กรุงเทพฯ--7 ธ.ค.--กรมประมง
นางอุมาพร พิมลบุตร รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากการที่สำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ได้ออกประกาศที่ 2016/052 ลงวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2559 แจ้งว่า ประเทศแอลจีเรียได้เสนอขึ้นบัญชี 3 ซาลาเมนเดอร์ชนิด Salamandra algira และประเทศสหรัฐอเมริกาได้เสนอขึ้นบัญชี 3 เต่าชนิดChelydra serpentine, Apalone ferox, Apalone mutica และ Apalone spinifera โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 และได้ออกประกาศที่ 2016/056 ลงวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2559 แจ้งว่า ประเทศบราซิลได้เสนอขึ้นบัญชี 3 ปลากระเบนน้ำจืดชนิด Potamotrygon spp. และปลาซัคเกอร์ชนิด Hypancistrus zebra และประเทศโคลัมเบียได้เสนอขึ้นบัญชี 3 ปลากระเบนน้ำจืดชนิด Potamotrygon constellate, Potamotrygon magdalenae, Potamotrygon motoro, Potamotrygon orbignyi, Potamotrygon schroederi, Potamotrygon scobina,PotamotrygoN yepezi โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2560 ซึ่งประกาศทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว จะมีผลต่อการค้าระหว่างประเทศตามข้อกำหนดของอนุสัญญาไซเตสในบัญชีหมายเลข 3 เป็นชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่ประเทศถิ่นกำเนิด กำหนดให้เป็นสัตว์ป่าหวงห้ามหรือสัตว์คุ้มครองตามกฎหมายภายในประเทศของตน และ ขอความร่วมมือจากประเทศภาคีอื่นๆ ให้ช่วยดูแลการค้าระหว่างประเทศด้วย ตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ของไทย ที่กำหนดให้การนำเข้า – ส่งออก หรือนำผ่านซึ่งสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากซากสัตว์ป่าชนิดที่ต้องมีใบอนุญาต หรือใบรับรองให้นำเข้า – ส่งออก หรือ นำผ่าน ซึ่งจะต้องทำตามความตกลงว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์
ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทย ปลากระเบนน้ำจืดสวยงามถือเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่มีการเพาะเลี้ยง จำนวนมากประมาณ 300 - 400 ฟาร์ม โดยในปี พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา มีการส่งออกถึง 1.7 ล้านตัว สร้างมูลค่าจากการส่งออกกว่าพันล้านบาท ส่วนปลาซัคเกอร์ เต่าน้ำจืด และซาลาเมนเดอร์ ยังเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นที่มีการเพาะเลี้ยงเฉพาะกลุ่มไม่มากนัก
อย่างไรก็ตาม กรมประมงขอให้ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะนำเข้า – ส่งออกสัตว์น้ำต่างถิ่นชนิดพันธุ์ดังกล่าว โปรดยื่นคำร้องขอใบอนุญาตได้ที่ กลุ่มคุ้มครองพันธุ์สัตว์น้ำตามอนุสัญญา กองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการ กรมประมง โดยสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มคำร้อง สป. 4 ได้ทาง www.fisheries.go.th สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร. 0 2561 4689 ในวันและเวลาราชการ ©