กรุงเทพฯ--29 พ.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ติดตามปริมาณการใช้น้ำ (Water Footprint) จากการปลูกข้าวในพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ของข้าวพันธุ์ กข ระบุ ผลิตข้าวเปลือก 1 ไร่ ใช้น้ำ 1,075.08 ลูกบาศก์เมตร แนะ ต้องสร้างความรู้เทคโนโลยี เกษตรกรตระหนักการใช้น้ำ และเลือกพันธุ์อย่างเหมาะสม
นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการศึกษาปริมาณการใช้น้ำ (Water Footprint) จากการปลูกข้าวในพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ จังหวัดลพบุรี โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 จังหวัดชัยนาท (สศท.7) ซึ่งการศึกษาดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำบัญชีรายการการใช้น้ำ ศึกษาปริมาณการใช้น้ำ ประเมินมูลค่าน้ำทางเศรษฐกิจและเปรียบเทียบผลตอบแทนทางเศรษฐกิจจากการผลิตของข้าวในพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ จังหวัดลพบุรี โดยรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์เกษตรกรผู้ปลูกข้าวพันธุ์ กข โดยวิธีหว่านน้ำตม ปีเพาะปลูก 2558/59 ที่เป็นสมาชิกในพื้นที่โครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ตำบลสนามแจง อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี จำนวน 51 ราย
ผลการศึกษาพบว่า ปริมาณการใช้น้ำ (Water Footprint) ของข้าวพันธุ์ กข ในพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบ แปลงใหญ่ อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี สำหรับการผลิตข้าวเปลือก 1 ไร่ ใช้น้ำ 1,075.08 ลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็นปริมาณน้ำฝน (Green Water Footprint) 493.90 ลูกบาศก์เมตร น้ำชลประทาน (Blue Water Footprint) 581.18 ลูกบาศก์เมตร ต้นทุนการผลิตข้าวเฉลี่ย 4,104.34 บาท/ไร่ ผลตอบแทนสุทธิต่อไร่ 1,935.93 บาท ต้นทุนการผลิตข้าวเมื่อรวมต้นทุนค่าน้ำเฉลี่ย 4,394.93 บาท/ไร่ ผลตอบแทนสุทธิต่อไร่ 1,645.34 บาท โดยปริมาณน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร สามารถสร้างรายได้จากการปลูกข้าว 5.62 บาท
ทั้งนี้ เพื่อการใช้ทรัพยากรน้ำให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาครัฐควรกำหนดมาตรการด้านการเกษตร นอกจากการสนับสนุนความรู้ และปัจจัยการผลิตแล้ว ควรพิจารณาจัดหาแหล่งน้ำให้เกษตรกรควบคู่ไปด้วย และสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญของการใช้น้ำ และเกษตรกรควรเลือกพันธุ์ให้เหมาะสม นำเทคโนโลยี หรือแนวคิดใหม่ๆ มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ซึ่งผลการศึกษาวิจัยดังกล่าว จะเป็นข้อมูลนำไปจัดทำแนวทางบริหารจัดการน้ำและส่งเสริมการปลูกพืช นำไปสู่การใช้ทรัพยากรการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายและการหาแนวทางมาตรการจูงใจการปลูกพืชได้ต่อไป ท่านที่สนใจผลการศึกษา สามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 จังหวัดชัยนาท โทร. 056 405 007อีเมลzone7@oae.go.th