กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--ประชาสัมพันธ์เฉพาะกิจ
ถ้ามีใครสักคนยื่นแผ่นอะคริลิค (Acrylic) มาให้คุณพร้อมกับบอกว่า "ช่วยแปรรูปแผ่นอะคริลิคให้เป็นหอไอเฟลของฝรั่งเศสภายใน 7 วัน 3 วัน 1 วัน 6 ชั่วโมง คุณจะทำได้ไหม" คำตอบที่ได้คือความไม่แน่ใจจากหลายปัจจัยประกอบ แต่เมื่อได้เห็นหอไอเฟลอันสวยงามน่าทึ่งจากแผ่อะคริลิคนั้น ก็ได้รับคำตอบว่า "นี่คือประดิษฐกรรมที่สร้างสรรค์จากFab Lab"
"เมืองไทยยังขาดเรื่องวิศวกรรมอย่างมาก กระทรวงวิทย์ฯ กำลังจะทำเรื่อง สะเต็ม (STEM) โดยเฉพาะ E Engineering สิ่งแรกที่จะทำคือ 'ห้องประดิษฐกรรม' หรือ Fab Lab (Fabrication Laboratory) ใครอยากเข้าไปทดลองอะไร ทดลองได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นแล็บเคมี แล็บชีวะ แล็บฟิสิกส์ แล้วเราก็จะแนะนำให้สถานศึกษานำไปใช้ เมื่อได้ตรงนี้แล้วความคิดสร้างสรรค์ก็จะตามมาเอง"
(รายการเดินหน้าประเทศไทย 13 มกราคม 2559)
"Fab Lab" ที่ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงนั้น ยิ่งเพิ่มแรงบันดาลใจให้กับคุณพงศกร วชิรขจร (Solutions Specialist for Fabrication Lab, Design Lab and 4.0 Lab) แห่ง บริษัท อินแคมเทค จำกัด (INCAMTEC) ว่า ถึงเวลาแล้วที่ตนเองจะได้แบ่งปันความรู้เกี่ยวกับ Fab Lab ต่อความคาดหวังที่อยากจะเห็นการสร้างคนหรือสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน Fab Lab ในการพัฒนาการศึกษาของไทยรวมทั้งในเชิงธุรกิจการค้า เพื่อต่อยอดไปสู่การนำความรู้เรื่องนี้ไปใช้ประโยชน์ในการสร้างอาชีพและการสร้างชาติให้มั่งคั่งและยั่งยืนตามแนวนโยบาย "ไทยแลนด์ 4.0" ของรัฐบาลปัจจุบันให้จงได้ในอีก 20 ปีข้างหน้า
"ผมคิดว่า ดร.พิเชฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทย์ฯ น่าจะเป็นคนแรกในไทย ที่พูดถึง Fab Lab อย่างชัดเจน ทำให้ผมมีแรงบันดาลใจว่าอยากจะให้ Fab Lab เกิดขึ้นในไทยได้อย่างจริงจัง ที่ผ่านมาอาจมีคนพยายามทำอยู่ แต่การจะสร้าง Fab Lab ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม เราจะต้องมีความเข้าใจ ต้องอาศัย ทักษะ ความรู้ ต้องมีความตั้งใจ มีความจริงใจและความทุ่มเทในการบริหารจัดการ Fab Lab ซึ่งเรื่องเหล่านี้สำคัญมาก สำคัญมากกว่าการมีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่สุดยอดใน Fab Lab เสียอีก Fab Lab เป็นสิ่งสำคัญมากเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการพัฒนาประเทศชาติเราให้ก้าวไปสู่ยุค 4.0 เราต้องร่วมมือกันระหว่างภาครัฐที่มีบุคลากร ครูอาจารย์ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม สถาปนิก วิศวกร นักออกแบบ ดีไซน์ ไอเดีย เป็นคนถ่ายทอดไปสู่การเรียนรู้และฝึกทักษะให้กับเด็กเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา มาจับมือกับภาคธุรกิจเอกชนที่ให้ความเชื่อมั่นได้ว่ามีเครื่องมืออุปกรณ์ที่มีคุณภาพทั้ง Hardwares (อุปกรณ์และเครื่องมือ) และ Softwares (โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับออกแบบ เขียนแบบต่างๆ) ที่ได้มาตรฐาน เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสหรัฐอเมริกาเป็นจุดเริ่มต้นของ Fab Lab เป็นผู้พัฒนาอุปกรณ์ เครื่องมือ ตลอดจนโปรแกรมต่างๆ ที่ได้มาตรฐานสำหรับ Fab Lab หลายๆ ท่านอาจไม่ทราบว่า Fab Lab เกิดขึ้นที่ 'ศูนย์บิตและอะตอม' ในมหาวิทยาลัย MIT สหรัฐอเมริกา กว่า 20 ปีมาแล้ว ปัจจุบันนี้ก็พัฒนาต่อยอดกันไปไกลทั่วโลก แต่คงเป็นเรื่องใหม่ของบ้านเราเมืองเรา โดยเฉพาะ Fab Lab ที่น่าจะเกิดขึ้นได้ในสถานศึกษาตั้งแต่ระดับเด็กเล็ก 9-10 ขวบไปจนถึงมหาวิทยาลัย Fab Lab ในสหรัฐอเมริกา มีให้เห็นได้ในห้องสมุดประชาชน อยู่ในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย แต่ในเมืองไทยอาจยังไม่เป็นรูปธรรมมากนัก แต่ผมก็ยังเชื่อมั่นว่าการศึกษาไม่ควรเป็นเรื่องที่ปิดกั้นการเรียนรู้ หรือไม่ควรมีชนชั้นช่องว่าง แต่ต้องลดความเหลื่อมล้ำให้ได้มากที่สุด
ความรู้ Fab Lab ในเชิงการศึกษานั้น ผมคิดว่า Fab Lab จะมีประโยชน์มากในการสร้างคนที่จะนำไปสู่การสร้างอาชีพและสร้างชาติได้ในยุคไทยแลนด์ 4.0 ตัวอย่างแผ่นอะคริลิคที่แปรรูปเป็นเป็นหอไอเฟลนั้น ทำได้ด้วย Fab Lab เพียง 3 ชั่วโมง แต่จะทำได้ก็ต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็น ต้องรู้โปรแกรม แต่นั่นไม่เท่ากับสิ่งที่เราจะต้องต่อยอดประดิษฐกรรมนี้ เช่น หอไอเฟลนี้ทำอย่างไรถึงจะพับได้ จะทำให้พับได้ต้องอาศัยคนหรือบุคลากรที่มีความรู้มีทักษะที่จะทำได้ ผมมีเครื่องมือ คือเครื่องที่จะตัดหรือแปรรูป ขึ้นรูปชิ้นงานจากแผ่นอะคริลิค ผมมีโปรแกรมมีซอร์ฟแวร์ แต่การพับหอไอเฟลให้ได้มันคืออะไรถ้ามองในมุมของคนที่จบวิศวะมาเหมือนผม ผมต้องใส่ joint ใส่ข้อต่อบานพับเข้าไปเพื่อให้สิ่งประดิษฐ์หอไอเฟลนี้หักงอหรือพับเก็บได้ แต่ก็ต้องมีคนออกแบบใส่ไอเดียให้ ใส่ความรู้ด้านเทคนิควิศวะ งานแบบนี้เด็กอาชีวะ เด็กเทคนิค เด็กวิศวะ สถาปัตย์มีความสามารถที่จะทำได้แน่นอน เด็กเหล่านี้คือคนที่จะมาต่อยอดเป็นความหวังใหม่ในเชิงการศึกษาอย่างแท้จริง ผมว่าการทำ Fab Lab ไม่ใช่เรื่องง่ายทีเดียวเพราะเราขาดบุคลากรที่อยู่ในแล็บ ซึ่งบุคลากรเหล่านั้นต้องมีทักษะหลายอย่าง เช่น ความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ การเป็นคนที่มีหัวศิลปะ มีความรู้วิศวะเบื้องต้น ผมคิดว่าเราควรต้องเริ่มจากการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ให้เกิดกับเด็กเยาวชน เราต้องเริ่มสนับสนุนให้จินตนาการของเด็กเกิดขึ้นได้จริง เพราะจินตนาการไม่มีที่สิ้นสุด เช่นให้เด็ก 9 ขวบทดลองฝึกใช้ซอฟท์แวร์ Tinkercad เรียนรู้การเอารูปทรงเรขาคณิตมาประกอบเป็นสิ่งต่างๆ เช่นการทำตุ๊กตาหิมะ (สโนว์แมน) ที่ต้องรู้ว่ามาจากรูปทรงกลม 2 อันประกอบกัน หรือสิ่งอื่นๆ ที่เอารูปทรงวงกลม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยมมาต่อกัน
เราต้องอาศัยความร่วมมือกันจากหลายภาคส่วน ในการทำ Fab Lab ห้องปฏิบัติการ 4.0 ห้องดีไซน์ 4.0 ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการเรียนรู้และสร้างนวัตกรรม เป็นที่สำหรับการต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ในการประดิษฐ์คิดค้น เป็นแพลตฟอร์มต้นแบบทางเทคนิคเพื่อกระตุ้นผู้ประกอบการสำหรับสร้างนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์เพื่อต่อยอดในเชิงพาณิชย์ จริงๆ ควรเป็นหนึ่งในรายวิชาเรียนของเด็กยุคนี้เพราะจะเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เข้ามามีอิทธิพลกับคนรุ่นใหม่ ซึ่งจะเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาคนและสร้างความเข้มแข็งให้กับการพัฒนาชาติได้
Fab Lab ในอุดมคติ ควรมี 4 คุณสมบัติ ตามที่กล่าวไว้ใน Fab Foundation คือ
1. Free acess to the public Fab Lab ในอเมริกา มีอยู่ในโรงเรียน มหาวิทยาลัยหรือแม้กระทั่งห้องสมุดประชาชน เพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้าไปใช้อุปกรณ์ เครื่องมือ โปรแกรมต่างๆ ได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรือมีก็น้อยมากๆ หรืออาจจะมีอยู่ในบริษัทที่ทำธุรกิจงานดีไซน์งานออกแบบ เราต้องสร้างคน คล้ายกับแนวคิดเรื่อง อาชีวะสร้างชาติ ซึ่งถ้าเราเอาเรื่องนี้ไปใส่ร่วมก็จบได้เลย สร้างอาชีพและสร้างชาติได้
2. สนับสนุนและเป็นสมาชิก กฏบัตร Fab Charter
3. ต้องมี Hardwares (อุปกรณ์และเครื่องมือ) และ Softwares (โปรแกรมคอมพิวเตอร์ออกแบบต่างๆ)สำหรับใช้ใน Fab Lab ที่ได้มาตรฐานเพื่อให้สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่พัฒนาออกมามีคุณภาพและได้มาตรฐาน Hardwares (อุปกรณ์และเครื่องมือ) สำหรับ Fab Lab ที่ควรจะมี ได้แก่ Laser Cutters / 3D Printers / CNC Machines Softwares สำหรับFab Lab ควรมีโปรแกรมออกแบบพื้นฐานเป็นอย่างน้อย
4. ต้องมีส่วนร่วมในเครือข่าย Fab Lab ทั่วโลก นั่นคือคุณไม่สามารถแยกตัวเองทำงานประดิษฐ์คิดค้นเองโดดเดี่ยวตามลำพัง Fab Lab เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและโลกที่จะแบ่งปันความรู้ร่วมกัน"
ขณะเดียวกัน Fab Lab ก็มีประโยชน์ในเชิงธุรกิจการค้าด้วยเช่นกัน เราสามารถสร้างชิ้นงานต้นแบบได้อย่างรวดเร็ว เช่น การทำชิ้นงานต้นแบบรองเท้าคู่หนึ่งโดยเริ่มจากใช้เครื่องสแกน 3 มิติ แล้วใช้โปรแกรมช่วยปรับแต่ง ขึ้นแบบโดยใช้เครื่องพิมพ์สามมิติ (3D Printer) จนได้เป็นรองเท้าต้นแบบ (Prototype) ทั้งกระบวนการใช้เวลาทำ 24 ชั่วโมงจาก Fab Labปัจจุบันเสื้อผ้าก็สามารถทำได้ด้วยเครื่อง 3D Printer เป็นวัสดุจากพลาสติกและอีลาสติก ลองคิดเล่นๆ ดูว่าถ้าเราจะทำพระปรางค์วัดอรุณให้เป็นสินค้าที่ระลึก เราจะเริ่มอย่างไรดี อย่างน้อยถ้าเรารู้ว่าในมหาวิทยาลัยมี Fab Lab เราคงไปเริ่มได้จากตรงนั้น
เมื่อเร็วๆ นี้มีงานวิจัยที่ออกมาจาก Lab ของ UC Berkeley ที่น่าสนใจมากที่สุดคือการถอดแบบแมลงสาบเป็นหุ่นยนต์ชื่อCRAM เพื่อเอาไปช่วยค้นหาผู้ที่ติดอยู่ในซากตึกถล่มเวลาเกิดแผ่นดินไหว
การดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของการให้ความรู้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาของบริษัท อินแคมเทค จำกัด ในฐานะผู้จำหน่ายฮาร์ดแวร์และซอร์ฟแวร์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับ Fab Lab ทั้งหมด (เจ้าเดียวในประเทศไทย) นั้นได้คำนึงถึงการสร้างคน สร้างอาชีพ สร้างชาติที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาชาติ
"ผมยินดีที่จะแลกเปลี่ยนความรู้นี้กับสถาบันการศึกษาต่างๆ อย่างเต็มที่ เพราะอยากให้เด็กไทยได้เอาจุดแข็งของความเป็นคนไทยคือเรื่องของจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์มาใช้ ซึ่งผมว่าเราไม่แพ้ชาติใดในโลก แล้วเราเลือกใช้ Tools ให้ถูก ก็จะต่อยอดไปได้ถึงการสร้างคน สร้างอาชีพและสร้างชาติได้อย่างมั่งคั่งและยั่งยืนได้ในอนาคต"
ยิ่งถ้าประเทศไทยจะเป็น Thailand 4.0 Fab Lab ก็คือหัวใจและเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญมากซึ่งเราอาจจะนึกไม่ถึง เพราะแนวคิดหลักของ Fab Lab คือ "To Make (Almost) Anything" ก้าวย่างนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศไทยสู่การผลิตที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเข้มข้น และขับเคลื่อนไปสู่สังคมไทยมีนวัตกรรมสูงขึ้น