กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้ส่งเสริมและผลักดันให้เกษตรกรและประชาชน มีการทำบัญชีรับ-จ่ายในครัวเรือนมาอย่างต่อเนื่อง โดยสร้างครูบัญชีอาสาหรือ"อาสาสมัครเกษตรด้านบัญชี"ซึ่งเป็นบุคลากรสำคัญที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ในการเป็นวิทยากร วิทยากรผู้ช่วย เพื่อสอนแนะ กระตุ้นการเรียนรู้ และติดตามผลการทำบัญชีของเกษตรกร รวมถึงการสร้างเครือข่ายถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรในชุมชนของตนและพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกันระหว่างกรมตรวจบัญชีสหกรณ์และครูบัญชี ได้ช่วยเสริมสร้างให้เกษตรกรได้ใช้บัญชีไปใช้วิเคราะห์ต้นทุนการประกอบอาชีพ เพื่อวางแผนธุรกิจในครัวเรือนของตนได้
นางบริสุทธิ์ เปรมประพันธ์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้ดำเนินการส่งเสริมองค์ความรู้ทางบัญชีสู่เกษตรกรโดยผ่านสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ทั่วประเทศและเครือข่ายครูบัญชีอาสา เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้และเข้าใจในการนำระบบบัญชีไปใช้ในการบริหารจัดการภาคการเกษตรได้อย่างเหมาะสม สมดุล และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการทำการเกษตรได้มั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน โดยนำระบบบัญชีมาเป็นคู่มือในการพัฒนาตนเองจากเกษตรกรทั่วไป ขึ้นเป็นนักเกษตรยุคใหม่หรือผู้ประกอบการภาคการเกษตรที่คิดเป็นระบบ สู่การวางแผน การผลิต การเพิ่มมูลค่า การตลาด และการต่อยอดโอกาส เป็นผู้บริหารจัดการการเกษตรอย่างครบวงจรด้วยระบบบัญชี ซึ่งที่ผ่านมา กรมฯ ได้นำระบบบัญชีไปวางรากฐานเปรียบเป็นภูมิคุ้มกันและเป็นคู่มือชีวิตให้กับกลุ่มเป้าหมายไว้ใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการธุรกิจ การประกอบสัมมาชีพ และการดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยส่งเสริมให้ประชาชนนำบัญชีไปใช้สร้างเป็นภูมิคุ้มกันให้กับชีวิตอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบันกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มีครูบัญชีอาสาทั่วประเทศ จำนวน 10,026 คน ซึ่งล้วนเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และมีความเชี่ยวชาญในการประกอบอาชีพด้านการเกษตรควบคู่กับการนำบัญชีไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน จนสามารถนำข้อมูลทางบัญชีไปใช้ในการวางแผนประกอบอาชีพ และถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เครือข่ายในชุมชนให้มีความเข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกัน พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน เป็นต้นแบบให้เกษตรกรได้ใช้เป็นแนวทางการประกอบอาชีพ
นางขนิษฐา มะโนสมบัติ หรือครูรุ่ง อายุ 43 ปี ครูบัญชีดีเด่น รองชนะเลิศอันดับ 2 ประจำปี 2558 จากจังหวัดเชียงราย นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดีของครูบัญชีที่น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาใช้แก้ไขปัญหาในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ โดยนำระบบบัญชีมาใช้เป็นเครื่องมือให้เข้าถึงแก่นแท้ของความพอเพียง และวิเคราะห์ข้อมูลทางบัญชีบริหารจัดการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ บนพื้นที่พักอาศัยจำนวน 53 ตารางวา ผลิตอาหารปลอดภัยที่มั่นคงในครัวเรือนและขยายผลเป็นแนวทางในการสร้างแหล่งอาหารปลอดภัยของชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จนเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม
ครูรุ่ง เล่าถึงความเป็นมาก่อนจะมาเป็นครูบัญชีอาสาว่า เริ่มจากการเป็นแม่บ้านที่ต้องเลี้ยงลูกตามลำพังถึง 3 คน โดยอาศัยรายได้จากสามีที่ทำงานส่งมาให้จากต่างประเทศ มาใช้จ่ายจุนเจือครอบครัว แต่เพราะไม่เคยวางแผนบริหารจัดการทางการเงิน ประกอบกับการใช้จ่ายเงินอย่างฟุ่มเฟือย ติดการพนัน ทำให้มีเงินไม่เพียงพอ เลี้ยงดูครอบครัว ต้องไปยืมเงินจากชาวบ้าน จนไม่มีใครยอมรับ ขาดที่พึ่ง และเริ่มเจ็บป่วยสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง ป่วยทางจิตเป็นโรคเครียด มีอาการซึมเศร้า ทำร้ายลูกเป็นประจำทุกวัน และต้องเข้ารับการรักษาตัวจากหมอจิตเวช ในช่วงวิกฤตของชีวิตนี้ ครูรุ่งได้มีโอกาสเข้าศึกษาดูงานที่ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของครูบุญเป็ง จันต๊ะภา ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้มีภูมิรู้ด้านเกษตรพอเพียงและการทำเกษตรผสมผสาน ซึ่งยังเป็นอาสาสมัครเกษตรด้านบัญชี ของสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์เชียงรายอีกด้วย ซึ่งในศูนย์เรียนรู้ฯนี้ ทำให้ครูรุ่งได้เรียนรู้การนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตโดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวทางพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและรู้จักการจดบันทึกบัญชี เพื่อนำมาวิเคราะห์และวางแผนการใช้จ่ายเงินในครอบครัวและในการประกอบอาชีพ
หลังจดบันทึกบัญชีได้ 3 เดือน ครูรุ่งได้วิเคราะห์ถึงรายจ่ายในครอบครัว ซึ่งส่วนใหญ่คือ ค่ากับข้าว และค่าใช้จ่ายสิ่งของฟุ่มเฟือย จึงเกิดแรงบันดาลใจในการน้อมนำพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้พลิกชีวิต โดยใช้การ "ระเบิดจากข้างใน" ลงมือสร้างพื้นที่การเกษตรในบริเวณบ้านที่มีเพียง 53 ตารางวาของตนเอง ให้เป็นตลาด ริมรั้ว ครัวริมบ้าน ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ทั้งไก่ เป็ด หมู ปลาและกบ โดยผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองจากวัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติ คือ การนำดิน แกลบ ที่อยู่ในคอกหมู เล้าไก่ มาทำเป็นปุ๋ย อีกทั้งสร้างบ่อจำกัดวัชพืชและเศษอาหารภายในบ้าน ทำให้ปราศจากมลภาวะซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต จากคนที่ไม่เคยทำงานและล้มเหลวในชีวิต ก็มีความสุขจากการทำงานในพื้นที่การเกษตรของตนเอง มีผลผลิตที่ได้จากพืชที่ปลูกและสัตว์ที่เลี้ยงไว้ ซึ่งผลผลิตที่ได้ก็นำไปเป็นวัตถุดิบปรุงอาหารในครัวเรือน เปรียบเสมือนเป็น "ตู้เย็น" ของครอบครัว ที่สามารถนำไปใช้ได้ ไม่ต้องเสียเงินซื้อ อีกทั้ง ยังแบ่งปันผลผลิตนี้ให้กับคนในชุมชนโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เป็น"ซุปเปอร์มาร์เก็ตที่มีชีวิต"ที่พร้อมเปิดต้อนรับผู้ที่มาเยือนอยู่เสมอ เมื่อเหลือจากรับประทานเองและแบ่งปันให้คนในชุมชนแล้ว จึงค่อยนำไปจำหน่าย สร้างรายได้ให้กับครอบครัว ทำให้มีเงินเก็บออมมากขึ้นด้วย
ในปี 2552 ครูรุ่งได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาภูมิปัญญาทางบัญชีสู่ต้นทุนอาชีพของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และได้สมัครเป็นอาสาสมัครเกษตรด้านบัญชี(ครูบัญชี) เพราะเห็นความสำคัญของการจดบันทึกบัญชีทั้งบัญชี รับ–จ่ายในครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพ ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้การทำบัญชีและการดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้กับผู้ที่มาศึกษาดูงานที่พื้นที่การเกษตรในบริเวณบ้าน ที่ได้ถูกพัฒนาให้เป็น"ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง 53 ตารางวา แก้จน"แหล่งศึกษาดูงานขนาดย่อม ที่พร้อมเปิดต้อนรับผู้ที่สนใจมาเรียนรู้วิถีการทำการเกษตรแบบพอเพียง และการทำบัญชีรับ-จ่ายในครัวเรือน และบัญชีต้นทุนอาชีพ เพื่อใช้วิเคราะห์วางแผน การใช้จ่ายเงินในครัวเรือนและในการประกอบอาชีพ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ปลดหนี้ มีเงินออม
ปัจจุบันครูรุ่ง มีผลงานส่งเสริมให้ประชาชนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ มีบทบาทหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครอง ฟื้นฟูการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งครูรุ่งได้บอกว่า การจดบันทึกบัญชีเปรียบเสมือนเส้นทางเศรษฐี ที่จะทำให้ชีวิตของคนที่ทำจริง ปฏิบัติจริง มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งหากเราปรับเปลี่ยน ชีวิตก็สามารถเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้
"จากชีวิตล้มเหลวที่ไม่มีใครยอมรับ ขาดที่พึ่ง เราก็หันมามองตัวเอง เริ่มต้นทำทุกสิ่งที่ในหลวงสอน มาปรับใช้กับชีวิต ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ครอบครัวมีความมั่นคงทางอาหาร มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ มีรายได้และมีเงินเหลือเก็บออม เศรษฐกิจในครัวเรือนก็ดีขึ้น ถ้าคุณอยากมีชีวิตที่ดีขึ้นในการประกอบอาชีพต่างๆ แต่หากไม่มีบัญชีมาเป็นตัวชี้นำ ชี้วัดแล้ว ก็หาความสำเร็จได้ยากมาก เพราะเราจะไม่รู้ที่มาที่ไป แต่สำหรับดิฉันได้รู้อย่างถ่องแท้แล้วว่า การทำบัญชีมีประโยชน์มากแค่ไหน สำคัญที่สุดคือ ครอบครัวได้แม่คนใหม่ที่มีคุณภาพ เป็นแบบอย่างให้กับลูกๆ ได้ทุกเรื่อง ทั้งเรื่องการทำบัญชี และการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ฉะนั้น ถ้าทุกคนเข้าใจและนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ประเทศชาติจะมั่นคงและยั่งยืนแน่นอน"นางขนิษฐา กล่าว.