กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--ไอเดียเวิร์คส์คอมมิวนิเคชั่นส์
บรรพบุรุษของเราเรียนรู้จากการทดลองด้วยตนเองเพื่อเอาชนะข้อจำกัดของธรรมชาติ จนได้รับถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่นกลายเป็นภูมิปัญญา เกิดการสั่งสม ส่งต่อ จารึก และเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ จนกระทั่งปัจจุบันมนุษย์ในยุค4G อย่างเราจึงได้รับความรู้จากแหล่งต่างๆมากมาย ไม่ใช่แค่หนังสือเรียนในโรงเรียนและห้องสมุด หรือข้อมูลที่หลั่งไหลจากเสิร์ชเอนจิ้นในโลกอินเทอร์เน็ตเท่านั้น เพราะทุกวันนี้และอนาคต เราจะมีแหล่งเรียนรู้ใหม่ที่ไม่คำนึงถึงรูปแบบและกระบวนการที่ซับซ้อนยุ่งยากอีกต่อไป
• รวมตัวเพื่อเรียนรู้ร่วมกัน อาจเพราะการระดมสมองกัน ทำให้เกิดไอเดียใหม่ๆและเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่หลากหลายได้ง่ายและรวดเร็วกว่าวิธีอื่นๆ จึงเกิดเป็นแหล่งการเรียนรู้แบบใหม่และกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น
ก่อนที่ 'เทิร์นนิงเทเบิลส์' (Turningtables) จะกลายเป็นแหล่งการเรียนรู้ด้านดนตรีของเด็กๆ องค์กรอิสระแห่งนี้เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของกลุ่มศิลปินและนักสร้างสรรค์ในเดนมาร์ก พวกเขามีเป้าหมายที่จะสร้างพื้นที่ขับเคลื่อนแรงบันดาลใจและแสดงตัวตนผ่านโครงการแคมป์เรียนรู้ทักษะดนตรี การจัดคอนเสิร์ตหรือเทศกาลดนตรีในดินแดนที่ห่างไกล และสร้างห้องเรียนดนตรีและสร้างภาพยนตร์ หวังทำให้ไอเดียนี้กระจายออกไปทั่วโลก
• ห้องเรียนสาธารณะ รกร้าง ถูกละเลย นอกเหนือจากความพยายามจะทำบ้านใหม่ให้ดูเก่า ลุควินเทจเพื่อเรียกร้องความสนใจจากคนรุ่นใหม่กระหายอดีตเท่านั้น แต่สถานที่สาธารณะ เก่าแก่ รกร้าง รอการรื้อทิ้งทำลายหลายแห่ง ยังสามารถสร้างความรู้และประสบการณ์ใหม่ได้ไม่รู้จบ
โปรเจ็คท์ บิ๊กชั่น (BCTION) ของกลุ่มศิลปินวัยรุ่นชาวญี่ปุ่น ทำให้ตึกร้างที่กำลังถูกทุบทำลายกลายร่างเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะสุดแนวและแกลลอรี่ เป็นแหล่งรวมตัวของงานศิลปะหลายแขนง และสามารถใช้พื้นที่นี้แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายผลงานได้อย่างอิสระ หรือลาต้า 65 (LATA 65) โปรเจ็คท์สร้างสรรค์ของกลุ่มศิลปินวัยรุ่นในละแวกกรุงลิสบอน โปรตุเกสที่ต้องการจะเปลี่ยนพื้นที่สาธารณะในชุมชนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปะ จึงจัดเวิร์คช็อปสอนการพ่นสีตามกำแพงแบบสตรีทอาร์ต (กราฟิตี้) ให้กับผู้สูงอายุ
• สนุกคิดในท้องทุ่ง โรงนา ศาลาชุมชน เพราะความรู้ที่ไกลตัวเกินไป ทำความเข้าใจและนำมาใช้ได้ยาก ทำให้หลายคนหันมาหาแหล่งความรู้ในชุมชนที่สามารถอยู่ดี กินดี มีความสุขเพียงพอ
ยกตัวอย่าง ศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ จ.น่าน ห้องสมุดสีเขียวที่ต้องการจะอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์พืชพื้นบ้าน และส่งเสริมการเกษตรแบบเกษตรอินทรีย์ โดยจัดทำแปลงเรียนรู้ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การเลี้ยงปลาในบ่อดิน การเลี้ยงไก่บนบ่อปลา การปลูกพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพร ใช้พลังงานจากจักรยานปั้มน้ำ การใช้สารอินทรีย์ การผลิตปุ๋ยชีวภาพ และจัดตั้งศูนย์รวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นเมือง และโรงเรียนชาวนา เพื่อร่วมเป็นอาสาสมัครรักษาพันธุ์ข้าว
นอกจาก 3 แนวโน้มแหล่งการเรียนรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 แล้ว ยังมีพื้นที่แห่งความรู้ในศตวรรษที่ 21 อีกรูปแบบหนึ่งผ่านการถอดประสบการณ์จากผู้รู้ ในงานสัมมนามหกรรมความรู้ครั้งที่ 5 (OKMD Knowledge Festival) "มันส์สมอง | พื้นที่แห่งความรู้ในศตวรรษที่ 21" ในวันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม 2559 ตั้งแต่เวลา 11.30 – 18.00 น. ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ชั้น 7 ศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน กรุงเทพฯ