กรุงเทพฯ--7 ธ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม เผยศักยภาพแร่ควอตซ์สู่การพัฒนาเป็นซิลิกอนเกรดแสงอาทิตย์ (Solar Grade Silicon) เพื่อเป็นส่วนประกอบหลักของการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell) โดยประเทศไทยมีปริมาณสำรองแร่ควอตซ์คุณภาพสูงกว่า 25 ล้านตัน สามารถผลิตซิลิกอนเกรดแสงอาทิตย์ได้ประมาณ 6 ล้านตัน ซึ่งสามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 1 ล้านเมกกะวัตต์ หรือประมาณ 34 เท่าของความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุดของประเทศไทยในปี 2559 และจะสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศไทยได้ไม่น้อยกว่า3.6-4.5 ล้านล้านบาทซึ่งยังไม่รวมมูลค่าเพิ่มจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (Hi-technology) และมีมูลค่าสูงในประเทศทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าหากมีอุตสาหกรรมการผลิตพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ครบวงจรจากแร่ควอตซ์ในประเทศไทย จะส่งผลให้เกิดรายได้แก่ประเทศเป็นจำนวนมหาศาล รวมทั้งส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลดลง สามารถแข่งขันกับพลังงานทางเลือกอื่นๆ ได้และประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิตซิลิกอนเกรดโลหกรรมซิลิกอนเกรดแสงอาทิตย์และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
นายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า แร่ควอตซ์ นับเป็นวัตถุดิบตั้งต้นที่สำคัญในอุตสาหกรรมซิลิกอน ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์(Solar Cell) ในการผลิตพลังงานไฟฟ้ากรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลการประกอบกิจการแร่เล็งเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพของแร่ควอตซ์คุณภาพสูงมากพอที่จะผลักดันสู่การนำไปใช้ในการผลิตพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ โดยมีเป้าหมายในการใช้แร่ควอตซ์คุณภาพสูงเป็นวัตถุดิบในการผลิตซิลิกอนเกรดแสงอาทิตย์ (Solar Grade Silicon) ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีอุตสาหกรรมผลิตซิลิกอนเกรดแสงอาทิตย์ มีเพียงการผลิตซิลิกอน เกรดโลหกรรม (Metallurgical Grade Silicon) ซึ่งถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมหล่อโลหะผสมอะลูมิเนียมสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์และอุตสาหกรรมเคมีเพื่อผลิตซิลิโคนเท่านั้น
นายสมบูรณ์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีปริมาณสำรองแร่ควอตซ์คุณภาพสูงกว่า 25 ล้านตัน ซึ่งจะสามารถผลิตซิลิกอนความบริสุทธิ์สูงได้ประมาณ 6 ล้านตันและสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 1 ล้านเมกกะวัตต์ หรือประมาณ 34 เท่าของความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุดของประเทศไทยและสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศไทยได้ไม่น้อยกว่า3.6-4.5 ล้านล้านบาทซึ่งยังไม่รวมมูลค่าเพิ่มจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (Hi-technology) และมีมูลค่าสูงในประเทศ โดยพื้นที่ที่พบว่าเป็นแหล่งแร่ควอตซ์ในประเทศไทย ได้แก่ พื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีปริมาณ 9.97 แสนตันเพชรบุรี มีปริมาณ 9.7 หมื่นตันสระแก้ว มีปริมาณ4 แสนตันระยอง มีปริมาณ7.56 ล้านตันจันทบุรี มีปริมาณ2 หมื่นตัน และราชบุรีมีปริมาณ 16 ล้านตัน
นายสมบูรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีนักลงทุนจากต่างประเทศสนใจเข้ามาลงทุนและพัฒนาแร่ควอตซ์ในประเทศไทยโดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่อยู่ระหว่างการจัดทำนโยบายการพัฒนาแหล่งแร่ควอตซ์ เพื่อรองรับการผลิตพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและผลกระทบต่อประชาชนซึ่งเชื่อมั่นว่าหากมีอุตสาหกรรมการผลิตพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ครบวงจรจากแร่ควอตซ์ในประเทศไทย จะส่งผลให้เกิดรายได้แก่ประเทศเป็นจำนวนมหาศาล ก่อให้เกิดการลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและมีมูลค่าสูงในประเทศรวมทั้งส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลดลง สามารถแข่งขันกับพลังงานทางเลือกอื่นๆ ได้ และประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิตซิลิกอนเกรดโลหกรรมซิลิกอนเกรดแสงอาทิตย์และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน สามารถรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่เป็นโลหะผสมอะลูมิเนียม อุตสาหกรรมเคมีที่ผลิตซิลิโคน และโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในภูมิภาคอาเซียนได้
สำหรับเซลล์แสงอาทิตย์ที่ใช้ในการแปลงแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้านั้นหากมีการใช้งานที่ถูกวิธีและการดูแลรักษาอย่างถูกต้องจะทำให้เซลล์แสงอาทิตย์ใช้งานได้นานถึง 20-30 ปี โดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ เซลล์แสงอาทิตย์เมื่อหมดอายุการใช้งานแล้วสามารถนำมาแยกชิ้นส่วนเป็นซิลิกอนกระจก และวัสดุอื่น ๆ นำไปรีไซเคิลเพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง นายสมบูรณ์ กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักอุตสาหกรรมพื้นฐาน กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่กระทรวงอุตสาหกรรมถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2202 3897 หรือเข้าไปที่ www.dpim.go.th