กรุงเทพฯ--7 ธ.ค.--Migrant Working Group Thailand
องค์การเวิลด์ เอดูเคชั่นประจำประเทศไทยจัดเวทีประชุมระหว่างกรมการศึกษาทางเลือกของประเทศพม่า เพื่อหาทางออกด้านการศึกษาให้เด็กข้ามชาติในประเทศไทย พร้อมเปิดข้อมูลสถิติมีเด็กข้ามชาติอาศัยอยู่ในจังหวัดตากกว่า14,000 คน และได้รับการศึกษาในศูนย์เรียนรู้เด็กข้ามชาติเพียง 16 แห่ง เร่งประสานความร่วมมือทั้งไทยและประเทศต้นทางให้เด็กๆ ได้รับการศึกษาที่เหมาะสมอย่างแท้จริง
องค์การเวิลด์ เอดูเคชั่น (World Education) สำนักงานประเทศไทย เป็นเจ้าภาพในการประสานงานจัดประชุมระหว่างกรมการศึกษาทางเลือกของประเทศพม่า (Myanmar Department of Alternative Education) และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาสำหรับเด็กข้ามชาติ ณ โรงแรมเซ็นทาราแม่สอด ฮิลล์ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อส่งเสริมกลไกการประสานงานความร่วมมือในอนาคต โดย Dr. Khine Mye อธิบดีกรมการศึกษาทางเลือก พร้อมด้วย Dr. Thant Sin และ U Khin Maung Htwe รองอธิบดีกรมการศึกษาทางเลือกของประเทศพม่าได้เข้าร่วมในการประชุมด้วย
นางอธิตา ออร์เรลล์ ผู้แทน องค์กร World Educationและกลุ่มการศึกษาของเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ Migtrant working Group กล่าวว่า จังหวัดตากมีเด็กนักเรียนข้ามชาติอยู่ประมาณ 14,000 คน ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในศูนย์การเรียนเด็ก ข้ามชาติ 61 แห่ง ซึ่งการประชุมในครั้งนี้เราได้นำผู้แทนจากกระทรวงศึกษาของพม่า ได้แก่ Dr. Khine Mye อธิบดีกรมการศึกษาทางเลือก พร้อมด้วย Dr. Thant Sin และ U Khin Maung Htwe รองอธิบดีกรมการศึกษาทางเลือกสองท่าน เดินทางไปเยี่ยมศูนย์การเรียนเด็กข้ามชาติที่ซามูทอ (Hsar Mu Htaw) , ศูนย์การเรียนเด็กข้ามชาติ กิโลเมตรที่ 42ที่ดำเนินโครงการการศึกษานอกระบบของประเทศพม่า และโรงเรียนบ้านแม่ตาวใหม่ จากนั้นได้เข้าร่วมประชุมหารือกับที่ปรึกษาพิเศษสำนักนายก ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก , นายอโณทัย ไทยวรรณศรีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2, ดร.เปรมใจ วังศิริไพศาล จากศูนย์วิจัยย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้แทนจากองค์กรต่างๆ อาทิเช่นUNESCO UNICEF World Education ศูนย์ประสานงานการจัดการศึกษาเด็กต่างด้าว เครือข่าย Migrant Education Integration Initiative (MEII) องค์กรช่วยไร้พรมแดน องค์การช่วยเหลือเด็ก และคณะกรรมการการศึกษาเพื่อผู้อพยพชาวพม่าด้วย
ผู้แทน องค์กร World Educationและกลุ่มการศึกษาของเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ Migtrant working Group กล่าวว่า ถึงแม้ว่ากรมการศึกษาทางเลือกของพม่านั้นจะเป็นหน่วยงานใหม่ที่เพิ่งถูกตั้งขึ้นในกระทรวงศึกษาธิการของพม่า แต่ก็เป็นหน่วยงานที่ได้แสดงถึงความตั้งใจที่จะแสวงหาทางออกที่จะทำให้เด็กข้ามชาติได้รับการศึกษาที่ได้รับ การรับรอง โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนผ่านทางศูนย์การศึกษานอกระบบ 13 แห่ง ในจังหวัดตาก การมาเยี่ยมครั้งสำคัญของผู้แทนจากพม่าในครั้งนี้นำไปสู่ความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการและเพิ่มหนทางที่ยืดหยุ่นเพื่อให้เด็กได้รับการศึกษาที่ได้รับการรับรอง นอกเหนือไปจากการศึกษาในระบบโรงเรียนปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการศึกษานอกระบบระดับประถมศึกษา ซึ่งจะทำให้ให้เด็กข้ามชาติสามารถเรียนได้ในชุมชนของพวกเขา โดยใช้ภาษาของพวกเขาเอง และยังได้รับการศึกษาที่ได้รับการรับรอง
"การเยี่ยมของผู้แทนจากพม่าในครั้งนี้ ยังทำให้เกิดการสร้างกลไกความร่วมมือในการพัฒนานโยบายด้านการศึกษาสำหรับเด็กข้ามชาติในอนาคต พร้อมทั้ง ได้มีนัดหมายให้มีการประชุมหารือร่วมกัน เป็นประจำระหว่างกลุ่มผู้ดำเนินงานด้านการศึกษา และกรมการศึกษาทางเลือก เพื่อส่งเสริมแลกเปลี่ยนข้อมูล การวิจัย การวิเคราะห์ และการพัฒนานโยบาย นอกจากนี้ Dr. Khine Mye ให้คำมั่นว่ากรมการศึกษาทางเลือกมีความตั้งใจที่จะหาหนทางที่ยืดหยุ่นสำหรับเด็กข้ามชาติให้ได้รับการศึกษาที่ทางการเมียนมาร์ให้ การรับรอง โดยได้กล่าวว่า "พวกเราจะร่วมมือกัน" ในยุคของการเมืองใหม่นี้"นางอธิตากล่าว