กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ในช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงประมาณกลางเดือนมกราคมของทุกปีเป็นช่วงฤดูมรสุมของภาคใต้ จึงมีความเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนตัวผ่านหรือเข้าใกล้ ทำให้มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ส่งผลให้พื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ห่วงใยประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยพิบัติในช่วงฤดูมรสุม จึงได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือและช่วยเหลือประชาชนครอบคลุมทุกมิติ
กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กอปภ.ช.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ประสานกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือ ป้องกัน และแก้ไขปัญหา ภัยพิบัติในช่วงฤดูมรสุมอย่างเข้มข้น โดยยึดพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 และแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 เป็นแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ดังนี้
การเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัย
· ถอดบทเรียนในพื้นที่ที่เคยประสบอุทกภัยรุนแรง เพื่อวางมาตรการป้องกันและแนวทางแก้ไขปัญหาเชิงรุก ควบคู่กับการทบทวนปรับปรุงแผนเผชิญเหตุอุทกภัย และแผนปฏิบัติการให้ครอบคลุมทุกมิติ และสอดคล้องกับ สภาพความเสี่ยงภัยในพื้นที่
· กำหนดหน่วยงานรับผิดชอบและแบ่งมอบภารกิจอย่างชัดเจน พร้อมวางแนวทางรองรับกรณี เกิดเหตุฉุกเฉินหรือไฟฟ้าดับในสถานที่ราชการ โดยเฉพาะโรงพยาบาล ให้จัดทีมแพทย์และพยาบาล ตลอดจนจัดเตรียมเวชภัณฑ์ ให้พร้อมดูแลผู้ประสบภัย
การเตรียมการป้องกันและลดความเสี่ยงภัย
· จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ภัย ติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง พร้อมประสานข้อมูลสถานการณ์น้ำ เพื่อประเมินแนวโน้มสถานการณ์ภัยและแจ้งเตือนประชาชนผ่านช่องทางการสื่อสารทุกรูปแบบในพื้นที่ รวมถึงจัดทำสัญลักษณ์แจ้งเตือนระดับน้ำ และป้ายเตือนป้องกันการตกขอบทาง
· ระดมสรรพกำลังและทรัพยากร ทั้งเจ้าหน้าที่ วัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกล เครื่องสูบน้ำ รถยนต์ และเรือให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย
· เชื่อมโยงระบบการบริหารจัดการน้ำ โดยเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังไปยังพื้นที่รองรับน้ำ และผลักดันน้ำลงสู่ทะเล หรือแหล่งน้ำสาธารณะ เพื่อกักเก็บและสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง
การเตรียมพร้อมด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัย
· จัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวให้พร้อมรองรับผู้ประสบภัย ทั้งการจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภค การบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข การดูแลชีวิตความเป็นอยู่และความปลอดภัย และการอำนวยความสะดวกด้านการสัญจร
· สนธิกำลังทุกภาคส่วนช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ หน่วยทหาร ฝ่ายปกครอง และอาสาสมัคร แจกจ่ายถุงยังชีพแก่ผู้ประสบภัยและดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ประสบภัย
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้บูรณาการทุกภาคส่วนบริหารจัดการปัญหาภัยพิบัติช่วงฤดูมรสุมในพื้นที่ภาคใต้อย่างเต็มกำลัง ภายใต้การเชื่อมโยงกลไกการปฏิบัติงานกับหน่วยงานในระดับพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และครอบคลุมทุกมิติ