SET9: ตลท.แถลงผลการประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ประจำเดือนมกราคม 2543

ข่าวทั่วไป Friday January 28, 2000 10:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--28 ม.ค.--ตลท.
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แถลงผลการประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ ประจำเดือนมกราคม 2543 ที่ประชุมมีมติ
1) อนุญาตให้ซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน ที่มีส่วนผู้ถือหุ้นมากกว่าศูนย์ และยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ โดยเน้นให้บริษัทต้องเปิดเผยข้อมูลให้ผู้ลงทุนทราบอย่างเต็มที่
2) ผ่อนปรนเงื่อนไขการอนุญาตให้ซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนในหมวด REHABCO ที่มีการปรับโครงสร้างหนี้ได้มากกว่า 50% ของมูลหนี้
3) เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาพิจารณาดำเนินการกับบริษัทจดทะเบียนในหมวด REHABCO ที่มีความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างหนี้ออกไปอีก 6 เดือน ให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐเรื่องการขยายเวลาให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ที่เกิดจากการปรับโครงสร้างหนี้ และสั่งให้ 6 บริษัทที่ไม่มีความคืบหน้าเร่งแก้ไขฐานะการเงินภายใน 60 วัน
4) เห็นชอบในหลักการให้ขยายเวลาการซื้อขาย หลังปิดตลาดออกไปอีก 20-25 นาที เพื่ออำนวยความสะดวกและดึงดูดเงินลงทุนจากผู้ลงทุนสถาบัน พร้อมเผยแพร่ข้อมูลราคาเฉลี่ยหลักทรัพย์แบบ Real Time ให้ผู้ลงทุนทราบ และ รับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกเรื่อง โครงสร้างค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์
นายวิชรัตน์ วิจิตรวาทการ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ ประจำเดือน มกราคม 2543 มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1) อนุญาตให้ซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน ที่มีส่วนของผู้ถือหุ้นมากกว่าศูนย์ และยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลตามพระราชบัญญัติล้มละลาย ตามที่ตลาดหลักทรัพย์ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงาน กรณีบริษัทจดทะเบียนที่มีส่วนของผู้ถือหุ้นมากกว่าศูนย์ ซึ่งได้ยื่นขอฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย โดยตลาดหลักทรัพย์จะขึ้นเครื่องหมาย SP นับตั้งแต่วันที่ศาลสั่งให้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการจนกระทั่งศาลอนุมัติแผนฟื้นฟู และบริษัทได้ดำเนินการในขั้นตอนที่สำคัญตามแผนฟื้นฟู โดยยังคงจัดให้บริษัทดังกล่าวอยู่ในหมวดอุตสาหกรรมตามปกตินั้น
เนื่องจากขั้นตอนการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย นับจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและแต่งตั้งผู้แทน จนถึงวันที่ให้ความเห็นชอบในแผนฟื้นฟูต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 4 เดือน ประกอบกับในปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งมีแนวโน้มที่จะยื่นคำขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลตามพระราชบัญญัติดังกล่าวการขึ้นเครื่องหมาย SP สั่งห้ามซื้อขายหลักทรัพย์ในช่วงเวลาดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องในการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท และ ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่บริษัทที่มีขั้นตอนการปรับโครงสร้างหนี้ด้วยการหาผู้ร่วมทุนรายใหม่หรือการเพิ่มทุน
เพื่อส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนดังกล่าว สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้สะดวก สามารถดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และผู้ถือหุ้นมีสภาพคล่องในการซื้อขายหลักทรัพย์ คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบให้ยกเลิกขั้นตอนการขึ้นเครื่องหมาย SP และอนุญาตให้ซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนที่มีส่วนของผู้ถือหุ้นมากกว่าศูนย์และยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลตามพระราชบัญญัติล้มละลาย โดยยึดหลักการให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลอย่างเต็มที่เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลที่ชัดเจนประกอบการตัดสินใจ
2) เห็นชอบให้ผ่อนปรนเงื่อนไขการอนุญาตซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนในหมวด REHABCO ที่มีความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างหนี้มากกว่าร้อยละ 50 ของมูลหนี้เพื่อส่งเสริมการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในระหว่างการฟื้นฟูการดำเนินงาน (Companies under Rehabilitation : REHABCO) ให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนให้ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในหมวดดังกล่าวเร่งแก้ไขฐานะการเงิน และเป็นแรงจูงใจให้ผู้ร่วมลงทุนรายใหม่ เข้ามาช่วยปรับโครงสร้างทางธุรกิจคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ มีมติเห็นชอบให้ผ่อนปรนเงื่อนไขการอนุญาตซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนในหมวด REHABCO ให้มีความยืดหยุ่น คล่องตัว และสอดคล้องกับภาวการณ์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น โดยผ่อนปรนให้กรณีบริษัทที่สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้มากกว่าร้อยละ 50 ของมูลหนี้ทั้งหมด และมีแผนฟื้นฟูกิจการที่ผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นแล้ว หรือ เป็นบริษัทที่ศาลได้มีคำสั่งอนุมัติแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว โดยบริษัทจดทะเบียนในหมวด REHABCO ที่มีคุณสมบัติดังกล่าวจะต้องยื่นคำขอให้ตลาดหลักทรัพย์พิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป และจะต้องเปิดเผยข้อมูลสำคัญ ได้แก่
ก) สาระสำคัญของสัญญาการปรับโครงสร้างหนี้ ที่บริษัทลงนามกับเจ้าหนี้ และ เงื่อนไขที่เจ้าหนี้มีต่อบริษัทผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และ ผู้บริหารของบริษัท
ข) สาระสำคัญของแผนฟื้นฟูกิจการที่ผ่านการอนุมัติ จากที่ประชุมผู้ถือหุ้น หรือ ผ่านความเห็นชอบจากศาลเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ การซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนตามคุณสมบัติดังกล่าว จะยังคงอยู่ในหมวด REHABCO และตลาดหลักทรัพย์จะเผยแพร่ข้อมูลของบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้มีการซื้อขายหลักทรัพย์ให้ผู้ถือหุ้น และผู้ลงทุนทราบล่วงหน้า 7 วันทำการก่อนปลดเครื่องหมาย SP
3) เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาพิจารณาดำเนินการ กับหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนในหมวด REHABCO ที่มีความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างหนี้ออกไปอีก 6 เดือน และ สั่งให้บริษัทจดทะเบียนที่ไม่มีความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างหนี้เร่งแก้ไขฐานะการเงิน ภายใน 60 วัน
ตามที่ตลาดหลักทรัพย์ ได้กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนที่อยู่ระหว่างฟื้นฟูการดำเนินงาน (Companies under Rehabilitation: REHABCO) เร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้แล้วเสร็จภายในกำหนดวันที่ 31 ธันวาคม 2542 มิฉะนั้นจะถูกพิจารณาเพิกถอนหลักทรัพย์ออกจากตลาดหลักทรัพย์ ปรากฏว่า ณ วันที่ 19 มกราคม ศกนี้ มีบริษัทจดทะเบียนในหมวด REHABCO รวม 39 บริษัทจากจำนวนทั้งสิ้น 45 บริษัท ซึ่งมีความคืบหน้าเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ แต่ยังไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด เนื่องจากมีเจ้าหนี้จำนวนมากราย ทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน ทำให้การเจรจามีขั้นตอน และใช้เวลาในการสรุปผล ประกอบกับรัฐบาลได้ขยายเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกิดจากการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งของเจ้าหนี้และลูกหนี้ออกไปอีก 2 ปี จากเดิมสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม2542 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2544 เพื่อส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนในหมวด REHABCO ที่มีความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างหนี้ในระดับหนึ่ง เร่งดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ให้เรียบร้อย และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในการขยายเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์พิจารณาเห็นสมควรให้ขยายเวลา เพื่อการดำเนินงานปรับโครงสร้างหนี้แก่บริษัทจดทะเบียนในหมวด REHABCO ทั้ง 39 รายนี้อีกเป็นระยะเวลา 6 เดือน
นอกจากนี้ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 172 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ ยังได้สั่งการให้บริษัทจดทะเบียนในหมวด REHABCO ที่ไม่มีความคืบหน้าจำนวน 6 บริษัทเร่งแก้ไขฐานะการเงินและปรับโครงสร้างหนี้ภายใน 60 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้งจากตลาดหลักทรัพย์ มิฉะนั้นตลาดหลักทรัพย์จะพิจารณาเพิกถอนออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน
4) เห็นชอบให้มีการซื้อขายหลักทรัพย์นอกเวลาทำการ (Off-Hour Trading) ปรับปรุงวิธีคำนวณราคาเฉลี่ยหลักทรัพย์ และ เผยแพร่ข้อมูลราคาเฉลี่ยของหลักทรัพย์แบบ Real Time ให้ผู้ลงทุนทราบ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ขยายฐานผู้ลงทุน และ ดึงดูดความสนใจจากผู้ลงทุนสถาบัน ซึ่งมีความต้องการซื้อขายหลักทรัพย์นอกเวลาซื้อขายประจำวัน คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ได้พิจารณาเห็นชอบในหลักการให้มีการซื้อขายหลักทรัพย์นอกเวลาซื้อขายประจำวัน (Off-Hour Trading) โดยมีหลักเกณฑ์วิธีการซื้อขาย ดังต่อไปนี้
ก) อนุญาตให้สมาชิกสามารถส่งรายการซื้อขายแบบ Put Through (PT) เข้ามาสู่ระบบซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ หลังปิดตลาดเป็นระยะเวลาเพิ่มอีก 20-25 นาที โดยนับจากเวลาปิดทำการซื้อขายประจำวัน ที่ได้จากการสุ่มเลือกด้วยคอมพิวเตอร์ จนถึงเวลา 17.00 น.
ข) การซื้อขายสามารถกระทำได้ทั้งหลักทรัพย์บนกระดานหลัก กระดานรายใหญ่ และ กระดานต่างประเทศ
ค) รายการซื้อขายที่ส่งเข้ามาในช่วงเวลาดังกล่าว ให้ถือเป็นรายการที่เกิดขึ้นในวันทำการนั้นและให้มีการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์พร้อมกับรายการซื้อขายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในวันทำการเดียวกัน (T+3) การซื้อขายหลักทรัพย์นอกเวลาทำการดังกล่าวจะอำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุนสถาบันให้มีเครื่องมือในการปรับรายการซื้อขายหลักทรัพย์ใน Portfolio ของตน โดยมีเวลาทำการซื้อขายเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้มีมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เข้ามาสู่ตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น
คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ยังมีมติเห็นชอบ ในหลักการให้ปรับปรุงวิธีคำนวณราคาเฉลี่ยของหลักทรัพย์ที่เกิดขึ้นบนกระดานต่างประเทศให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับกระดานหลัก อันจะทำให้ราคาเฉลี่ยของหลักทรัพย์บนกระดานต่างประเทศที่ได้สะท้อนราคาเฉลี่ยที่แท้จริงของตลาดได้ดียิ่งขึ้นโดยคำนวณราคาเฉลี่ยจากการถ่วงน้ำหนักรายการซื้อขายเฉพาะที่เกิดจากวิธี Automated Order Matching (AOM)เท่านั้น
นอกจากนี้ยังได้อนุมัติให้เผยแพร่ข้อมูลราคาเฉลี่ยของหลักทรัพย์ผ่านระบบซื้อขาย (ASSET) ในระหว่างวันทำการ เพื่อให้ผู้ลงทุนรับทราบข้อมูลแบบ Real Time อันจะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์จะได้นำมตินี้เสนอต่อที่ประชุมบริษัทสมาชิกเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อไป
5) รับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นจากบริษัทสมาชิก เรื่องการปรับโครงสร้างอัตราค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์
ตามที่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ ได้มีมติในการประชุมเดือนธันวาคม 2542 เห็นชอบให้มีการปรับปรุง โครงสร้างอัตราค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์จากอัตราคงที่ร้อยละ 0.5 ไปสู่อัตราที่ต่อรองกันได้แต่มีขั้นต่ำร้อยละ 0.25 สำหรับลูกค้าของบริษัทสมาชิกทุกประเภท (ยกเว้นลูกค้าที่เป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่มิใช่สมาชิก ลูกค้าผู้ลงทุน และกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งใช้อัตราต่อรองเสรี) ตลาดหลักทรัพย์ได้นำโครงสร้างค่าธรรมเนียมดังกล่าว หารือในที่ประชุมวิสามัญบริษัทสมาชิกเมื่อวันจันทร์ที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา และรายงานผลการรับฟังความคิดเห็นให้คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ทราบว่า บริษัทสมาชิกหลายรายยังเห็นว่า อัตราค่าธรรมเนียมขั้นต่ำร้อยละ 0.25 ยังไม่ใช่อัตราที่สามารถสะท้อนต้นทุนการดำเนินงานที่แท้จริง และขอเวลาศึกษาตัวเลขต้นทุนของธุรกิจหลักทรัพย์ตามแนวคิดเรื่อง Activity-Based Costing โดยจะนำผลการศึกษากลับมาเสนอต่อตลาดหลักทรัพย์ เพื่อพิจารณาอีกครั้งในปลายเดือนนี้--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ