กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดงานสัมมนา "F.T.I. Outlook 2017" ภายใต้หัวข้อ "อุตสาหกรรม 4.0 จุดเปลี่ยนประเทศไทย" โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ มากล่าวปาฐกถาพิเศษ พร้อมเชิญกูรูจากภาครัฐ – เอกชน ดร.สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม คุณศุภชัย เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ และกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และดร.ขัติยา ไกรกาญจน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสถาบันวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม มาร่วมพูดคุยในประเด็น "อุตสาหกรรมไทยในยุค Industry 4.0" ณ ห้องเพลนนารี่ ฮอล์ล ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สำหรับการจัดงานสัมมนา F.T.I. Outlook 2017 "อุตสาหกรรม 4.0 จุดเปลี่ยนประเทศไทย" จัดขึ้นเพื่อให้ผู้ประกอบการ และผู้สนใจทั่วไปได้รับทราบถึงแนวโน้ม และทิศทางของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย ในปี 2560 ตลอดจนการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ "อุตสาหกรรมไทยในยุค 4.0" ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านสู่กระบวนการผลิตที่อาศัยพลังของเทคโนโลยีดิจิตัลและอินเทอร์เน็ตมาช่วยในการบริหารจัดการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรมไทยได้ ซึ่งยุทธศาสตร์สำคัญที่รัฐบาลพยายามผลักดันเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ "ประเทศไทย 4.0" นั้น ภาคอุตสาหกรรม ถือเป็นภาคส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของประเทศ และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้มีความสามารถในการแข่งขันที่มากขึ้น ดังนั้น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงให้ความสำคัญกับเรื่อง อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมยุคที่ 4 โดยการใช้ไอซีทีเข้ามาช่วยตลอดกระบวนการผลิตทั้งหมด ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านสู่กระบวนการผลิตที่อาศัยพลังของเทคโนโลยีดิจิตัลและอินเทอร์เน็ตมาช่วยในการบริหารจัดการ โดยเป็นการเชื่อมต่อที่เรียกว่า "The Internet of Things (IoT)" โดยจุดเด่นของ อุตสาหกรรม 4.0 คือ การผลิตที่เปลี่ยนจาก Mass Production เป็น Mass Customization นั่นก็คือ โรงงานในยุค 4.0 หรือ Smart Factory' จะมีกระบวนการผลิตที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพด้วยการใช้ระบบไซเบอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ครบวงจร ควบคุมในการสื่อสาร ทำให้เกิดการผลิตสินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีความแตกต่างกันในแต่ละรายในระยะเวลาอันสั้น เมื่อเทียบกับการผลิตในอุตสาหกรรม 3.0 ที่ผลิตสินค้าได้จำนวนมาก แต่สินค้าจะเป็นรูปแบบเดียวกัน ซึ่งกระบวนการผลิตของยุค 4.0 จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรมไทย เพราะเป็นระบบการผลิตที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า คือ ประหยัดเวลา, ใช้แรงงานน้อยลง และกระบวนการผลิตมีความแม่นยำน่าเชื่อถือ
"เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 ให้เดินไปข้างหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ 4 ข้อหลัก คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 (ทางด้าน Demand side): ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมให้เข้าถึงและสามารถใช้ระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ (Manufacturing Automation System) และเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเข้าสู่ Industry 4.0 ยุทธศาสตร์ที่ 2 (ทางด้าน Supply side): ส่งเสริมและพัฒนาการให้บริการอุตสาหกรรมทางด้านต่างๆ ให้ครอบคลุม โดยเฉพาะการส่งเสริมและพัฒนากำลังคนทักษะสูง (High skilled) ในภาคอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการเข้าสู่ Industry 4.0 ยุทธศาสตร์ที่ 3 (ทางด้าน Infrastructure): พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะทางด้านการส่งเสริมและพัฒนากำลังคนในระดับต่างๆ ให้มีทักษะฝีมือสูงขึ้น รวมทั้งการส่งเสริมทางด้านมาตรฐานต่างๆ (Standardization) อาทิ มาตรฐานฝีมือแรงงาน และมาตรฐานสำหรับ Technology และ Innovation เพื่อรองรับการเข้าสู่ Industry 4.0 ยุทธศาสตร์ที่ 4 (ทางด้าน Funding): ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่ Industry 4.0" นายเจน กล่าว
นายเจน ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ส.อ.ท. วางเป้าหมายในการยกระดับภาคอุตสาหกรรมเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ในปี 2025 โดยจะเริ่มต้นจากแผนการดำเนินงานเพื่อยกระดับจากอุตสาหกรรม 2.0 เป็นอุตสาหกรรม 3.0 ภายใน 5 ปี ผ่านการดำเนินงาน ดังนี้
ส.อ.ท. จะร่วมกับภาครัฐในการวางรูปแบบและการสนับสนุนการดำเนินโครงการนำร่องเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมจาก 2.0 ไปยัง 3.0 โดย ส.อ.ท. จะเป็นผู้ดำเนินโครงการนำร่อง โดยไม่จำกัดกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งนี้ ให้ขึ้นกับความสมัครใจของผู้ประกอบการที่มีความพร้อมในการเข้าร่วมโครงการนำร่อง
ดำเนินการทำ Feasibility Study จำนวน 30 บริษัท เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการยกระดับ โดยเกณฑ์ในการคัดเลือกเบื้องต้นสำหรับคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีความพร้อมในการเข้าร่วมโครงการนำร่อง จะพิจารณาจากปัจจัย ดังนี้ Local Content, Supply chain, High Value Added และความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ Thailand 4.0
คัดเลือก 10 บริษัทที่มีศักยภาพสูงสุดในโครงการนำร่อง หรือนำร่อง 5 ภูมิภาค โดยได้วางรูปแบบให้มีความร่วมมือกับทางสถาบันการศึกษา โดยแบ่งตามความเชี่ยวชาญของแต่ละสถาบันและตามสถานที่ตั้งของบริษัท
เมื่อบริษัทนำร่องดำเนินการ 70% ของโครงการ ต้องมีการขยายผลให้แก่ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ
ผลักดันให้ภาครัฐให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs อาทิ มาตรการยกเว้นภาษีชิ้นส่วนและอุปกรณ์ด้าน Automation, มาตรการยกเว้นภาษีรายได้ส่วนบุคคลสำหรับ TSP (Technology Service Provider), แหล่งสนับสนุนเงินลงทุน สำหรับ SMEs และการ Transfer Technology
ผลักดันให้ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ ส่งเสริมผู้ประกอบการ ขนาดย่อมและขนาดกลาง ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ยกระดับสู่ Industry 4.0
สถาบันวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม (สวน.) จะเป็นหน่วยงานหลักของ ส.อ.ท. ในการดำเนินโครงการนำร่อง เพื่อยกระดับอุตสาหกรรม 2.0 ไปยังอุตสาหกรรม 3.0 และสถาบันเทคโนโลยีและการสื่อสารเพื่ออุตสาหกรรม จะเป็นหน่วยงานหลักของ ส.อ.ท. ในการยกระดับจากอุตสาหกรรม 3.0 ไปยังอุตสาหกรรม 4.0 และการดำเนินงานจะเป็นลักษณะควบคู่กันไปไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งการพัฒนาทางบุคลากรเพื่อรองรับด้าน ICT และ System Integrator ซึ่งขณะนี้ สถาบัน ICTI มีหลักสูตรนำร่อง "พี่เลี้ยง STARTUP เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรม ด้วย ICT" และ หลักสูตร "การยกระดับกำลังคนด้านไอซีทีสู่ยุค Industry 4.0"
อย่างไรก็ตาม แผนการดำเนินงานข้างต้นจะสำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือในการขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมไทยก้าวสู่ อุตสาหกรรม 4.0 จากหลายฝ่าย อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ ในการบริการระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ด้าน Software บุคลากรด้าน ICT หรือ System Integrator กระทรวงวิทยาศาสตร์ ในป้อนผู้เชี่ยวชาญเข้าสู่ระบบ กระทรวงศึกษาธิการ ในด้านการสร้างบุคลากรเพื่อรองรับ อุตสาหกรรม 4.0 ไม่ว่าจะเป็นด้าน Automation ICT หรือ System Integrator กระทรวงแรงงาน มาช่วยดูแลในด้านการพัฒนาฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับ อุตสาหกรรม 4.0 รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ต้องอาศัยความร่วมมือในการออกมาตรการส่งเสริมการลงทุน หรือสิทธิประโยชน์อื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงของผู้ประกอบการทั้งระบบ
โดยขณะนี้ทางสภาอุตสาหกรรมฯ ได้มีความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมในการทำ Roadmap วิสัยทัศน์ และพันธกิจ ให้มีความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน มีเป้าหมายที่ชัดเจน เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อให้ตอบรับกับแผนพัฒนาอุตสาหกรรมใน 10 ปีข้างหน้าของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Industry 2025) ซึ่งจำเป็นต้องสร้าง Demand ให้เกิดในผู้ประกอบการภาคการผลิต ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีและศักยภาพด้าน Supply ที่เป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยี (Technology Support Provider) ภายในประเทศโดยจัดวางกลไกการพัฒนาออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.การส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการให้เข้าถึงระบบและสามารถใช้ได้ โดยเผยแพร่ข้อมูลความรู้ รวมถึงจัดอบรมแก่ผู้ประกอบการให้ตระหนักถึงความจำเป็นในการพัฒนากระบวนการผลิตของตนด้วยเทคโนโลยี Automation ICT และ Innovation รวมถึงพัฒนาและสร้างบุคคลากร ผู้ใช้และผู้ดูแลรักษาระบบโดยจัดทำหลักสูตร และจัดการอบรมหรือการเรียนการสอนทั้งนอกระบบการศึกษา และในระบบการศึกษา โดยส่งเสริมประชาสัมพันธ์ให้เยาวชนสนใจเข้าศึกษาในหลักสูตรที่สามารถจบแล้วเข้าทำงานในตำแหน่งที่เกี่ยวกับระบบนี้ได้โดยตรง มีการสนับสนุนเงินทุนแก่ SMEs ให้สามารถซื้อหรือเปลี่ยนเครื่องจักรเป็นระบบ Automation และ ICT ได้ในหลายรูปแบบ 2.การส่งเสริมพัฒนา System Integrator และผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยี ให้มีศักยภาพและมีจำนวนเพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการภาคการผลิต โดยสร้างบุคลากรให้มีความสามารถศักยภาพในการออกแบบสร้างระบบ Automation & Robotic, ICT รวมถึง System Integrator และมีจำนวนเพียงพอบริการต่อผู้ประกอบการ โดยจัดทำหลักสูตร และจัดอบรมหรือการเรียนการสอนแต่ให้ต่อยอดจากผู้ใช้, ผู้ดูแลรักษา ขึ้นมาเป็นผู้ออกแบบระบบและผู้สร้างเครื่องจักรระบบ Automation & Robotic สร้างแรงจูงใจให้เกิดบุคลากรอาชีพออกแบบสร้างเครื่องจักรระบบ Automation & Robotic, System Integrator และ ICT มีมาตรการรองรับด้านแรงงาน อาทิ ส่งเสริมให้แรงงานเกิดการพัฒนาให้สอดคล้องกับ Industry 4.0 เป็นต้น จัดให้ผู้มีความรู้ความสามารถและมีผลงาน ได้มีการขึ้นทะเบียนที่ปรึกษาไทยโดยยึดระเบียบตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการจดทะเบียนที่ปรึกษาไทย ให้ยกเว้นภาษีรายได้ส่วนบุคคล ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ของผู้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นที่ปรึกษาระดับ A เนื่องจากบุคลากรเหล่านี้เป็นผู้ช่วยให้เกิดรายได้ที่เป็นมูลค่าเพิ่มสูงและเป็นมูลค่าเพิ่มเชิงซ้อนแก่ภาคการผลิต มีผลต่อศักยภาพการส่งออก ให้ออกกฎระเบียบและจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมพฤติกรรม และจรรยาบรรณที่ปรึกษาที่ขึ้นทะเบียนให้รับผิดชอบต่อคำปรึกษาที่ให้หรือจัดทำให้ผู้ประกอบการหรือหน่วยงานที่ได้รับบริการ โดยต้องรับผิดชอบต่อความเสียหาย หรือสูญเปล่าที่เกิดจากการให้บริการ หากพิสูจน์ได้ว่า ผู้รับบริการกระทำตามที่ได้รับคำแนะนำจากที่ปรึกษา หรือพิสูจน์ได้ว่าคำแนะนำหรือบริการนั้นด้อยซึ่งคุณภาพ, ประสิทธิภาพ, เลินเล่อและหรือมีผลประโยชน์แอบแฝง รวมทั้งต้องทำให้ราคาเครื่องจักรระบบ Automation & Robotic มีราคาที่ถูกลง เทียบเท่ากับราคาในชาติอุตสาหกรรมการผลิต เช่น ประเทศจีน โดยศึกษาโครงสร้างภาษีทั้งระบบ ที่ทำให้ต้นทุนเครื่องจักรระบบ Automation Robotic สูงขึ้น ปรับปรุงแก้ไขกลไกรัฐที่เป็นอุปสรรค ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบสูงกว่าชาติอื่น ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต โดย Technology Transfer และ Reverse Engineering และเสนอให้ภาครัฐปรับเปลี่ยนสถาบันไทย-เยอรมัน (TGI) เป็นสถาบันเครื่องจักรกลอัตโนมัติในการผลิต (Manufacturing Automatic and Robotic Institute : MARI) และสนับสนุนงบประมาณในด้าน Automation และ Robotic
อย่างไรก็ตาม ในการจัดงานครั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมฯ โดย นายเจน นำชัยศิริ ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้มอบสมุดปกขาว เรื่อง "ยุทธศาสต์ และ Roadmap ของ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0)" ต่อ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเดินหน้าให้เกิดอุตสาหกรรม 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม