กรุงเทพฯ--7 ธ.ค.--บลจ.วรรณ
บลจ.วรรณ สบโอกาสเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวชัดเจน แนะกระจายลงทุนหุ้นต่างประเทศระยะยาวให้น้ำหนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯโดยวันนี้ ถึง 19 ธันวาคม นี้ บริษัทเปิดเสนอขายกองทุนเสนอขายกองทุนเปิด วรรณ อัลติเมท โกลบอล อิควิตี้ เพื่อการเลี้ยงชีพ(ONE-UGERMF) เน้นลงทุนตลาดหุ้นทั่วโลกที่มีศักยภาพการเติบโตในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะธุรกิจนวัตกรรมรองรับความต้องผู้บริโภคในอนาคต
นายพจน์ หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม วรรณ จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปีหน้า มีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มพัฒนาแล้ว นำโดยประเทศสหรัฐอเมริกา อีกทั้งยังมีนโยบายทางการคลังภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีคนใหม่ ผ่านการเพิ่มรายได้ขั้นต่ำและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญสนับสนุนให้เศรษฐกิจของสหรัฐฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน และจะส่งผลให้เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และอาจจะกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยวันที่ 13-14 ธ.ค. นี้ประมาณ 0.25% และปรับขึ้นอีก 2 ครั้งในปีหน้า(2560)
ด้านการจัดพอร์ตการลงทุน บลจ.วรรณขอแนะนำกระจายการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ เพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาว โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่วัฎรจักรของเศรษฐโลกกำลังเริ่มเข้าสู่การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจึงเป็นจังหวะในการทยอยสะสมหุ้นที่มีแนวโน้มการเติบโตในระดับสูง ทั้งนี้ สำหรับบลจ.วรรณ ในช่วงระหว่างวันนี้ ถึง วันที่ 19 ธันวาคม 2559 บริษัทเปิดเสนอขายกองทุนเปิด วรรณ อัลติเมท โกลบอล อิควิตี้ เพื่อการเลี้ยงชีพ(ONE-UGERMF) เป็นกองทุนประเภท Fund of Funds เน้นกระจายการลงทุนในกองทุน Baillie Gifford Long Term Global Growth Fund ในสัดส่วนประมาณ 70-80% เพื่อชนะเกณฑ์มาตรฐาน พร้อมกับกระจายการลงทุนในหน่วยลงทุน ETF บางส่วนเพื่อให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีฯ ที่ใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่ กองทุน iShares MSCI ACWI ETF กองทุน SPDR MSCI ACWI UCITS ETF ประมาณ 20-30% โดยจุดเด่นของกองทุน Baillie Gifford Long Term Global Growth Fund จะเน้นลงทุนในหุ้นทั่วโลกไม่จำกัดภูมิภาคที่มีศักยภาพเติบโตที่โดดเด่นและยั่งยืนในอีก 10 ปีข้างหน้า เช่น บริษัทที่มีนวตกรรมและมีแนวโน้มที่จะเติบโตรองรับกับผู้บริโภคในอนาคต อาทิ กลุ่มการแพทย์ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ปฎิวัติเทคโนโลยี กลุ่มค้าปลีกออนไลน์ เป็นต้น จึงเหมาะสำหรับเป็นทางเลือกให้ผู้ลงทุนที่ต้องการกระจายการลงทุนในต่างประเทศพร้อมรับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี
"พอร์ตการลงทุนของกองทุน Baillie Gifford ส่วนใหญ่ให้น้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯสัดส่วน 50-60% ของพอร์ตการลงทุน ซึ่งมองว่าเป็นโอกาสดีของการเข้าลงทุนในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง อีกประมาณ 30% จะลงทุนตลาดหุ้นเอเชีย เช่น จีน ฮ่องกง และ 10% ในกลุ่มประเทศยุโรป โดยอุตสาหกรรม 3 อันดับแรกที่เลือกกระจายการลงทุนได้ กลุ่ม Information Technology สัดส่วน 40-50% กลุ่ม Consumer Discretionary สัดส่วน 30% และ Health Care สัดส่วน 15% ทั้งนี้ หุ้นส่วนใหญ่ที่กองทุนหลักเลือกลงทุน เป็นหุ้นที่มีแนวโน้มการเติบโตในระดับสูงรองรับพฤติกรรมผู้บริโภค อาทิ หุ้น Amazon, Facebook, Alibaba เป็นต้น" นายพจน์ กล่าว
นายมณฑล จุนชยะ ประธานเจ้าหน้าที่ลงทุน กล่าวเสริมว่า ภาพการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงของปีหน้า ตลาดหุ้นสหรัฐมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะเอื้อต่อผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนให้เติบโตต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีเม็ดเงินไหลกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นสหรัฐ ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปยังคงต้องติดตามความเสี่ยงปัจจัยทางการเมือง อย่างไรก็ดีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางยุโรปจะเป็นแรงหนุนให้มีสภาพคล่องในระบบยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนตลาดหุ้นได้อีกทางหนึ่ง ในส่วนของตลาดหุ้นญี่ปุ่น ยังคงให้น้ำหนักการติดตามที่ปัจจัยด้านอัตราแลกเปลี่ยน โดยประเมินว่า ค่าเงินเยนยังมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยประเมินกรอบค่าเงินเยนของปีหน้าอยู่ที่ระดับ 115-116 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
ขณะที่ตลาดหุ้นประเทศจีน ยังคงต้องติดตามระดับความรุนแรงของผลกระทบในช่วงที่ประเทศสหรัฐฯมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีท่านใหม่ ซึ่งหากระดับความรุนแรงไม่มาก ตลาดหุ้นจีนยังมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจจีนเริ่มมีเสถียรภาพ กอปรกับ มาตรการนโยบายการเงินและการคลังยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง รวมทั้งยังได้อานิสงส์จากโครงการเชื่อมโยงตลาดหุ้นเซินเจิ้น-ฮ่องกง
สำหรับตลาดหุ้นในแถบอาเซียน ซึ่งมีความกังวลถึงผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ บริษัทมองว่าผลกระทบดังกล่าวจะไม่มากนัก เนื่องจากสหรัฐไม่ได้มุ่งเป้ากีดกันทางการค้ามายังแถบประเทศอาเซียน นอกจากนี้ ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศกลุ่มอาเซียนส่วนใหญ่ฟื้นตัวได้ค่อนข้างดี ดังนั้น โอกาสการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นในแถบภูมิภาคอาเซียนยังคงมีอยู่เช่นกัน