กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล
ดร.นพดล กรรณิกา ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยซูเปอร์โพล(SUPER POLL) ร่วมกับ นางสาว กนิษฐา ไทยกล้า นักวิจัย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และเครือข่ายเยาวชนภาคเหนือ ลงพื้นที่สำรวจโพล เรื่อง เสียงสะท้อนของนักศึกษา เชียงใหม่ กับ กรุงเทพ จากกรณี ลูกนายพลถูกทำร้ายที่ร้านเหล้าใกล้มหาวิทยาลัย ใครตกอยู่ใต้อิทธิพลน้ำเมามากกว่ากัน จำนวน 1,200 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1-2 ธันวาคม ที่ผ่านมา พบว่า
ส่วนใหญ่ของนักศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของธุรกิจน้ำเมามากกว่า กลุ่มนักศึกษาในกรุงเทพมหานครในทุกกรณีตัวชี้วัด โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 99.2 ของนักศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ เทียบกับร้อยละ 90.8 ในกรุงเทพมหานคร พบเห็นร้านเหล้าใกล้รั้วมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษา เช่น ร้านสะดวกซื้อ (63.8 ในเชียงใหม่ ต่อ 52.3 ใน กทม.) สถานบันเทิงใกล้มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษา เช่น ผับ เธค บาร์ (56.5 ในเชียงใหม่ ต่อ 50.8 ใน กทม.) ร้านของชำ โชว์ห่วย (56.5 ในเชียงใหม่ ต่อ 50.8 ใน กทม.) บูธ ร้านเหล้าปั่น (16.4 ในเชียงใหม่ ต่อ 10.7 ใน กทม.)
ที่น่าเป็นห่วง คือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.2 ของนักศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ เคยใช้บริการ ดื่มเหล้า เบียร์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ร้านค้าและจุดจำหน่ายใกล้มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษามากกว่า นักศึกษาในกรุงเทพมหานครที่มีอยู่ร้อยละ 49.3
นอกจากนี้ นักศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ส่วนมากหรือร้อยละ 40.3 เข้าถึงร้านค้าจุดจำหน่าย เหล้า เบียร์ ใกล้รั้วมหาวิทยลัยและสถาบันการศึกษาด้วยการเดินเท้าภายใน 0 ถึง 5 นาทีเท่านั้น เทียบกับ นักศึกษาในกรุงเทพมหานครที่มีอยู่ร้อยละ 28.2 สามารถเดินเท้า เข้าถึง ร้านเหล้าเบียร์ ใกล้รั้วมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาภายใน 0 ถึง 5 นาทีเท่านั้น
ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ กลุ่มนักศึกษาทั้งสองพื้นที่ คือในจังหวัดเชียงใหม่และ กรุงเทพมหานคร กำลังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของธุรกิจน้ำเมาในรูปแบบต่างๆ ของการมีจุดจำหน่าย ร้านเหล้า เบียร์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใกล้มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษา แต่พบว่า นักศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของธุรกิจน้ำเมามากกว่า นักศึกษาใน กทม. ในทุกกรณีตัวชี้วัด ได้แก่ การพบเห็นนักศึกษา ดื่มเหล้า เบียร์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (87.5 ในเชียงใหม่ ต่อ 72.5 ใน กทม.) อุบัติเหตุ (82.5 ในเชียงใหม่ ต่อ 47.3 ในกทม.) ก่อความเดือดร้อนรำคาญ (75.0 ในเชียงใหม่ ต่อ 50.4 ในกทม.) ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน (68.2 ในเชียงใหม่ ต่อ 49.3 ใน กทม.) การทะเลาะวิวาท (60.0 ในเชียงใหม่ ต่อ 39.9 ใน กทม.) อิทธิพล มาเฟีย (42.9 ในเชียงใหม่ ต่อ 26.9 ใน กทม.) และ การถูกคุกคามทางเพศ ( 42.9 ในเชียงใหม่ 30.8 ใน กทม.)
ที่น่าพิจารณาคือ นักศึกษาส่วนใหญ่ทั้งสองพื้นที่ คือร้อยละ 85.4 ในจังหวัดเชียงใหม่ และร้อยละ 93.9 ใน กทม. ระบุ การมีจุดจำหน่าย ร้านเหล้า เบียร์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใกล้มหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษา ทำให้เกิดสภาวะแวดล้อมที่แย่ต่อเด็กและเยาวชนใน สถาบันการศึกษา
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ของนักศึกษาทั้งสองพื้นที่ คือ ร้อยละ 96.5 ของนักศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ และ ร้อยละ 92.3 ของนักศึกษาใน กทม. ระบุ ประโยชน์ของ คำสั่ง คสช. ที่ออกมาตรการควบคุมจุดจำหน่ายร้านเหล้าและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ตั้งใกล้สถาบันการศึกษาด้วยมาตรการที่เข้มงวดชัดเจน
ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.2 ของนักศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ และร้อยละ 78.7 ใน กทม. หวังพึ่งรัฐบาลและ คสช. ทำให้สำเร็จในการปกป้องคุ้มครองดูแลสภาพแวดล้อมที่ดีของ สถาบันการศึกษา เด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษา มากกว่าไปหวังพึ่งรัฐบาลของ นักการเมือง ที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคต
ดร.นพดล กรรณิกา ผอ.สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มนักศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่กำลังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของธุรกิจน้ำเมามากกว่า กลุ่มนักศึกษาในกรุงเทพมหานครในทุกกรณีตัวชี้วัดและที่น่าเป็นห่วงคือ กฎบัตรของ ออตตาวา (Ottawa Charter) ระบุไว้ชัดเจนให้ รัฐบาลทุกประเทศควรริเริ่มนโยบายสาธารณะที่ดีต่อสุขภาพและจัดสภาวะแวดล้อมที่ดีให้กับประชาชน แต่ผลสำรวจครั้งนี้พบว่า เด็กและเยาวชนที่กำลังจะเป็นอนาคตของประเทศชาติกำลังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลธุรกิจน้ำเมา แต่พวกเขายังเห็นประโยชน์ของ คำสั่ง คสช. 22/2558 ที่ควรออกมาตรการจัดระเบียบร้านเหล้าให้เข้มข้นยิ่งขึ้น และเด็กและเยาวชนในการศึกษาครั้งนี้ก็หวังพึ่งรัฐบาล และ คสช. มากกว่า รัฐบาลของนักการเมืองจากการเลือกตั้งในอนาคต ดังนั้น ถ้า มโนธรรมบริสุทธิ์ของเยาวชนเหล่านี้ บอกว่า ใช่ แล้ว ผู้ใหญ่ในสังคมจะรออะไร