กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กว่า 70 ปี ที่ "พ่อหลวงของปวงชนชาวไทย" พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงงานอย่างหนักโดยมิได้หยุดพัก ก็เพื่อสร้างประโยชน์สุขแก่ประชาชนชาวไทยให้มีวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตลอดจนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มีหลักปรัชญาในการมุ่งสร้างสรรค์และดำเนินกิจกรรมอันเอื้อประโยชน์ต่อประชาชนและสังคมโดยรวมเป็นหลัก จึงมุ่งปลูกฝังจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ต่อบุคลากรและนักศึกษา ด้วยการยึดมั่นในความเป็นธรรม การมีจิตสาธารณะ และการมีความรับผิดชอบต่อสังคม ควบคู่ไปกับการสร้างบัณฑิตยุคใหม่ให้มีทักษะและคุณสมบัติผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21 อันสะท้อนผ่านผลิตผลทั้ง 5 ของธรรมศาสตร์ที่มีปณิธานแน่วแน่ในการเดินตามรอยเบื้อง
พระยุคลบาทของพ่อหลวง
นายอัครพล ศรีมงคล นักศึกษาชั้นปี 4 สาขาวิชาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ วิทยาลัยสหวิทยาการ มธ. ในฐานะอุปนายกฝ่ายกิจการภายนอก กล่าวถึงความรู้สึกที่มีต่อพ่อหลวงของปวงชนชาวไทยว่า รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เกิดบนแผ่นดินไทย และเป็นลูกหลานคนหนึ่งของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งที่ผ่านมา ได้น้อมนำพระราชบรมราโชวาทว่าด้วยเรื่องของการ "อย่าเป็นคนตรงต่อเวลา แต่ให้ไปก่อนเวลาจะดีกว่า" มาปรับใช้กับทุกเรื่องในชีวิต ซึ่งหลักการดังกล่าว นอกจากจะเป็นการพัฒนาตนเองไปในตัวในทุก ๆ วันแล้ว ยังช่วยให้ตนมีเวลาคิดไตร่ตรอง ทบทวนเหตุการณ์ต่าง ๆ และสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างทันท่วงที ประกอบกับหน้าที่ที่รับผิดชอบในตอนนี้ ที่จะต้องติดต่อประสานงานกับหลายหน่วยงาน ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ซึ่งการมาก่อนเวลาหรือการทำกิจกรรมใดใดให้เสร็จก่อนเวลาที่กำหนดนั้น จะเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราสามารถวางแผนการดำเนินงานอื่น ๆ ล่วงหน้า หรือส่งต่องานให้กับกลุ่มบุคคลอื่นดำเนินงานต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหากเกิดข้อผิดพลาดแม้เพียงเล็กน้อย ก็อาจกระทบหนักเป็นวงกว้างได้
นายธนภัทร์ สุวัฒนพรชัย นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาเทคโนโลยีการจัดการ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มธ. ในฐานะประธานชุมนุม Volunteer club SIIT กล่าวเสริมว่า จากการที่ได้เห็นพ่อหลวงทรงงานโดยไม่มีวันหยุดพักเป็นเวลากว่า 70 ปี ก็เพื่อให้ประชาชนของพระองค์ได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พัฒนาประเทศให้ดีขึ้น พระองค์ถือเป็นบุคคลต้นแบบของคนทั้งประเทศ รวมถึงตน ในแง่ของการเสียสละทำงานเพื่อส่วนรวม ซึ่งส่งผลต่อให้เป็นแรงบันดาลใจอันสำคัญยิ่งในการเลือกเข้ามาทำกิจกรรมค่ายอาสาฯ ซึ่งที่ผ่านมา ได้เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านและโรงเรียนในต่างจังหวัด ผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การส่งต่ออุปกรณ์การเรียน-เสื้อผ้าสภาพดีแก่น้อง ๆ ที่ขาดแคลน การซ่อมบำรุงและทาสีอาคารเรียน-โบสถ์ในชุมชนที่ทรุดโทรม ฯลฯ โดยในอนาคต หากตนยังมีแรง ก็ตั้งใจเดินหน้าทำกิจกรรมเหล่านี้ต่อไป เพื่อสานต่อแนวพระราชดำริของพระองค์ในการช่วยพัฒนาประเทศ อย่างไรก็ดี จากการที่ตนได้ศึกษาในสาขาเทคโนโลยีการจัดการ นับว่ามีส่วนช่วยให้การดำเนินงานค่ายอาสาฯ ในฐานะประธานชมรมนั้นง่ายขึ้น ช่วยให้สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างเข้าใจ และมีความคิดเป็นระบบระเบียบมากยิ่งขึ้น
นายกนกพล บุญเสริม นักศึกษาชั้นปี 4 สาขาวิชาบูรณาการทางด้านการบัญชีและการบริหาร คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. กล่าวว่า พ่อหลวง ทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนาที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก ทรงสรรค์สร้างวิทยาการและองค์ความรู้ใหม่ๆ อยู่ตลอดและสามารถนำมาปรับใช้ได้จริง โดยที่ผ่านมา ได้น้อมนำหลักปรัชญาที่ว่าด้วยเรื่องของ "เศรษฐกิจพอเพียง" มาปรับใช้ในทุกด้านของชีวิต เนื่องด้วยเป็นสิ่งที่สามารถเริ่มทำได้ง่ายจากตัวเรา ซึ่งจากการได้เรียนรู้ในรายวิชา พลเมืองกับความรับผิดชอบต่อสังคม (TU 100) วิชาเรียนที่มุ่งกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการคิดโครงงานบริการสังคม (Service Learning) ซึ่งล่าสุด ได้มีโอกาสไปถ่ายทอดความรู้ด้านการบริหารให้กับชุมชนเกาะกก จังหวัดระยอง พร้อมด้วยเทคนิคการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ในชุมชน ที่ประสบปัญหาผลผลิตข้าวไรซ์เบอร์รี่ล้นตลาด และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีอายุการใช้งานสั้น ผ่านการนำความรู้มาต่อยอดและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ขนมเพื่อสุขภาพอย่าง ขนมอบกรอบไรซ์ มี (Rice Me) ที่อุดมไปด้วยคุณประโยชน์ของข้าวไรซ์เบอร์รี่ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอย่าง ลูกประคบจากสมุนไพรอบแห้ง ผสมด้วยน้ำมันหอมระเหยช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อย ซึ่งส่งผลให้ชุมชนมีช่องทางการเกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้น และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม จากการที่ได้มีโอกาสเข้าไปถ่ายทอดความรู้ในครั้งนั้น ทำให้ตนมองว่า หากเรามองเห็นคุณค่าของตนเอง เห็นคุณค่าของทรัพยากรในชุมชน และนำผนวกรวมกับองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาในสิ่งใหม่และรายได้ ก็นับว่าเป็นการดำเนินตามรอยแนวพระราชดำริด้านเศรษฐกิจพอเพียงแล้วเช่นกัน
นางสาวสลิลรัตน์ ประสพฤกษ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากสาขาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาควิชาเทคโนโลยีชนบท คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวเสริมว่า จากการได้เห็นพระปรีชาสามารถ และได้ซึมซับพระราชกรณียกิจของพ่อหลวงในโครงการต่าง ๆ ที่ท่านมุ่งทำเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการพัฒนาพื้นที่ชนบท ทรงพลิกฟื้นผืนป่าที่เคยแห้งแล้ง ให้กลับมาชุ่มชื้นและอุดมสมบูรณ์ จากการนำวิทยาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้ ด้วยมุ่งหมายให้ประชาชนของท่านกลับมามีวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้งมีรายได้สามารถหาเลี้ยงตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งตนได้ยึดหลักปฏิบัติของพ่อหลวงในเรื่องของ "การรู้รักษาและรู้คุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ" มาโดยตลอด ซึ่งถือเป็นแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตและทำประโยชน์เพื่อสังคม ที่ส่งผลให้ตนมีความมุ่งมั่น และตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะเดินตามรอย พร้อมทั้งสานต่อปณิธานของพ่อหลวง ผ่านการนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนมาปรับใช้ โดยการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมไปพัฒนาชุมชน อาทิ การนำความรู้เรื่องการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ และพลังงานน้ำ (กรณีที่ชุมชนอยู่ใกล้น้ำตก) ให้กับชุมชนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ฯลฯ ควบคู่ไปกับการดึงทรัพยากรและศักยภาพของคนในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเป็นการส่งเสริมให้คนในชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ด้าน นางสาวพันธุ์พิมล จันทรักษรังษี นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาการพัฒนาเชิงสร้างสรรค์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพ่อหลวงนั้น มิได้ตกแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ยังประโยชน์แก่ราษฎรทั้งประเทศ ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ โดยตนได้น้อมนำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่มีใจความว่า "ถ้าคนดี เข้มแข็งในความดี จะทำให้คนเลว มาทำให้คนดีเป็นคนเลวยาก" มาเป็นเครื่องเตือนสติตนเอง ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่ยังยึดมั่นในความดี ใจเราเมื่อกระทำสิ่งใด ก็ไม่มีทางไขว้เขวไปในทางที่ผิดเด็ดขาด ประกอบกับการที่ได้เข้ามาเป็นนักศึกษาในสาขาการพัฒนาเชิงสร้างสรรค์ ที่วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มธ. ที่มุ่งบ่มเพาะบัณฑิตให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการพัฒนาพื้นที่ชนบท ควบคู่ไปกับการปลูกฝังให้มีจิตสาธารณะที่มุ่งทำกิจการอันเป็นประโยชน์แก่สาธารณชนและสังคมเป็นหลัก ช่วยให้ตนสามารถดำเนินชีวิต และคิดกระทำในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่สังคมมาโดยตลอด โดยต่อจากนี้ ตั้งใจนำหลักปรัชญาและทฤษฎีต่าง ๆ ที่ท่านได้ให้ไว้ ไปเผยแพร่ และถ่ายทอดแก่ผู้อื่นให้ได้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม แม้ปณิธานและการลงมือปฏิบัติจริงของเยาวชนทั้ง 5 ไม่อาจเทียบได้กับสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทร-มหาภูมิพลอดุลยเดช ได้สร้างไว้ตลอด 70 ปีที่ผ่านมา แต่นักศึกษา คณาจารย์ และประชาคมธรรมศาสตร์ทุกคน มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ และพร้อมใจน้อมนำหลักคิดของพ่อหลวงมาปรับใช้ในทุก ๆ ด้านของชีวิต ด้วยยึดมั่นเดินหน้าสานต่อปณิธานที่พ่อหลวงได้ริเริ่มไว้ ผ่านการนำความรู้ความเชี่ยวชาญที่มี ไปขยายผลและถ่ายทอดแก่ภาคส่วนต่าง ๆ อย่างเต็มกำลังและความสามารถสืบไป