กรุงเทพฯ--13 ก.พ.--กรมประชาสัมพันธ์
นักลงทุนเบลเยียมสนใจลงทุนในไทยทั้งเคมีภัณฑ์ ไฟฟ้า พลังงาน หวังใช้ไทยเป็นฐานการผลิตส่งออกในเอเชีย ในขณะที่ไทยต้องการใช้เบลเยียมเป็นฐานส่งออกในยุโรปเช่นกัน และทดแทนตลาดสหรัฐ โดยมูลค่าการค้าล่าสุดขยายตัวถึงร้อยละ ๓๐ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเจ้าชายฟิลลิป มกุฎราชกุมารแหงเบลเยี่ยม ได้นำคณะนักธุรกิจจากบริษัทชั้นนำของเบลเยียม ๓๐ แห่ง เข้ามาดูลู่ทางการลงทุนในประเทศไทยโดยได้จัดสัมมนาร่วมกับนักลงทุนไทยและหน่วยงานของรัฐ ที่โรงแรมโอเรียนเต็ล นายศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีกลุ่มนักลงทุนเบลเยี่ยมให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นฐานการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย โดยสนใจที่จะมาลงทุนในธุรกิจเคมีภัณฑ์ ไฟฟ้าและพลังงาน ปิโตรเคมี สินค้าเกษตร และกลุ่มสินค้าไอที เป็นต้น เนื่องจากประเทศไทยมีความพร้อมในด้านการลงทุนรองรับ และยังสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในธุรกิจค้าปลีกด้วย โดยอยู่ระหว่างการศึกษาลู่ทางธุรกิจของไทย ซึ่งเบลเยียมสนใจลงทุนในไทย เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการทำการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียได้ ในขณะที่ไทยสามารถใช้เบลเยียมเป็นศูนย์กลางการค้าขายในยุโรป และสามารถใช้เป็นตลาดใหม่ทดแทนตลาดสหรัฐที่อาจจะชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ทั้งนี้ การทำการค้าระหว่างกัน ในปี ๒๕๔๓ มีอัตราการขยายตัวประมาณ ร้อยละ ๓๐ หรือมีมูลค่าประมาณ ๑,๒๗๐ ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสินค้าที่ส่งออกของไทย เช่น เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ สินค้าเกษตร เป็นต้น นายทวี บุตร สุนทร ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) ๓ สถาบัน กล่าวว่า การเข้ามาลงทุนของภาคอุตสาหกรรมเบลเยียมในประเทศไทยครั้งนี้ ส่วนใหญ่มีแผนที่จะใช้ไทยเป็นศูนย์กลางในการส่งออกสินค้าของประเทศตนไปยังตลาดยุโรป และตลาดใหม่ๆ ในย่านเอเชีย เช่น พม่า ลาว เวียดนาม เป็นต้น แทนการใช้ฐานเดิมที่ลงทุนในประเทศมาเลเซียเพียงแห่งเดียว ซึ่งในส่วนของฝ่ายไทย ได้มีการเตรียมแผนรองรับกลุ่มตลาดดังกล่าวไว้บ้างแล้ว โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมด้านตลาดแรงงาน ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางรองรับแผนการดำเนินงานของแต่ละกลุ่มธุรกิจได้ทันที โดยปัจจุบันจะเป็นกลุ่มผู้ที่จบการศึกษาระดับอาชีวศึกษา รายงานข่าว กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มนักลงทุนจากเบลเยียมได้มองลู่ทางการลงทุนในไทย เพื่อย้ายฐานเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น เพื่อใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการทำธุรกิจ เพราะไทยมีศัภยภาพน่าลงทุน และมีทำเลที่เหมาะสม มีเสถียรภาพในการสนับสนุนการลงทุน การเมือง ส่วนกลุ่มที่มีแนวโน้มว่าจะย้ายฐานมาลงทุนในไทย เช่น กลุ่มเคมีภัณฑ์ ฟิลม์ กลุ่มไอที เป็นต้น ทั้งนี้ เบลเยียมได้เข้ามาลงทุนในภูมิภาคเอเชียแล้วในหลายประเทศ เช่น จีน มาเลเซีย เป็นต้น--จบ--
-สส-