กรุงเทพฯ--1 พ.ย.--ที่ปรึกษากฎหมายสากล
โดยไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ
บริษัท ที่ปรึกษากฎหมายสากล จำกัด
paiboona@mail.ilct.co.th
ช่วงนี้ผู้เขียนได้รับคำถามมากมายจากผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตผ่านคอลัมภ์ถามผู้รู้ในเว็บไซท์ mweb.co.th รวมถึงบริษัทอินเตอร์เน็ตต่างๆ เกี่ยวกับปัญหากฎหมายเรื่องการหมิ่นประมาทบนอินเตอร์เน็ต เนื่องจากในเว็บไซท์ทั่วไปในปัจจุบันนี้ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซท์ pantip.com sanook.com ฯลฯ ล้วนแล้วแต่มีบริการสนทนาผ่านทางอินเตอร์เน็ต (chat) หรือให้บริการสนทนาแบบวัยรุ่นโดยผ่านระบบ Pirch ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงบริการให้มีการตั้งกระทู้หรือแสดงความเห็นต่างๆ ผ่านทางกระดานแสดงความเห็น (Bulletin Board) ปัญหาที่มักเกิดขึ้นบ่อยๆ คือ ผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตที่ไม่ประสงค์ดีบางคนใช้สื่ออินเตอร์เน็ตทำความเสียหายแก่ผู้อื่น เช่น เขียนข้อความหมิ่นประมาทผู้อื่นผ่านทาง Bulletin Board หรือ สนทนาแบบออนไลน์ ในห้องสนทนา หรือระบบ Pirch โดยระบุว่า นาย ก. หรือ นางสาว ข. ให้บริการทางเพศ ฯลฯ ปัญหาคือ การกระทำดังกล่าวผิดกฎหมายหรือไม่ วันนี้เราจะมาคุยปัญหาดังกล่าวกันครับ
เพื่อง่ายแก่การทำความเข้าใจผมขอยกตัวอย่าง เช่น นาย ก. ไม่พอใจนางสาว ข. เนื่องจากเรื่องส่วนตัวจึงเขียนข้อความบนเว็บไซท์ว่า นางสาว ข. ขายบริการทางเพศโดยระบุชื่อที่อยู่ของนางสาว ข. หรือใส่ความอย่างอื่นจนนางสาว ข. เกิดความเสียหาย
กฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวคือ ประมวลกฎหมายอาญาฐานหมิ่นประมาท มาตรา 326 และ 328 ซึ่งระบุว่า มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏด้วยวิธีใด แผ่นเสียง หรือสิ่งบนทึกเสียงอย่างอื่น กระทำโดยการกระจายเสียง หรือโดยการกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่นใด ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จากหลักกฎหมายดังกล่าวการที่นาย ก. เขียนข้อความที่หมิ่นประมาทนางสาว ข. ผ่านทางอินเตอร์เน็ต หากข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริงและก่อให้เกิดความเสียหายต่อนางสาว ข. นาย ก. ก็มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 แม้ว่านาย ก. นั้นจะมิได้อยู่ในประเทศไทยก็ตาม เพราะการกระทำดังกล่าวผิดกฎหมายไทย นาย ก. จึงก็ต้องรับโทษตามกฎหมายไทย การที่นาย ก. มีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศนั้นไม่ได้เป็นเหตุให้ นาย ก. ได้รับยกเว้นโทษแต่ประการใด
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เขียนข้อความหรือหมิ่นประมาทบุคคลอื่นผ่านทางอินเตอร์เน็ตนั้น มักจะชะล่าใจว่าตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องไม่สามารถตามตัวบุคคลดังกล่าวเพื่อดำเนินคดีในทางอาญาได้ ผมขอเรียนว่า ในทางเทคนิคนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ว่า ผู้ที่เขียนข้อความหมิ่นประมาทดังกล่าวเป็นใครโดยร่วมมือกับเว็บไซท์ที่ให้บริการจัดให้มีการสนทนา โดยตรวจสอบหมายเลขที่อยู่บนอินเตอร์เน็ต (IP Address) ของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่นาย ก. ใช้ในการสนทนาหรือ ปิดประกาศข้อความที่หมิ่นประมาทบนอินเตอร์เน็ต เนื่องจากการติดต่อสื่อสารบนอินเตอร์เน็ตนั้นต้องกระทำผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องซึ่งจะมีหมายเลขรหัสประจำเครื่องที่ไม่ซ้ำกัน นอกจากนี้ผู้ใช้บริการโดยส่วนใหญ่มักจะต้องเชื่อมต่อระบบคอมพิวเตอร์ของตนกับผู้ให้บริการทางอินเตอร์เน็ตหรือ ISP - Internet Service Provider หรือร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ที่ท่านเข้าไปใช้บริการ ซึ่งจะบันทึกข้อมูลการใช้บริการทุกครั้งไว้ ดังนั้น การตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดจึงสามารถทำได้
ปัญหาอีกประการหนึ่งคือ เว็บไซท์ที่ให้บริการมีความรับผิดทางกฎหมายหรือไม่ อาทิเช่น สมมติว่าเว็บไซท์ yahoo.com เปิดให้บริการสนทนาผ่านทางอินเตอร์เน็ตและมี นาย A ผู้ใช้บริการรายหนึ่งเขียนข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาทนางสาว ข. ผ่านเว็บไซท์ของ yahoo.com บริษัท yahoo.com ต้องรับผิดในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นผ่านอินเตอร์เน็ตหรือไม่
คำตอบคือ หากเว็บไซท์ yahoo.com ไม่ได้ทราบหรือมีส่วนรู้เห็นถึงการกระทำอันเป็นการหมิ่นประมาทดังกล่าวข้างต้น เว็บไซท์ yahoo.com ก็ไม่ต้องรับผิดในความผิดฐานหมิ่นประมาทเนื่องจากขาดเจตนาและการดำเนินการทั้งหมดของเว็บไซท์ yahoo.com กระทำผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์อัตโนมัติทั้งหมด อย่างไรก็ตาม หากผู้ที่ได้รับความเสียหายคือ นางสาว ข. ได้แจ้งให้เว็บไซท์ yahoo.com ได้ทราบว่า ข้อความที่อยู่บนเว็บไซท์ yahoo.com ดังกล่าวนั้นไม่เป็นความจริง และเว็บไซท์ yahoo.com ยังคงเผยแพร่ข้อความดังกล่าวอยู่โดยมิได้ลบออกจากเว็บไซท์ กรณีนี้อาจถือได้ว่า เว็บไซท์ yahoo.com มีเจตนาก่อให้เกิดความเสียหายต่อนางสาว ข. ได้ ดังนั้น ผมแนะนำว่า หากมีการแจ้งเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิดังกล่าวเข้ามา ท่านผู้ประกอบการเว็บไซท์ควรรีบตรวจสอบและลบข้อความดังกล่าวออกโดยเร็วเพื่อแก้ไขปัญหาดีกว่าจะมีคดีความกันในภายหลังครับ
ส่วนวิธีป้องกันนั้น เว็บไซท์โดยทั่วไปมักจะระบุเงื่อนไขในการใช้บริการ (Terms & Conditions) ว่าจะปฏิเสธความรับผิดในกรณีที่มีการหมิ่นประมาทผู้อื่นทางอินเตอร์เน็ตและอาจใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์แบบ pop-up ให้แสดงข้อความเงื่อนไขสิทธิดังกล่าวโดยปรากฏขึ้นบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ก่อนที่ผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตแต่ละรายจะเข้าไปใช้บริการ ก็แก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งอย่างน้อยก็พิสูจน์ได้ว่า ผู้ใช้บริการแต่ละท่านได้ทราบแล้วว่าเว็บไซท์ที่ให้บริการเป็นเพียงสื่อกลางที่ใช้ในการติดต่อระหว่างกันเท่านั้น มิได้มีส่วนรู้เห็นถึงการกระทำความผิดใดๆ ที่เกิดขึ้นแม้แต่น้อยสุดท้ายนี้ ผู้เขียนมีความเห็นว่า สื่ออินเตอร์เน็ตเป็นเสรีภาพอย่างหนึ่งในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นและมีประโยชน์อย่างมากต่อการติดต่อสื่อสารระหว่าง ดังนั้น เราๆ ท่านๆ ทั้งหลายจึงควรร่วมกันใช้สื่อดังกล่าวในทางสร้างสรรค์โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เพราะจริยธรรมหรือมารยาทในการใช้อินเตอร์เน็ต (Nettiquette) ที่อยู่ในจิตใจของคนนั้นบางครั้งมีความสำคัญมากกว่าความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุเสียอีกครับ--จบ--
-อน-