กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--กระทรวงสาธารณสุข
กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สนับสนุนคนพิการทางสายตา ที่มีพรสวรรค์ด้านการนวด ซึ่งขณะนี้ร้อยละ ๗๐ มีฝีมืออยู่ในระดับดี เพื่อให้เป็นหมอนวดแผนไทยมืออาชีพ มีรายได้มั่นคง สามารถเข้าทำงานได้ในโรงพยาบาลได้ ผลักดันกองการประกอบโรคศิลปะออกระเบียบรองรับ น.พ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงนโยบายการส่งเสริมอาชีพของคนพิการทางสายตาว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้พิการทางสายตาที่ขึ้นทะเบียนไว้ ๑๕,๒๙๘ คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ยึดอาชีพเป็นหมอนวดประมาณ ๕๐๐ คน ตนเห็นว่าหมอนวดตาบอดเหล่านี้ควรได้รับ การสนับสนุนให้ประกอบอาชีพนี้อย่างเป็นทางการ มีการควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยให้กับผู้ใช้บริการนวดให้เกิดความมั่นใจ ทั้งนี้ ควรออกระเบียบมารองรับและอนุญาตให้หมอนวดที่พิการทางสายตาสามารถนวด หรือประกอบโรคศิลปะภายใต้การดูแลของผู้ที่มีใบประกอบโรคศิลปะแผนไทย และเข้าทำงานในโรงพยาบาลภาครัฐ โดยเฉพาะในโรงพยาบาลชุมชนหรือเอกชนได้ โดยมีอัตราจ้างที่ชัดเจน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดของกองการประกอบโรคศิลปะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าความพิการไม่ได้เกิดขึ้นกับอวัยวะ ทั้งหมด อวัยวะส่วนที่ไม่พิการยังสามารถใช้การได้ ผู้พิการบางรายมีพรสวรรค์เป็นเลิศ โดยเฉพาะการมีประสาทสัมผัสที่ดี แต่ในสายตาผู้คนทั่วไปมักไม่ค่อยมั่นใจในฝีมือการทำงานว่าคนพิการจะทำได้จริง หรือทำได้ดีหรือไม่ ขณะนี้มีผู้พิการทางสายตาสนใจและเข้ารับการฝึกการนวดแผนไทยเป็นอาชีพหลัก ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศไทยปีละกว่า ๓๖ ล้านบาท ดังนั้น รัฐบาลจึงควรส่งเสริมคนกลุ่มนี้ เนื่องจากจะเป็นการให้คนพิการได้แสดงความสามารถที่หลากหลายถึงขั้นประกอบเป็นอาชีพมีรายได้แน่นอน ที่สำคัญคือการพึ่งตนเอง ไม่เป็นภาระคนอื่น ซึ่งเป็นแนวทางที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องการเช่นเดียวกัน ด้าน พ.ญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสถาบันการแพทย์แผนไทยได้ให้การสนับสนุนและศึกษาวิจัยประเมินผลการดำเนินงานของมูลนิธิส่งเสริม อาชีพคนตาบอดย่านถนนจันทน์ ยานนาวา และศูนย์ส่งเสริมสมรรถภาพคนตาบอดที่ปากเกร็ด นนทบุรี ซึ่งเป็นสถานที่เปิดการเรียนการสอนเรื่องการนวดไทยให้แก่ผู้พิการมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๕ ซึ่งมีการอบรมฟื้นฟูความรู้ทุกปีและมอบประกาศนียบัตรรับรองให้ ปัจจุบันหมดนวดตาบอดที่ผ่านการอบรมแล้ว กำลังได้รับ ความนิยมมากขึ้น ทำให้หมอนวดมีรายได้ดีเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า ๖,๐๐๐ บาทต่อเดือน และมีสถานบริการจำนวนมากต้องการหมอนวดเหล่านี้ไปทำงานด้วย สำหรับผลของการศึกษาวิจัยกลุ่มหมอนวดตาบอด พบว่า ในเรื่องของระดับความรู้พื้นฐาน หมอนวดตาบอดส่วนใหญ่คือ ร้อยละ ๘๔ จบระดับมัธยมศึกษา ระดับอนุปริญญา-ปริญญา ร้อยละ ๑๕ มีจบระดับประถมศึกษาเพียงร้อยละ ๑ เท่านั้น ส่วนความรู้ความสามารถในการนวดนั้นพบว่าร้อยละ ๗๐ มีฝีมืออยู่ในขั้นดี ร้อยละ ๒๐ อยู่ในระดับปานกลาง ส่วนที่เหลือต้องปรับปรุง ในด้านการใช้บริการพบว่า แต่ละแห่งให้บริการปีละไม่ต่ำกว่า ๓๐,๐๐๐ คน โดยผู้รับบริการส่วนใหญ่เป็นแม่บ้านและข้าราชการ อายุระหว่าง ๔๐ — ๖๐ ปี เป็นชายมากกว่าหญิง ซึ่งส่วนใหญ่ร้อยละ ๗๐ เป็นการนวดเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และคลายความเครียด จากอาการปวดเมื่อยทั่วไป อาทิ ปวดหลัง ปวดสะบัก ปวดศีรษะ ปวดคอ ปวดเอว ซึ่งมิได้มีโรคที่เป็นอันตรายหรือเป็นข้อห้ามแต่อย่างใด และส่วนใหญ่จะกลับมานวดอีก เนื่องจากพอใจใน ผลการนวดและความสะอาดของสถานที่--จบ--
-สส-