิษยูโร 3 ที่บังคับใช้ในทวีปยุโรปแล้วนั้น นายไพโรจน์กล่าวว่า มติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมกำหนดเอาไว้ว่า ประเทศไทยควรที่จะบังคับใช้มาตรฐานไอเสียตามมาตรฐานของทวีปยุโรป 2 ปี ซึ่งในขณะนี้ทาง สมอ.ได้เริ่มศึกษาถึงมาตรฐานยูโร 3 แล้ว แต่คงต้องใช้เวลาในการเตรียมตัวอีกพอสมควร เนื่องจากมาตรฐานใหม่นี้จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบต่างๆ จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือทดสอบ, น้ำมันที่ใช้จะต้องมีค่าออกเทนสูงขึ้น หรือแม้กระทั่งเครื่องมือควบคุมการทำงานในรถยนต์ที่สามารถวินิจฉัยสภาพของรถยนต์ได้ด้วยคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
"พูดง่ายๆ ก็คือ อู่บริการจะต้องเพิ่มเครื่องมือคอมพิวเตอร์สำหรับตรวจสอบสภาพรถยนต์ด้วย นอกจากนั้นยังต้องดูเรื่องการตรวจสอบสภาพหลังการใช้งานไปแล้วระยะหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดจะต้องใช้เงินลงทุนพอสมควร ส่วนจะเริ่มดำเนินการได้เมื่อไรนั้น ต้องถามผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด สำหรับ สมอ.เอง ก็ต้องลงทุนในเรื่องเครื่องมือตรวจสอบไอระเหยที่ออกจากตัวรถ ที่คาดว่าต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท"
นายไพโรจน์ยังกล่าวต่อไปว่า ปัญหามลพิษในประเทศไทยนั้น เกิดจากไอเสียรถยนต์ประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ แต่เราสามารถควบคุมได้เพียงส่วนของรถยนต์ใหม่เท่านั้น สำหรับรถยนต์เก่าคงจะไปควบคุมได้ยาก อีกทั้งอัตราส่วนรถยนต์เก่าก็มีจำนวนสูงกว่ารถยนต์ใหม่ค่อนข้างมาก ปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากการใช้รถที่มีอายุมากพอสมควร ซึ่งอาจแก้ปัญหาได้ด้วยการดูแลรักษารถยนต์เก่าเหล่านี้ให้มีสภาพที่ดี ทางรัฐบาลเองก็มีข้อกำหนดให้ตรวจสภาพรถยนต์ประจำปีอยู่แล้ว และคิดว่ารถยนต์เหล่านี้ก็จะเริ่มทยอยหายในอนาคต--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ