มาตรการเสริมการพัฒนาชุมชนและชนบท (มพช.)

ข่าวท่องเที่ยว Wednesday February 14, 2001 14:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.พ.--มพช.
กรมวิชาการเกษตรร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ใช้งบ มพช.64 ล้านบาท จัดทำโครงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านการเกษตร (Agro-tourism) โดยการปรับปรุงและพัฒนาศูนย์วิจัยและสถานีทดลองของกรมวิชาการเกษตรที่มีผลวิจัยด้านการเกษตรที่สามารถถ่ายทอดสู่เกษตรกรและประชาชนผู้สนใจทางด้านการเกษตรมีภูมิทัศน์สวยงามและมีศักยภาพสูงด้านการท่องเที่ยวใน 7 จังหวัด จำนวน 9 พื้นที่ ให้นักท่องเที่ยวได้ใช้บริการ เน้น การท่องเที่ยวแบบประหยัดและได้ความรู้ทางด้านการเกษตรซึ่งจะนำไปสู่แนวนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการรักษาสภาพแวดล้อมของไทย
นายวิทยวัฒน์ กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการกองแผนงานและวิชาการรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตร ได้รับจัดสรรงบประมาณภายใต้มาตรการเสริมการพัฒนาชนบทและชุมชน (มพช.) จำนวน 64 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านการเกษตร (Agro tourism) โดยดำเนินงานร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
วงเงิน 64 ล้านบาทดังกล่าว ทางกรมวิชาการนำมาปรับปรุงสิ่งก่อสร้างและพัฒนาศูนย์วิจัยและสถานีทดลองที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยพิจารณาจากจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจมาท่องเที่ยวในโอกาสต่างๆ ซึ่งทางกรมได้พิจารณาจัดทำโครงการนำร่องขึ้นมาใน 7 จังหวัด จำนวน 9 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จัดทำโครงการที่ ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย และสถานีทดลองเกษตรที่สูงวาวี
จังหวัดเชียงใหม่ จัดทำโครงการที่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) และสถานีทดลองเกษตรที่สูงแม่จอนหลวง จังหวัดแพร่ ดำเนินโครงการที่สถานีทดลองพืชสวนแพร่ จังหวัดเลย จัดทำโครงการที่สถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือ จังหวัดจันทบุรี จัดทำโครงการที่ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี จังหวัดเพชรบุรี ได้ปรับปรุงพัฒนาที่สถานีทดลองพืชสวนเพชรบุรี และที่จังหวัดหนองคาย ได้จัดทำโครงการที่สถานีทดลองพืชสวนหนองคาย
นายวิทยวัฒน์กล่าวถึงการดำเนินงานของโครงการว่า นอกจากการพัฒนา ปรับปรุงสิ่งก่อสร้าง สิ่งอำนวยความสะดวกของพื้นที่แต่ละโครงการแล้ว ยังมีการก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์วงเงินรวมล้านบาท งานปรับปรุงภูมิสถาปัตยกรรมภายในพื้นที่โครงการต่างๆ วงเงินรวม 2.3 ล้านบาท งานปรับปรุงถนนและทางเดินเท้าในพื้นที่ วงเงินประมาณ 17 ล้านบาท ค่าจัดทำ หนังสือแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวด้านวิชาการเกษตรวงเงิน 7.1 ล้านบาท นอกเหนือจากนี้เป็นงบประมาณจัดอบรมเจ้าหน้าที่ด้านการท่องเที่ยว 3 คน และค่าจัดทำวิดีโอสรุปกิจกรรมทางด้านวิชาการ การประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว และความรู้ทางด้านวิชาการเกษตรในศูนย์วิจัยและสถานีทดลองแต่ละพื้นที่
ทั้งนี้เป้าประสงค์ของโครงการเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรและประชาชนในพื้นที่โครงการมีรายได้จากการจ้างงานและการขายผลิตผลทางด้านการเกษตรและงานฝีมือท้องถิ่น มีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศให้คนไทยได้รู้จักการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านการเกษตรและการท่องเที่ยวแบบประหยัดและได้ความรู้ควบคู่กันไป
สำหรับระยะเวลาดำเนินโครงการ 1 ปี นับตั้งแต่ ตุลาคม 2543 ถึง กันยายน 2544 โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการฯและคณะทำงานบริหารโครงการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อกำหนดนโยบายและแนวทางการปฏิบัติในการปรับปรุงและการบริหารจัดการในศูนย์และสถานีที่จัดทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยว
"กิจกรรมที่ทางกรมฯมุ่งเน้นในโครงการ คือ จัดพื้นที่สำหรับแปลงแสดงผลงานต่างๆ เช่น พันธุ์พืช ตลอดจนเทคโนโลยีด้านต่างๆ ในลักษณะของจริงให้นักท่องเที่ยวได้ชมกัน จัดพื้นที่สำหรับการจำหน่ายพันธ์พืช พันธ์ผลไม้ ผลิตผลและผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรตามฤดูกาลในพื้นที่และในพื้นที่ใกล้เคียง จัดสัปดาห์รณรงค์ประชาสัมพันธ์กับประชาชนและผู้สนใจโดยเน้นระยะเวลาให้สอดคล้องกับปฏิทินการท่องเที่ยวของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยมีเจ้าหน้าที่นักวิชาการให้ความรู้ด้านการท่องเที่ยวต้อนรับผู้เข้าชม" นายวิทยวัฒน์กล่าวในตอนท้าย
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
ศูนย์ประชาสัมพันธ์ มพช.
โทร. 279-8001, 279-7937, 616-2270-1--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ