กรุงเทพฯ--25 ธ.ค.--ศูนย์ประชาสัมพันธ์ มพช.
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุการดำเนินงานมาตรการมพช. ในขวบ 1 ปี โครงการพัฒนาขีดความสามารถให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นโครงการที่ได้รับผลดีที่สุด ขณะที่โครงการไทยเที่ยวไทยและท่องเที่ยวเกษตร จะส่งผลดีในระยะยาว1 ปี
รศ.ดร.วัฒนา วงศ์เกียรติรัตน์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการติดตามและประเมินผลกล่าวว่า 1 ปีของการดำเนินงานมาตราการ มพช.นั้น โครงการที่ได้รับผลดีที่สุดจากทั้งหมด 5 โครงการภายใต้มาตรการฯ คือ โครงการพัฒนาขีดความสามารถให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
"ผลที่ได้จากการประเมินนั้นยึดหลักการทำงานใน 3 ด้าน คือ Out-put, Out-come และผลกระทบต่อสังคม ซึ่งโครงการพัฒนาขีดความสามารถให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถดำเนินงานได้ตามเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาคนว่างงาน รวมถึงการกำหนดแผนงานและการจัดการขององค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ที่สำคัญยัง มีการศึกษาความต้องการของชาวบ้านเพื่อการกำหนดแผน กำหนดกิจกรรม และการตรวจสอบผลอย่างชัดเจน"
ส่วนโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนเมืองและชนบทนั้น ในหลักการเป็นโครงการที่ดีมาก เพราะมุ่งช่วยเหลือผู้เดือดร้อนโดยตรง จึงเป็นโครงการที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงบประมาณให้เบิกเงินได้ครบเป็นโครงการแรก แต่เนื่องจากยังมีจุดอ่อนในเรื่องข้อมูลบัญชีรายชื่อของชุมชนที่เดือดร้อน ทำให้การกระจายเงินมีความล่าช้า
สำหรับโครงการไทยเที่ยวไทยและท่องเที่ยวเกษตร และโครงการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทในศาล จากการประเมินพบว่า ยังมีความล่าช้าในเรื่องการจัดทำแบบและจัดซื้อ จัดจ้าง จึงทำให้งานส่วนที่จะตามมาต้องล่าช้าออกไปด้วย
"ในส่วนของโครงการไทยเที่ยวไทยฯ นั้น ปัญหาที่พบเกือบทุกพื้นที่โดยเฉพาะด้านสิ่งก่อสร้าง ไม่ได้มีการกำหนดแผนว่าจะใช้ประโยชน์จากสิ่งก่อสร้างอย่างไร และไม่มีแผนการบำรุงรักษา ส่วนการฝึกอบรม เพื่อให้เกษตรกรเป็นผู้นำเที่ยวในชุมชนยังมีน้อยมาก ซึ่งควรส่งเสริมให้มากขึ้นในอนาคต"
ส่วนโครงการไกล่เกลี่ยฯ นั้นสามารถช่วยลดจำนวนคดีและเวลาในการพิจารณาคดีได้มาก อีกทั้งยังมีการกระจายศูนย์ไกล่เกลี่ยฯไปยังศาลจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งในส่วนนี้มีอุปสรรคในด้านการจัดหาครุภัณฑ์ยังไม่สอดคล้องกับขนาดพื้นที่ของศูนย์ จึงยังไม่สามารถใช้พื้นที่ในศูนย์ได้เต็มที่ ส่งผลให้การยุติคดียังต้องดำเนินหน้าบัลลังก์ศาลจังหวัดเป็นส่วนใหญ่
ในส่วนของโครงการเพิ่มขีดความสามารถ ที่มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพหน่วยงานภาคราชการให้สามารถบริการประชาชนให้รวดเร็วขึ้น รวมถึงการจัดทำระบบฐานข้อมูลใหม่นั้น พบว่าส่วนราชการส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีการพัฒนาฐานข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การดำเนินงานในส่วนนี้จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเป็นการพัฒนาฐานข้อมูลเดิมให้เสร็จสิ้นก่อน แต่จุดดีของโครงการนี้คือ การจ้างผู้จบปริญญาตรีไปเป็นผู้ช่วยสอนนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ซึ่งได้ประโยชน์มาก
ในภาพรวมพบว่า มาตรการนี้สามารถลดปัญหาการว่างงาน ส่วนในระยะยาวสิ่งก่อสร้างจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว ขณะที่การพัฒนาฐานข้อมูล จะเป็นรากฐานการพัฒนาในระยะต่อไป
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ มพช.
โทร. 0-2279-7937 , 0-2616-2214-5--จบ--
-อน-