กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--นิด้าโพล
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ และคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "ชีวิตคนไทยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 26 – 30 พฤศจิกายน 2559 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,299 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับชีวิตคนไทยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในด้านต่าง ๆ ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4
จากการสำรวจ เมื่อถามถึงการรับรู้ข้อมูลของประชาชนเกี่ยวกับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านการทำประชามติ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 20.10 ระบุว่า เคยอ่านและเคยได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านการทำประชามติ ร้อยละ 34.75 ระบุว่า ไม่เคยอ่านแต่เคยได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านการทำประชามติ ขณะที่ร้อยละ 42.37 ระบุว่า ไม่เคยอ่านและไม่เคยรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านการทำประชามติ และร้อยละ 2.78 ไม่สนใจร่างรัฐธรรมนูญ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อ สิทธิเสรีภาพของคนไทย ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (เฉพาะผู้ที่เคยอ่าน และ/หรือได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฯ จำนวน 1,261 คน) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 50.04 ระบุว่า สิทธิเสรีภาพของคนไทยจะดีขึ้น รองลงมา ร้อยละ 31.40 ระบุว่า สิทธิเสรีภาพของคนไทยจะเหมือนเดิม (ไม่ดีขึ้นและไม่แย่ลง) ร้อยละ 9.44 ระบุว่า สิทธิเสรีภาพของคนไทยจะแย่ลง และร้อยละ 9.12 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริการสาธารณะ (เฉพาะผู้ที่เคยอ่าน และ/หรือได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฯ จำนวน 1,261 คน) เช่น การศึกษา การสาธารณสุข สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.59 ระบุว่า การบริการสาธารณะจะดีขึ้น รองลงมา ร้อยละ 29.74 ระบุว่า การบริการสาธารณะจะเหมือนเดิม (ไม่ดีขึ้นและไม่แย่ลง) ร้อยละ 7.45 ระบุว่า การบริการสาธารณะจะแย่ลง ร้อยละ 0.24 ระบุว่า การบริการสาธารณะบางอย่างก็จะดีขึ้น บางอย่างก็จะแย่ลง และร้อยละ 6.98 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อความสุจริตและความเที่ยงธรรมในการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (เฉพาะผู้ที่เคยอ่าน และ/หรือ ได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฯ จำนวน 1,261 คน) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.20 ระบุว่า ความสุจริตและเที่ยงธรรมในการเลือกตั้งจะมีมากขึ้น รองลงมา ร้อยละ 37.59 ระบุว่า การเลือกตั้งจะเหมือนเดิม (ไม่ดีขึ้นและไม่แย่ลง) ร้อยละ 7.69 ระบุว่า ความสุจริตและเที่ยงธรรมในการเลือกตั้งจะลดลง และร้อยละ 9.52 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อพฤติกรรมของนักการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (เฉพาะผู้ที่เคยอ่าน และ/หรือได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฯ จำนวน 1,261 คน) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.05 ระบุว่า เราจะได้นักการเมืองมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น รองลงมา ร้อยละ 33.78 ระบุว่า เราจะได้นักการเมืองมีพฤติกรรมที่เหมือนเดิม (ไม่ดีขึ้นและไม่แย่ลง) ร้อยละ 4.13 ระบุว่า เราจะได้นักการเมืองมีพฤติกรรมที่แย่ลง และร้อยละ 9.04 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อรัฐบาลใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอดีต (เฉพาะผู้ที่เคยอ่าน และ/หรือ ได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฯ จำนวน 1,261 คน) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.31 ระบุว่า ประเทศไทยจะได้รัฐบาลใหม่ที่ดีกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอดีต รองลงมา ร้อยละ 27.75 ระบุว่า ประเทศไทยจะได้รัฐบาลใหม่ที่ไม่ดีขึ้นและไม่แย่กว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอดีต ร้อยละ 5.95 ระบุว่า ประเทศไทยจะได้รัฐบาลใหม่ที่แย่กว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอดีต และร้อยละ 14.99 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.74 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.36 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.27 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.49 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.14 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 53.33 เป็นเพศชาย ร้อยละ 46.59 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.09 เป็นเพศทางเลือก
ตัวอย่าง ร้อยละ 5.70 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 14.53 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 22.44 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 35.32 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 20.53 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 1.48 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่างร้อยละ 93.48 ระบุว่า นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.70 ระบุว่า นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.22 ระบุว่า นับถือศาสนาคริสต์/ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 1.61 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่าง ร้อยละ 18.18 ระบุว่าสถานภาพโสด ร้อยละ 76.16 สมรสแล้ว ร้อยละ 3.74 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 1.91 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 30.23 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 26.84 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.26 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 27.01 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 6.09 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และ ร้อยละ 2.57 ไม่ระบุการศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 12.57 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 11.44 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 21.49 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 17.27 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.18 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 17.31 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 1.83 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.04 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 2.87 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 15.48 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 22.97 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 24.01 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 11.57 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 7.05 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 9.83 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า มากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 9.09 ไม่ระบุรายได้