กรุงเทพฯ--6 ธ.ค.--คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดงาน " มา ณ สารคาม " มหกรรมแสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเมืองมหาสารคาม (ตักสิลานคร) เพื่อมุ่งเผยแพร่ชื่อเสียงอัตลักษณ์ท้องถิ่นของจังหวัดมหาสารคามให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ณ ศูนย์สรรพสินค้า เสริมไทยคอมเพล็กซ์ เมื่อวันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
"มา ณ สารคาม" กิจกรรมสร้างสรรค์ที่ดีของกลุ่มนิสิตเอกการประชาสัมพันธ์ ภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดขึ้นเพื่อมุ่งสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนในท้องถิ่น รวมถึงนักเรียนนักศึกษาต่างถิ่นที่เดินทางมาศึกษาได้มีความรู้ ความเข้าใจ ที่ถูกต้องเกี่ยวกับจังหวัดมหาสารคาม ทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านการดำรงชีวิตประจำวัน , ด้านอาหารการกินและด้านการบันเทิงเริงใจ โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่ นิทรรศการวิถีชีวิตความเป็นอยู่ (วิถีแห่งชาวคาม) , วัฒนธรรมอาหารการกิน (กินอย่างไทสารคาม) และสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่สำคัญ (เลาะสารคาม) และภายในงานนิสิตได้จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กษัตริย์ผู้เป็นที่รักของพสกนิกรชาวมหาสารคามในคราวเดียวกันนี้ด้วย
นิทรรศการวัฒนธรรมประเพณี "วิถีชาวคาม" คือการนำเสนองานความเชื่อภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของชาวมหาสารคาม เปิดโอกาสให้ผู้ชมงานสัมผัสประสบการณ์จริงปฏิบัติการ การทำการเกษตรแบบเกษตรพอเพียง การทอเสื่อผ้าไหม การผลิตกลองยาว เครื่องมือทำมาหากินของชาวมหาสารคาม ประเพณีบุญเบิกฟ้ามหาสารคาม
นิทรรศการด้านอาหาร " กินอย่างไทสารคาม " เป็นการจัดแสดงชุดอาหารท้องถิ่นเลื่องชื่อ พร้อมสาธิตการปรุงรสตามสูตรไทสารคามให้ได้ลิ้มลองกัน เช่น ไอศรีมโคกก่อ จากฟาร์มโคกก่อ หมี่กรอบยายกี่ ปลาร้าบอง ขนมเทียนแก้ว เป็นต้น และนิทรรศการแหล่งท่องเที่ยว "เลาะสารคาม" การให้ข้อมูลและเกร็ดสาระเด่นจำเพาะของสถานที่ที่มาด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ประกอบด้วย องค์พระธาตุนาดูน หอนาฬิกา วนอุทยานโกสัมพี โดยได้ทำโมเดลจำลอง การแสดงภาพถ่ายแบบ 3 มิติ
นายจิรเมธ พุทธโค นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หัวหน้าโครงการ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า การจัดงาน "มา ณ สารคาม " เป็นการจัดนิทรรศการมีชีวิต คือ ผู้เข้าชมงานสามารถสัมผัสกับเรื่องราวต่าง ๆ อันได้แก่ งานด้านวัฒนธรรมภูมิปัญญา วิถีชีวิต อาหารท้องถิ่นและสถานที่ท่องเที่ยวของเมืองมหาสารคาม หลาย ๆ กิจกรรมเน้นการมีส่วนร่วมของผู้เข้าชมให้มีประสบการณ์จริง เป็นการเปิดมิติและมุมมองใหม่ๆของจังหวัดมหาสารคามที่ใครหลายคนอาจจะไม่เคยเห็น
นางสาวปภาวริณทร์ อารีวงศ์วิริยะ นิสิตชั้นปีที่4 คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หนึ่งในผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวเสริมว่า รู้สึกดีใจที่ได้จัดงานในครั้งนี้เพราะจังหวัดมหาสารคามมีอะไรหลาย ๆ อย่างที่สะท้อนให้เห็น มหาสารคามเป็นจังหวัดที่โดดเด่นในภูมิศาสตร์อารยธรรมการดำเนินชีวิต มีการสืบทอดมรกดทางวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อย่างงดงามควรคู่แก่การสืบสานต่อไป
นางสาวพรนภา เทพสกุล หนึ่งในผู้เข้าร่วมงานกล่าวว่า ตนก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้อาศัยอยู่จังหวัดมหาสารคาม แต่ได้มีโอกาสมาเรียนที่นี้ ถ้าจะพูดถึงสถานที่ท่องเที่ยววิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมของคนที่นี้ก็ไม่รู้จักเท่าไหร่ พอได้มางานนี้ก็รู้สึกดีที่ได้รู้ถึงสถานที่ท่องเที่ยวและรู้ถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรมต่างๆของคนในมหาสารคามโดยงานนี้เหมือนกับการย่อข้อมูลของเมืองมหาสารคามที่ใหญ่ๆไว้ในที่เล็กๆซึ่งแต่สามารถรับรู้ได้ถึงความเป็นเมืองมหาสารคามและถ้ามีโอกาสจะลองไปสัมผัสกับสถานที่ต่างๆเหล่านั้นจริงๆ
งาน "มา ณ สารคาม" ในครั้งนี้สร้างโอกาสการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างกลุ่มนิสิตผู้จัดงาน หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงชาวมหาสารคาม และผู้เข้าร่วมงานทุกคนจะได้เล็งเห็นว่า อัตลักษณ์และเอกลักษณ์ที่ทรงคุณค่าและแตกต่างของจังหวัดมหาสารคามเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ควรหาโอกาสเดินทางมาสัมผัสสักครั้ง