กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
มูลนิธิสยามกัมมาจล
ภาพเหตุการณ์มหาธรณีพิบัติภัย "สึนามิ" เมื่อปี 2547 ยังคงบันทึกอยู่ในความทรงจำของคนไทย โดยเฉพาะคนในพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาชุมชนไม่หยุดนิ่งเกิดการพัฒนาชุมชน จนเกิดต้นแบบ"ชุมชนบริหารจัดการตนเอง จ.สตูล" ขึ้น ซึ่งจังหวัดสตูลถือว่าเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีผลกระทบจากสึนามิโดยตรง สะท้อนความสำเร็จในเวที"คน ทะเล สตูล - มิติจัดการตนเอง" บอกเล่าเรื่องราวชุมชนจัดการตนเอง.
เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2559 ณ สวนสาธารณะหาดราไว ต.ขอนคลาน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล บรรยากาศของงานเต็มไปด้วยความคึกคัก มีการจัดนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวชุมชนมาอวดให้ทุกคนได้เห็นความสมบูรณ์และเห็นกระบวนการการทำงานของชุมชน มีพิธีปล่อยลูกปูม้าที่ชุมชนบ้านบุโบยนำมาให้ทุกคนช่วยกันปล่อยที่หาดราไว นอกจากนี้ยังมีภาคีเครือข่ายทั้งใน จ.สตูล ภาครัฐและเอกชน และพื้นที่นำร่อง จากจ.ตรัง และ จ.ระนอง มาเข้าร่วมในเวทีครั้งนี้ด้วย เพื่อร่วมรับฟังแต่ละชุมชนบอกเล่าประสบการณ์การขับเคลื่อนการจัดการตนเองในชุมชน..
สมพงษ์ หลีเคราะห์ ผู้ประสานงานโครงการฯ เผยว่า... "การฟื้นฟูชุมชนหลังการเกิดภัยพิบัติคลื่นยักษ์ "สึนามิ" ที่มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องหลังปี 2547 ที่โครงการสร้างชุมชนบริหารจัดการตนเองในพื้นที่ประสบพิบัติภัยสึนามิ(โครงการนี้ มี 3 จังหวัดนำร่องได้แก่ จ.สตูล ,จ.ตรัง และจ.ระนอง) เป็นโครงการที่เข้ามาขับเคลื่อนไปได้ด้วยการสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) และผ่านมายังมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น เข้ามาขยับเขยื้อนให้ชุมชนอยู่รอด สามารถดำเนินชีวิตอย่างคนปกติ อันนี้ทำไปแล้ว อันดับที่สองยกระดับขึ้นมาช่วยเหลือให้อยู่ได้ คือสนับสนุนส่งเสริมด้านอาชีพ การรวมตัวกันของชุมชน และช่วยเรื่องสุดท้าย คือช่วยให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน นี่คือแนวทางที่อยากให้มีการขยับเรื่องการจัดการตนเอง ให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการกับเรื่องราวต่างๆ ที่เข้ามาในชุมชน และการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในชุมชน โดยชุมชนสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง
สำหรับพื้นที่สตูล โดยศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูล ก็มีการทำงานวิจัยร่วมกับมูลนิธิอันดามัน มูลนิธิรักษ์ทะเลไท ที่พยายามขยับเขยื้อนงานในประเด็นทะเล พื้นที่ประสบภัยเป็นพื้นที่ทะเลชายฝั่ง เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับงานเครือข่าย "เล" ตอนนี้ที่พวกเราได้ทำไปแล้ว ชุมชนชายฝั่งทำเรื่องกลุ่มออมทรัพย์ ทำเรื่องแพชุมชน การท่องเที่ยว เช่น ที่บ้านบ่อเจ็ดลูก บ้านบุโบย ทำธนาคารปูม้า เป็นต้น มีความพยายามที่จะจัดการทะเล เช่น บ้านขอนคลาน มีพื้นที่ "ดอหมัน"(พื้นที่หากินทางทะเล) มีประมาณ 16 แหล่ง ที่เป็นรายได้ 25 ล้านบาท เรือลากอวน 180 กว่าลำ เพราะฉะนั้นพื้นทะเลที่กว้างใหญ่มันก็เป็นพื้นที่ลักษณะเฉพาะในการทำมาหากิน อย่างกรณีบ้านหลอมปืน เฉพาะอ่าวทุ่งนุ้ยสามารถสร้างรายได้ให้กับชาวประมงที่ไม่มีเรือ ไม่มีเครื่อง เรียกว่า "ชาวประมงมือเปล่า" บางคนวางดัก บางคนรุนกุ้ง เฉพาะที่นี่ได้ล้านกว่าบาทต่อปี นี่ก็เป็นประเด็นว่าทำไมเราถึงต้องมาจัดการตัวเอง... ที่นี่ถ้าถามว่าถ้าเราไม่จัดการทะเล ไม่จัดการฐานทรัพยากรชุมชน ก็ทำให้ฐานทรัพยากรลดลง ความมั่นคงทางอาหารก็ลดลง นี่คือสิ่งหนึ่งที่ประมงชุมชนต้องมาจัดการ ถามว่าแนวทางการจัดการจะเป็นอย่างไรนั้น ผมมองในเชิงว่า ถ้าคิดเรื่องชุมชนจัดการตนเอง "คำว่าชุมชนตนเอง" มันไม่ใช่เรื่องเดียว อยากทำเรื่องท่องเที่ยวก็ต้องทำเรื่องผักอินทรีย์ ทำเรื่องเด็กและเยาวชน ทำเรื่องสุขภาพ ที่นี้การจัดการตนเองก็มีหลายวิธี หนึ่ง คือ ทำหลายเรื่องในคราวเดียวกัน ลองดูนะครับเพราะว่าหลายเรื่องต้องทำกันหลายคน ตัวที่หน้าที่เชื่อมร้อยตรงนั้นก็คือกลไก จึงออกแบบมาเป็นงานชุมชนบริหารจัดการตนเอง จึงออกแบบให้มีชุมชนต้นแบบหรือชุมชนทดลองที่บ้านบุโบยในภาพของกลุ่มเล็กๆ ที่เกิดจากธนาคารปูม้า และที่บ้านหลอมปืน ที่บ้านบ่อเจ็ดลูกในระดับของหมู่บ้าน ที่ ต.ขอนคลานในระดับตำบล และสเกลที่ใหญ่ขึ้นในระดับประเด็นเครือข่ายเลจัดการตนเองกับวิถีประมงพื้นบ้าน
ภาพที่อยากเห็นในอนาคตคืออยากเห็นภาพที่ชุมชนบริหารจัดการตัวเอง มีหมู่บ้านและกลุ่มต่างๆ เช่น 7 หมู่บ้านต้องมียุทธศาสตร์หมู่บ้านและขับเคลื่อนหลายๆ เรื่อง 1 กลุ่มทำ 1 เรื่องพอ อีกหมู่บ้านก็ทำแบบนี้ มองในระดับตำบลเป็นเป็นยุทธศาสตร์อีกแบบหนึ่งที่เป็นตำบลจัดการตัวเอง ที่ท่านนายกฯ กำลังทำ แต่ถ้าเป็นสเกลหมู่บ้านก็ต้องคิดระดับหมู่บ้าน สเกลกลุ่มก็ต้องคิดระดับกลุ่ม แต่วันนี้มีภาพความเป็นเครือข่าย บางเรื่องไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ได้ในระดับพื้นที่ ชุมชน หรือ ตำบลได้ ต้องยกระดับไปมากกว่านี้น เพราะฉะนั้นชุมชนที่จะทำเรื่องทะเลก็ต้องรวมตัวกันเป็นทะเล เขาเรียกเครือข่ายทะเลด้านสุขภาพ ด้านกลุ่มออมทรัพย์ นี่มองภาพการจัดการตนเองก็จะเห็นการเชื่อมร้อยลงไปๆ เป็นแบบนี้นะครับ แล้วก็หน่วยงาน องค์กร ไม่ว่าภาครัฐ เอกชน อบต. เป็นหน่วยงานที่มาร่วม นี่คือภาพที่อยากเห็น แต่วันนี้เราสามารถทำได้ในระดับหมู่บ้าน นี่คือสิ่งที่ต้องขับเคลื่อนต่อไป...วันนี้เหมือนที่ผมบอก เราอยากกินปลา อยากกินอาหาร แต่ถ้าเราไม่จัดการทะเล อาหารที่สมบูรณ์แบบนี้ ก็ไม่รู้ว่าเราจะมีให้กินไหม..." บังพงษ์ตบท้าย
จากนั้น ทั้ง 5 พื้นที่ หัวหน้าแต่ละโครงการฯ ขึ้นมาเล่าให้เห็นภาพกลไกการจัดการตนเองที่ผ่านมานั้น ทำอย่างไรและเกิดผลอย่างไร เริ่มที่1. คุณรอบีอ๊ะ ตั้งสง่า หรือมะอ๊ะ แกนนำกลุ่มสตรีรวมใจคนบุโบย นำเสนอโมเดลการจัดการตนเองรายกลุ่ม (พื้นที่)บ้านบุโบยจัดการตนเองผ่านการจัดการธนาคารปูม้า 2. คุณอารีย์ ติงหวัง หรือบังหลี ผู้ใหญ่บ้านหนองปรือนำเสนอโมเดลการจัดการตนเองบ้านหนองปรือ จัดการตนเองโดยใช้อ่าวทุ่งนุ้ยเป็นฐาน 3.คุณพิเชษฐ์ ปัจฉิมศิริ หัวหน้า รพ.สต.บ้านบ่อเจ็ดลูก นำเสนอโมเดลการจัดการตนเอง โดยวงสภากาแฟ 4.คุณอับดุลรอชัค บินหวัง ประธานองค์กรชุมชสตำบลขอนคลาน นำเสนอโมเดลการจัดการพื้นที่ตำบลขอนคลานจัดการตนเองผ่านสภาองค์กรชุมชน กล่าวว่า "สุดท้ายการทำงานโครงการฯ นี้ สิ่งที่เราได้รับคือ ปัญหาที่ได้รับการคลี่คลาย เราปลดล็อกตัวเองเราสามารถขยายงานต่างๆ ออกไปได้มากและกว้างขวางขึ้น สองคือการจัดการทะเลหน้าผ่านบทบาทสภาองค์กรชุมชน" 5. คุณอนันต์ มาละมาช เครือข่ายเลจัดการตนเองกับวิถีประมงพื้นบ้าน , เครือข่ายรักท่าแพ นำเสนอโมเดลการจัดการตนเองกับวิถีประมงพื้นบ้าน
ภายในงานได้มีเวทีเสวนาเรื่อง"จัดการตนเองในมิติของจังหวัดสตูล" เพื่อสะท้อนภาพชุมชนจัดการตนเองเชื่อมกับมิติจังหวัดได้อย่างไร? ผู้ร่วมเสวนาได้แก่ นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล , รศ.ดร.ปาริชาติ วลัยเสถียร ที่ปรึกษาโครงการชุมชนบริหารจัดการตนเอง, อ.ประยูร โขขัด สมัชชาคนสตูล , อาจารย์สมศักดิ์ เส็นดาโอ๊ะ นักวิชาการอิสระและอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์จังหวัดสตูล ปี 2519 นำเสวนาโดย คุณวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ผู้จัดการสมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย แต่ละท่านได้แสดงความเห็นถึง 5 พื้นที่ที่พัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งโดยการจัดรูปแบบจัดการตนเองอยู่ในขณะนี้ได้อย่างน่าสนใจ.. เริ่มที่นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล ในฐานะหน่วยงานราชการที่กำกับดูแลท้องถิ่น "จากที่ได้ฟังทั้ง 5 พื้นที่พูดถึงความเป็นไปเป็นมาในเรื่องของความเข้มแข็งของชุมชนที่เกิดขึ้น คิดว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เพราะแนวโน้มของกฏหมายก็พยายามสนับสนุนส่งเสริมองค์กรภาคชุมชนให้รู้จักจัดการตนเองให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ในส่วนของอบจ. หรือ ท้องถิ่น ทุกวันนี้ก็ทำงานร่วมกันอยู่แล้ว อบต.ก็ดูแลระดับพื้นที่ อบจ.ก็ดูแลในภาพรวม เราพยายามดูว่าสิ่งไหนที่พอจะนำลงมา สิ่งไหนที่พอจะช่วยได้ การเกิดองค์กรชุมชนที่เข้มแข็งลักษณะนี้ ก็เป็นประเด็นที่ดีมาก ที่จะทำให้ชุมชนทำงานเข้มแข็งขึ้นมาด้วย เหมือนกับว่า "เกาถูกที่คัน" ถ้าชุมชนมีการรวมตัวเป็นสภาองค์กรชุมชน สามารถเข้าถึงรากหญ้า มีการปรึกษาหารือประเด็นต่างๆ สร้างข้อเสนอรวมของโครงการต่างๆ เสนอไปที่ท้องถิ่น อบต. อบจ. โอกาสที่พวกเราจะเกาถูกที่คันก็มากขึ้น ผมคิดว่าจริงๆ แล้วความเข้มแข็งไม่ได้อยู่ในระดับตำบล ต้องอยู่ระดับหมู่บ้าน เพราะถ้าหมู่บ้านเข้มแข็งแล้ว มันจึงจะเกิดสภาองค์กรชุมชนตำบลที่เข้มแข็ง เพราะฉะนั้นต้องเริ่มที่หมู่บ้าน จึงเกิดความเข้มแข็ง"
อ.ประยูร โขขัด สมัชชาคนสตูล...ให้ความเห็นเรื่องจัดการตนเองให้เกิดความยั่งยืนว่า "เรื่องแรก คือเรื่องรากเหง้าคือ ประวัติของทะเลแต่ละแห่งเราควรจะรู้จัก โดยเฉพาะคนรุ่นหลังต้องรู้จักรากของตนเอง นี่คือสิ่งที่ผมอยากให้ปลูกฝังในวิถีชีวิต ส่วนที่สองเรื่ององค์ความรู้ที่มีมากมายต้องมีการจัดการ และสามกระบวนการทำงานเกี่ยวข้องกับ เรื่องของความยั่งยืน คือ ในชุมชนมีกระบวนการที่มีการเคลื่อนไหวมากมาย มีองค์กรอิสระที่ได้รับการรับรองโดยกฎหมายจำนวนมาก องค์กรอิสระเหล่านี้ก็วิ่งเข้ามาในชุมชนของเราแต่ละตำบล หมู่บ้าน เอางานมาให้ชุมชนทำมากมายจนเราไม่สามารถจัดการได้ที่อยากฝากไว้คือชุมชนมีกระบวนการทำงานเพื่อรับกับสิ่งเหล่านี้ที่วิ่งเข้ามา"
อาจารย์สมศักดิ์ เส็นดาโอ๊ะ ได้ในความเห็นในฐานะเคยผ่านงานการเมืองว่า..."ซึ่งตรงนี้ในมุมของนักการเมืองที่ผ่านมา ถ้าเราใช้การเมืองภาคปกครองอย่างเดียวมันไม่ได้ แต่เราคิดว่าการเมืองภาคพลเมืองเราจะทำอย่างไรให้มีส่วนร่วม จากการมีส่วนร่วมเรามองเป็นเรื่องใหญ่ในประเด็นที่เราคุยกันวันนี้ เรื่องการจัดการตนเอง ซึ่งการจัดการตนเองไม่ว่าที่ไหนก็ตามถ้าเราไม่ใช้กระบวนการมีส่วนร่วม โอกาสประสบความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จนะครับ"
รศ.ดร.ปาริชาติ วลัยเสถียร กล่าวว่า..."ดิฉันฝากเรื่องของข้อมูล เพราะเป็นหัวใจสำคัญเลย ถ้าเรามีข้อมูลสำคัญการจัดการตนเองที่เริ่มจากสิ่งที่ทำเองได้ ประสานในท้องถิ่น กับอบจ. หรือเทศบาลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ยังเห็นความหวัง เพราะตรงนี้เป็นงานระยะใกล้ และทำได้จริง ความสัมพันธ์ที่เข้าใจกัน อย่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่ง "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" เราคุยในพื้นที่ของเราแบบพี่แบบน้อง และเรามีข้อมูลมายืนยันว่าเราไม่ได้เสกสรรปั้นแต่งขึ้นมาเอง มันมีน้ำหนักที่จะรับฟังและทำงานร่วมกัน และเป็นชัยชนะที่ทุกคนได้ร่วมกัน ส่วนที่ยื่นข้อเสนอนโยบายสาธารณะระดับชาติก็ว่าไป นโยบายสาธารณะระดับท้องถิ่นก็ยังทำได้ และการเชื่อมประสานที่จะขับเคลื่อนการทำงานในพื้นที่ นับว่าเป็นความหวังในการจัดการตนเอง และการทำอย่างนี้บ่อยๆ ขึ้นก็น่าจะบรรลุเป้าหมายว่าคนเก่งขึ้น ในการวิเคราะห์ การเชื่อมประสาน การเรียนรู้ การสร้างความสัมพันธ์ และเมื่อเราเก่งขึ้น ปัญหาก็จะคลี่คลายและเราจะมีกลไกเข้ามาร่วมตามความเหมาะสม ตามความชำนาญ นั่นก็คือเป็นกลไกจัดการตนเองอย่างยั่งยืนมากกว่า"
ก่อนปิดเวที เครือข่ายการจัดการพื้นที่ชายฝั่งทะเลและการประมง จังหวัดสตูล ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งว่า..เพื่อให้เกิดแนวทางในการจัดการกับปัญหาและทรัพยากร และการประมงของจังหวัดสตูลอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมมากขึ้น เครือข่ายฯ จึงมีข้อเสนออาทิ การใช้กลไกระดับจังหวัดภายใต้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ,เพิ่มพื้นที่คุ้มครองสัตว์น้ำ,สำรวจฐานข้อมูลประมงพื้นบ้านเพื่อกำหนดมาตรการรองรับประชากรกลุ่มนี้ เป็นต้น และมอบคำประกาศฯนี้ให้แก่นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล หลังได้รับนายกฯ ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่าจะนำเจตนารมณ์ที่ได้รับนี้ กลับไปหารือกับผู้ใหญ่และนำกลับไปพิจารณาในลำดับต่อไป ว่าจะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง
เพื่อให้เดินทางไปถึงเป้าหมายของโครงการฯ ที่ตั้งไว้ คือสร้างชุมชนที่สามารถบริหารจัดการตัวเองได้ดีขึ้น โดยใช้ข้อมูล ความรู้และกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อคลี่คลายปัญหาชุมชนที่เป็นผลสืบเนื่องจากพิบัติภัยสึนามิ จากการนั่งดูเวทีในวันนี้ "ต้นแบบชุมชนบริหารจัดการตนเอง จังหวัดสตูล" ถือว่า "นำร่อง" ให้เห็นกระบวนการอย่างเป็นรูปแบบแล้ว ความหวังท้องถิ่นไทยพึ่งพาตนเองได้อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม ในอนาคตคือความหวังของประเทศไทยที่ทุกภาคส่วนจะสามารถพัฒนาได้อย่างเท่าทันกันนั่นเอง.#www.scbfoundation.com