กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
รมว.เกษตรฯ ลงพท.ติดตามสถานการณ์น้ำเมืองนครศรีฯ พบยังมีน้ำท่วมขังเป็นบางแห่งสั่งการชกรมชลฯ ระดมเครื่องสูบน้ำเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมขังแล้ว กำชับทุกหน่วยเร่งแผนตามแนวทางพระราชดำริในรัชกาลที่ 9 แก้น้ำท่วมภาคใต้ระยะยาว พร้อมเร่งป้องความเสียหายส้มโอทับทิมสยามกว่า 2 พันไร่
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในโอกาสลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่น้ำท่วมภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ได้ประเมินสถานการณ์ และ เตรียมการช่วยเหลือไว้ล่วงหน้า เช่นเดียวกับพื้นที่ภาคใต้ที่ได้มีการติดตามข้อมูลกับกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง โดยได้สั่งการให้กรมชลประทาน เตรียมเครื่องสูบน้ำละเครื่องผลักดันน้ำไว้ให้พร้อมสามารถเข้าช่วยเหลือได้ทันทีทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยแผนระยะสั้นขณะนี้ต้องเพิ่มเครื่องสูบน้ำ/เครื่องผลักดันน้ำ ระบายน้ำโดยเร็วภายใน 7 วัน เพราะอาจจะมีฝนใหม่มาเติม ขณะเดียวกันเมื่อน้ำลดแล้ว ต้องเข้ามาฟื้นฟูพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะไม้ผล โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กรมวิชาการเกษตร และ กรมส่งเสริมการเกษตรจะเข้ามาแนะนำดูแล ส่วนในระยะยาว มี 2 ส่วน ส่วนแรก ต้องเพิ่มประสิทธิภาพคลองระบายน้ำที่มีอยู่เดิม จาก 268 ลบ.ม./วินาที ให้มากพอรับน้ำฝนตกหนักได้ แต่ช่วงที่ผ่านมามีน้ำราว 600 ลบ.ม./วินาที น้ำจึงเอ่อท่วม ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในปี 2561 โดยจะมีขุดคลองใหม่ และ ปรับปรุงคลองเดิม เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้มากขึ้นได้
ส่วนที่สอง คือ การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 7 แห่ง จะดำเนินการในปี 2561 และ 2562 จำนวน 2 แห่ง ให้มีน้ำเก็บไว้ใช้ และ ลดน้ำหลากท่วมพื้นที่ ส่วนอ่างเก็บน้ำอีก 5 แห่ง ที่ยังติดปัญหาเรื่องที่ดินของประชาชนก็ต้องขอความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ช่วยสนับสนุนโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาได้ในระยะยาว รวมถึงดำเนินการตามแผนโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช และ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจตรวจสอบเพื่อพัฒนาปรับปรุงให้มีความสมบูรณ์ ต้องขยายผลอย่างต่อเนื่องตามแนวทางที่พระองค์ท่านพระราชทานไว้
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดนครศรีธรรมราชปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ราบลุ่มต่ำและที่ลุ่มริมคลองธรรมชาติ ในเขต อ.ท่าศาลา อ.ทุ่งสง อ.ปากพนัง อ.ชะอวด อ.หัวไทร และ อ.เชียรใหญ่ แนวโน้มระดับน้ำทรงตัว เพิ่มขึ้น-ลงเล็กน้อยตามจังหวะการขึ้นลงของน้ำทะเล ส่วนการระบายน้ำลงสู่ทะเลยังคงไหลไปได้ด้วยดี ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ปัจจุบัน (7 ธ.ค. 59) ปริมาณน้ำที่ไหลจากต้นน้ำคลองท่าดีเริ่มลดลงแล้ว หากไม่มีฝนตกในตัวเมืองนครศรีธรรมราชเพิ่ม ระดับน้ำในตัวเมืองนครศรีธรรมราชจะค่อยๆ ลดลง ส่วนคลองระบายน้ำสายต่างๆคือ คลองวังวัว คลองหัวตรุด คลองบางพุทรา คลองไม้เสียบ คลองท้าวราษฎร์-ไม้เสียบ คลองหนองหนอน และคลองบางไทร ปัจจุบันระดับน้ำในคลองระบายน้ำ มีระดับคงที่และมีแนวโน้มลดลง ส่วนพื้นที่การเกษตรในเขตตำบลท่าเรือ ตำบลช้างซ้าย ตำบลบางจาก ตำบลท่าไร่ ยังคงมีน้ำท่วมขังสูงประมาณ 0.80 – 1.00 เมตร หากไม่มีฝนตกเพิ่มจะเข้าสู่ภาวะปกติภายในเร็ววันนี้
นอกจากนี้ ยังได้พบปะเกษตรกรปลูกส้มโอทับทิมสยาม ซึ่งมีการปลูกแห่งเดียวในประเทศไทย เนื้อที่รวม 2,200 ไร่ ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมด้วย จึงได้สั่งการให้กรมชลประทานเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ โดยกั้นคั้นน้ำรอบพื้นที่ 2,200 ไร่ พร้อมระดมเครื่องสูบน้ำ และ เครื่องผลักดันน้ำ ให้เสร็จภายใน 7 วัน เพื่อรักษาต้นส้มไว้ ซึ่งหากปล่อยนานกว่า 15 วัน อาจจะทำให้ต้นส้มเสียหายได้ จากนั้นได้ไปพบปะกลุ่มเกษตรกรที่ศูนย์วิจัยข้าวนครศรีธรรมราช ได้มอบเสบียงสัตว์ (หญ้าแห้ง) ให้เกษตรกร ซึ่งน้ำท่วมในครั้งนี้ มีสัตว์เลี้ยงได้รับผลกระทบ 270,000 ตัว ใน 3 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช พัทลุง และ สุราษฎร์ธานี ซึ่งได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์แจกจ่ายเสบียงสัตว์จากคลังในพื้นที่ ปัจจุบัน แจกไปแล้ว 350,000 กก. ยังมีสำรองอีก 1,100,000 กก.
ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำออกจากตัวเมืองนครศรีธรรมราช และพื้นที่อื่นๆรวม 54 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำ 52 เครื่อง พร้อมทั้งแจ้งเตือนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไปแล้ว ขณะที่สถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช นั้น จะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ดังนี้ 1.พื้นที่ลุ่มน้ำตอนบน(เชิงเขา)และอ.ลานสกา เมื่อมีฝนตกหนัก ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากจากต้นน้ำลงมาเป็นปริมาณมาก จนลำน้ำสายหลักไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน ประกอบกับมีสิ่งกีดขวางจากเส้นทางคมนาคมขวางทางน้ำ และมีอาคารระบายน้ำที่ไม่เพียงพอ จึงมีพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมเป็นประจำในเขตอ.ลานสกา และอ.ร่อนพิบูลย์ 2.พื้นที่ราบลุ่ม มักจะเกิดน้ำท่วม ในบริเวณที่เป็นพื้นที่ราบลุ่มต่ำและแม่น้ำสายหลักที่ตื้นเขิน ศักยภาพในการระบายน้ำไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ ได้แก่ อ.สิชล อ.ขนอม อ.ท่าศาลา อ.ปากพนัง อ.เชียรใหญ่ อ.ชะอวดอ.หัวไทร และอ.เมืองนครศรีธรรมราช 3. พื้นที่ราบลุ่มบริเวณปากแม่น้ำ มักจะเกิดปัญหาอุทกภัยในฤดูฝนเนื่องมีปริมาณฝนตกมาก มีลักษณะเป็นพื้นที่ลุ่มราบแบน ซึ่งมีความลาดชันน้อย เมื่อเกิดช่วงน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้การระบายน้ำออกสู่ทะเลทำได้ยาก เกิดน้ำท่วมทำความเสียหายแก่พื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่ชุมชนเมืองเป็นบริเวณกว้าง