กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--แบงค์คอก ไรเตอร์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส
เนื่องด้วยพื้นที่บริเวณรอบพระบรมมหาราชวัง หรือเกาะรัตนโกสินทร์ถือเป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อันยาวนานของประเทศไทย อันประกอบด้วย วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพลวิมลมังคลารามและวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งปัจจุบันกลุ่มอาคารอนุรักษ์ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีความชำรุดเสื่อมโทรมก่อให้เกิดทัศนียภาพที่ไม่สวยงาม ผู้เช่ามีการต่อเติมที่ผิดหลักการอนุรักษ์ ปัญหาน้ำท่วมขัง การระบายน้ำ ความแออัดในพื้นที่ และมีการใช้พื้นที่ไม่สมประโยชน์ อีกทั้งเพื่อให้สอดรับกับนโยบายการจัดระเบียบพื้นที่ของภาครัฐในปัจจุบัน
ด้วยเหตุนี้ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จึงได้จัดทำโครงการปรับปรุงฟื้นฟูกลุ่มอาคารอนุรักษ์รอบพระบรมมหาราชวัง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงฟื้นฟูพื้นที่และส่งเสริมภูมิทัศน์อันสวยงามในบริเวณดังกล่าว โดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้เริ่มดำเนินการพัฒนาพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2550 อันได้แก่ พื้นที่กลุ่มอาคารอนุรักษ์หน้าพระลาน กลุ่มอาคารอนุรักษ์ท่าช้าง อาคารที่พักอาศัยกองทัพบกที่ได้รับการส่งคืน ตลอดจนพื้นที่บริเวณสวนนาคราภิรมย์และกลุ่มอาคารอนุรักษ์ท่าเตียน ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินงาน
โดยแนวทางในการแก้ไขปัญหา แบ่งออกเป็น 4 ประการ ได้แก่
ประการที่ 1 การส่งเสริมสภาพแวดล้อมโดยรอบสถานที่สำคัญ : ตึกแถวบริเวณถนนหน้าพระลานตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวัง เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญสูงมาก จึงควรได้รับการดูแลและบำรุงรักษาให้มีสภาพดีอยู่เสมอ เพื่อส่งเสริมความเป็นสง่างาม และสภาพแวดล้อมที่มีเอกลักษณ์ของพื้นที่ ซึ่งในปัจจุบันพบว่ามีปัญหาเสื่อมโทรมด้านสุขลักษณะของถิ่นที่อยู่อาศัยและความปลอดภัย
ประการที่ 2 มาตรฐานการอนุรักษ์ : ตึกแถวบริเวณถนนหน้าพระลานได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 แต่กลับยังไม่ได้มีการบูรณะให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ อีกทั้งการขาดการติดตตามตรวจสอบสภาพอาคาร ทำให้เกิดการต่อเติมที่ผิดรูปแบบอย่างต่อเนื่อง การขาดการดูแลดังกล่าว ส่งผลห้กรมศิลปากรได้มีหนังสือถึงสำนักงานทรัพย์สินฯ ขอให้มีการกำกับดูแลอาคารที่ขึ้นทะเบียนให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 โดยเฉพาะมาตรา 7 มาตรา 7 ทวิ มาตรา 10 และมาตรา 10 ทวิ ที่เกี่ยวกับการบำรุงรักษาดัดแปลง ต่อเติมและการใช้ประโยชน์โบราณสถาน จึงเป็นเหตุให้ต้องมีการอนุรักษ์ให้เป็นไปตามหลักวิชาการ
ประการที่ 3 การปรับปรุงคุณภาพการอยู่อาศัย : สภาพอาคารดั้งเดิมทั้งภายนอกและภายในมีความทรุดโทรมเป็นอันมากนอกจากการต่อเติมอาคารในด้านหลังแล้วในส่วนด้านหน้าอาคารก็ถูกรบกวนด้วยกันสาด เครื่องปรับอากาศ ป้ายโฆษณา วัสดุดั้งเดิมเสื่อมสภาพ ส่วนสภาพภายในอาคารก็มีความทรุดโทรม ขาดสุขลักษณะของการอยู่อาศัย ซึ่งหากได้มีการบูรณะและฟื้ฟูสภาพก็จะช่วนทำให้คุณภาพชีวิตในการอยู่อาศัยได้มาฐานทั้งภานนอกและภายใน
ประการที่ 4 ขนาดพื้นที่เหมาะสม : จำนวนคูหาตึกแถวบริเวณถนนหน้าพระลานมีจำนวนไม่มาก คือ 29 ห้อง การดำเนินการในกระบวนการปรึกษาหารือกับผู้เช่าจึงไม่ซับซ้อนมาก จึงเหมาะแก่การดำเนินการอนุรักษ์หลังจากโครงการตึกแถว 9 ห้อง บริเวณถนนพระอาทิตย์ หลังจากเริ่มดำเนินการอนุรักษ์ตึกแถวบริเวณถนนหน้าพระลานไประยะหนึ่งแล้วสำนักงานทรัพย์สินฯ จึงได้เริ่มการอนุรักษ์ชุมชนตึกแถวที่อยู่โดยรอบพระบรมมหาราชวังอีก 2 แห่ง คือ ตึกแถวบริเวณท่าช้างวังหลัง และตึกแถวท่าเตียน ซึ่งก็ได้มีการหารือร่วมกับผู้เช่าเช่นกัน
ทั้งนี้สำหรับกลุ่มอาคารที่ได้รับการพัฒนาไปแล้ว คือ กลุ่มอาคารอนุรักษ์หน้าพระลาน กลุ่มอาคารอนุรักษ์ท่าช้าง ซึ่งหลังจากที่ได้รับการพัฒนาไปแล้วได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้เช่า เนื่องจากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะที่ในส่วนของพื้นที่สวนนาคราภิรมย์นั้นขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาพื้นที่เป็นอาคารจอดใต้ดิน ขนาด 3 ชั้นครึ่ง สามารถจอดรถตู้หลังคาสูงได้จำนวน 700 คัน โดยรูปแบบของอาคารจอดรถจะมีการแบ่งครึ่งในแต่ละชั้น และด้านบนระดับผิวดินยังคงเป็นสวนนาคราภิรมย์ตามเดิม อาคารคลังราชการ 5 หลังจะทำการบูรณะ เพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑ์โขนในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนารถ ซึ่งโครงการดังกล่าวใช้ระยะเวลาในการดำเนินการก่อสร้างประมาณ 24 เดือน และคาดว่าจะดำเนินการเสร็จประมาณเดือนธันวาคม 2561
โดยแนวคิดในการออกแบบนั้นมีจุดมุ่งหมายในการเน้นอนุรักษณ์คุณค่าประวัติศาสตร์ของพื้นที่และอาคารอนุรักษ์ มีการเชื่อมต่อระหว่างทางน้ำและทางบก พร้อมทั้งเพิ่มพื้นที่ใช้สอยที่จำเป็น เพื่อรองรับกิจกรรมของประชาชนเพื่อการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบและเป็นระเบียบเรียบร้อย และสามารถบรรเทาปัญหาการจราจรแออัดในเขตรอบพระบรมมหาราชวัง ความโดดเด่นของพื้นที่คือ ความเป็นช่องมุมเปิดที่สำคัญ เปิดมุมมองสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยให้ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ระหว่างพระปรางค์วัดอรุณฯ และพระบรมมหาราชวัง สร้างความเชื่อมโยงในพื้นที่เขตพระนครและเขตธนบุรี นำเอาช่องมุมเปิดสร้างเป็นแนวแกนมุมมองมาใช้ในเชิงการออกแบบ รวมถึงช่วงเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปทั้ง
ทั้งนี้สำหรับในส่วนของแผนพัฒนาในระยะต่อมานั้นจะมีการพัฒนาพื้นที่ในส่วนของตลาดท่าเตียน เนื่องจากพื้นดังกล่าวนั้นมีความทรุดโทรมมาก ทั้งในเรื่องของสุขลักษณะ ซึ่งทางกระทรวงสาธารณะสุขได้มีการยื่นหนังสือให้มีการปรับปรุงมานานแล้ว ทั้งยังมีการต่อเติมซึ่งเสี่ยงต่อการพังทลายของอาคาร นอกจากนี้ยังมองว่าเป็นการใช้พื้นที่ที่ไม่สมประโยชน์ เนื่องจากปัจจุบันเป็นโรงเก็บปลาร้าที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร และเป็นพื้นที่เสื่อมโทรมที่มีแรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งที่พื้นที่ดังกล่าวเป็นหัวใจของประเทศ เพราะเป็นพื้นที่ที่อยู่ติดพระบรมมหาราชวัง
สำหรับพื้นที่ตลาดท่าเตียนนั้นจะยังคงพัฒนาให้เป็นตลาดต่อไปเช่นเดิม แต่จะมีการยกระดับมาตรฐานการเป็นตลาดให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยจะยังคงสถาปัตยกรรรมโรงตลาดชุดดั้งเดิม ซึ่งออกแบบโดย ศาสตราจารย์.อัน นิมมานเหมินท์ แต่ได้มีการพัฒนาฟังชั่นต่างๆ ภายใต้การดูแลของคุณดวงฤทธิ์ บุนนาค ทำการอนุรักษ์รูปแบบเดิมของอาคาร แต่ทำการปรับปรุงพื้นที่ภายในตลาดใหม่ ทั้งการจัดการแผงค้าขาย, การตกแต่ง, การจัดการงานระบบอาคาร เพื่อให้สอดคล้องและตอบรับสำหรับการปรับปรุงอาคารอื่นๆ โดยรอบพื้นที่ ขณะที่ลักษณะการออกแบบแผงเช่าจะออกแบบลักษณะเป็นห้อง ขนาด 3x2 เมตร ใช้สำหรับประกอบการค้าขายเท่านั้น ไม่อนุญาตให้อยู่อาศัย หรือเก็บสินค้า ซึ่งสามารถมีแผงได้ 48 – 60 แผง และมีส่วนทานอาหารเพิ่มเติมเข้ามาในบริเวณโรงตลาด ส่วนอาคาร 22 คูหา จะมีการจัดระเบียบรูปแบบอาคารให้มีลักษณะใกล้เคียงกับรูปแบบดั้งเดิมสมัยแรกสร้าง โดยส่วนที่ผู้เช่าทำการปรับปรุงต่อเติมนั้นให้ทำการรื้อถอนออก คงเหลืออาคารเป็นโรงแถวไม้ความสูง 2 ชั้น