กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--การยางแห่งประเทศไทย
เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 กยท. ร่วมกับ ผู้นำเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และหน่วยงานปกครองใน จ.พัทลุง รุดลงพื้นที่มอบถุงยังชีพ บรรเทาความเดือดร้อน แก่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง จ.พัทลุง ซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติน้ำท่วม ในเบื้องต้น มีเกษตรชาวสวนยางที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยในครั้งนี้ประมาณ 17,000 ราย ซึ่งจากการสำรวจพื้นที่สวนยางที่ได้รับความเสียหายประมาณ 105,944 ไร่ ครอบคลุม 11 อำเภอใน จ.พัทลุง
ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า จังหวัดพัทลุงเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกยาง ประมาณ 900,000 แสนกว่าไร่ และมีครอบครัวชาวสวนยาง ประมาณกว่า 60,000 ครัวเรือน ซึ่งในปีนี้จังหวัดพัทลุงได้รับผลกระทบจากการที่ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง และประสบอุทกภัยครั้งนี้มากที่สุด ในเบื้องต้นมีสวนยางได้รับความเสียหายครอบคลุม พื้นที่ 12 ตำบล ใน 11 อำเภอ และบางจุดมีน้ำท่วมสูงสุดประมาณ 2 เมตร ซึ่งมีเกษตรกรชาวสวนยางที่ได้รับผลกระทบในเบื้องต้น ประมาณ 17,000 ราย คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 105,944 ไร่ จนถึงขณะนี้มีเกษตรชาวสวนยางหลายครอบครัวที่ไม่สามารถกรีดยางได้มาเป็นเวลา 15 วัน
ผู้ว่าการ กยท. กล่าวเพิ่มเติมว่า การยางแห่งประเทศไทย เร่งลงพื้นที่เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนให้แก่พี่น้องชาวสวนยางในเบื้องต้น 3 อำเภอ ได้แก่ อ.ควนขนุน อ.เขาชัยสน และ อ.ปากพยูน ประมาณ 500 ครัวเรือนที่ได้รับการช่วยเหลือในครั้งนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้น กยท. มีมาตรการในการช่วยเหลือ โดยแบ่งมาตรการออกเป็น 3 ช่วง สำหรับช่วงระยะเร่งด่วนขณะนี้ได้สั่งการให้ กยท. จังหวัดเข้าช่วยบรรเทาความเดือนร้อนแก่เกษตรกรชาวสวนยางโดยการแจกถุงยังชีพ จากนั้นในระยะหลังจากที่น้ำลดลงแล้ว กยท. จะเข้าไปในพื้นที่เพื่อประเมินและตรวจสอบความเสียหาย โดยใช้เงินกองทุนของการยางแห่งประเทศไทยเพื่อช่วยเหลือเยียวยาให้เร็วที่สุด ส่วนในระยะยาวนั้น กยท. จังหวัดในทุกพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยจะเข้าร่วมวางแผนเพื่อรับมือกับอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม การยางแห่งประเทศไทยได้มีการประสานงานกับเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและชาวบ้านในพื้นที่โดยวางแนวทางแก้ไขและรับมือกับการเกิดอุทกภัยเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
"ถุงยังชีพอาจเป็นเพียงน้ำใจเล็กน้อยจากพนักงาน กยท. ที่ร่วมใจกันเป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางซึ่งได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้ กยท. ในฐานะเป็นองค์กรที่ดูแลเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือที่กำลังประสบภัยหนาวหรือภาคใต้ที่กำลังประสบอุทกภัย กยท.จะพยายามเร่งดำเนินการทั้งในเชิงนโยบายเพื่อให้ความช่วยเหลือตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ที่ได้กำหนดไว้ และในทางปฏิบัติ กยท.ได้ดำเนินการลงพื้นที่เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนในเบื้องต้น ซึ่งต้องขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางทุกท่านมีความเข้มแข็งและนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต เพื่อให้เราอยู่ได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน" ดร.ธีธัช กล่าวทิ้งท้าย