กรุงเทพฯ--6 ก.พ.--กทม.
นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ปลัดกรุงเทพมหานคร นายอนันต์ ศิริภัสราภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักสวัสดิการสังคม นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร บรรณาธิการอำนวยการหนังสือพิมพ์ในเครือมติชน ดร.ณัฐ อินทรปาน ผู้อำนวยการฝ่ายวิเทศกิจสัมพันธ์ บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด นพ.พงษ์ศักดิ์ วิทยากร กรรมการผู้จัดการใหญ่ โรงพยาบาลกรุงเทพ นางพัธนา เทียนสุวรรณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คุณณรงค์ชัย ศิริรัตน์มานะวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ และกิจกรรมสังคม บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และ ดร.ส่งเกียรติ ทานสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ร่วมกันแถลงข่าวการจัดงาน “ดนตรีในสวนปีที่ 8 สมัยกาลดนตรีไทย” ซึ่งจะจัดขึ้นทุกวันอาทิตย์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ. - 29 เม.ย.44 รวม 12 ครั้ง ระหว่างเวลา 17.30-19.30 น. ณ บริเวณสวนปาล์ม สวนลุมพินี สำหรับวันเสาร์ที่ 10 ก.พ.44 บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด สนับสนุนการจัดการแสดงของวงดนตรีสุนทราภรณ์เป็นรอบพิเศษเพิ่มอีก 1 รอบด้วย
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครร่วมกับหนังสือพิมพ์มติชน และภาคเอกชนต่าง ๆ ได้สนับสนุนการจัดดนตรีในสวนมาจนถึงปีนี้เป็นปีที่ 8 แล้ว เมื่อวันที่ 4 ก.พ.44 ที่ผ่านมา ตนได้เป็นประธานปิดการแสดงคอนเสิร์ต “ดนตรีในสวน ครั้งที่ 8 สมัยกาล BSO ” ซึ่งเป็นการแสดงดนตรีสากล บรรเลงโดยวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพฯ จัดแสดงมาตั้งแต่วันที่ 17 ธ.ค.43 - 4 ก.พ.44 งานดังกล่าวนับว่าประสบความสำเร็จมีประชาชนให้ความสนใจมาชมอย่างล้นหลามทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยในปีนี้ได้มีการเลือกดนตรีให้เหมาะกับรสนิยมของผู้ฟัง หลายเพลงเป็นเพลงที่ผู้ฟังรู้จักคุ้นหู ไม่ใช่เพลงระดับสูงจนเกินไป หลังจากจบสมัยกาลดนตรีสากลดังกล่าวแล้ว ในสัปดาห์หน้าจะเป็นสมัยกาลดนตรีไทย ซึ่งจะมีวงดนตรีไทย และศิลปินที่มีชื่อเสียงมากมายหมุนเวียนกันมาแสดงให้ประชาชนชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในการนี้กทม. มีโครงการจะปรับปรุงสถานที่จัดการแสดงดนตรีบริเวณสวนปาล์มให้มีความสวยงามเหมาะสมที่จะใช้เป็นสถานที่ชมการแสดงมากขึ้น โดยจะทำเป็นคันดินลาดเอียงให้ด้านหน้าเวทีมีระดับต่ำกว่าด้านหลังซึ่งไกลจากเวที และปรับสภาพพื้นที่ให้เป็นธรรมชาติมากขึ้น นอกจากนี้ตนยังเห็นว่า วงดนตรีไทยของกทม. ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่ามีความสามารถ มีครูเพลงเก่ง ๆ หลายคนที่พร้อมจะถ่ายทอดความรู้ด้านดนตรีไทย กทม.จึงมีโครงการในอนาคตที่จะเปิดสอนดนตรีไทยขั้นพื้นฐาน เพื่อให้คนรุ่นหลังได้สืบสานศิลปะด้านนี้ต่อไป
ด้านปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า รายการแสดงในงานดนตรีในสวนปีที่ 8 สมัยกาลดนตรีไทย ประกอบด้วย วันเสาร์ที่ 10 ก.พ.44 เป็นการแสดงของวงดนตรีสุนทราภรณ์ ซึ่งบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ให้การสนับสนุนจัดขึ้นเป็นรอบพิเศษ วันที่ 11 ก.พ.44 ชมการแสดงของ “วงบอยไทย” กลุ่มนักดนตรีรุ่นใหม่ไฟแรงที่มีความสามารถในการประยุกต์เครื่องดนตรีไทยและสากลเข้าด้วยกันอย่างลงตัว ร่วมด้วยวงกลอง “ยกรบ” วันที่ 18 ก.พ.44 เป็นการแสดงของวงดุริยางค์เยาวชนไทย (สังกัดสวช.) ซึ่งเป็นวงน้องของ BSO วันที่ 25 ก.พ.44 พบกับสุรชัย จันทิมาธร และมงคล อุทก วันที่ 4 มี.ค.44 พบกับ พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ วันที่ 11 มี.ค.44 พบกับพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ วันที่ 18 มี.ค.44 เป็นการแสดงของวง Mahidol Symphonic Band (ควบคุมวงโดย อ.สุกรี เจริญสุข) วันที่ 25 มี.ค.44 วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 1 เม.ย.44 พบกับ เทวัญ ทรัพย์แสนยากร และวง TEWAN NOVAL JAZZ วันที่ 8 เม.ย.44 ชมการแสดงปี่พาทย์ประชันวง วันที่ 15 เม.ย.44 การแสดงหุ่นละครเล็ก คณะ “โจหลุยห์” ครูสาคร ยังเขียวสด (ศิลปินแห่งชาติ) วันที่ 22 เม.ย.44 การแสดงปี่พาทย์ กทม. (วงปี่พาทย์มอญ) และในวันที่ 29 เม.ย.44 ปิดท้ายสมัยกาลดนตรีไทยด้วยวงดนตรีคาวบอย คาราวานกองเกวียนแบบไทย ๆ คณะเพชร พนมรุ้ง นอกจากนี้กทม.จะทำการปรับปรุงฟลอร์ลีลาศที่สวนลุมพินี ให้มีความแข็งแรงเพื่อให้ประชาชนใช้ออกกำลังกายด้วยการเต้นลีลาศเพื่อสุขภาพ และมีสถานที่ที่คนกรุงเทพฯจะได้ทำกิจกรรมร่วมกัน
ผู้อำนวยการสำนักสวัสดิการสังคม กล่าวด้วยว่า หลายปีมานี้ การแสดงดนตรีในสวนเริ่มเป็นที่นิยมของประชาชน สำนักสวัสดิการสังคม จึงได้เพิ่มการจัดดนตรีในสวนขึ้นตามสวนสาธารณะต่าง ๆ อีกหลายแห่งทุกวันเสาร์ - อาทิตย์ เช่น การสัญจรไปที่สวนเบญจสิริ เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนที่อยู่ไกลจากสวนลุมพินี การจัดดนตรีในสวนนับเป็นการใช้ประโยชน์จากสวนสาธารณะเพื่อให้ประชาชนได้ผ่อนคลายความตึงเครียด จุดประกายให้คนหันมาดำเนินกิจกรรมที่ช่วยเหลือสังคมมากขึ้น จะส่งผลในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชาวกรุงเทพมหานคร นอกจากโครงการดนตรีในสวนแล้ว สำนักสวัสดิการสังคมยังมีโครงการจะจัดการประกวดดนตรีโฟล์คซองในช่วงปิดภาคเรียน โดยจะเปิดให้นักเรียน - นักศึกษา ระดับมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัยได้มีโอกาสแสดงความสามารถในทางดนตรี ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และเป็นการสร้างให้กทม.เป็นเมืองแห่งดนตรีตามดำริของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครด้วย
อนึ่ง โครงการดนตรีในสวน ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน ประกอบด้วย หนังสือพิมพ์มติชน , ข่าวสด ,โรงพยาบาลกรุงเทพ, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด , บริษัท โตโยต้า , บริษัท ไอบีเอ็ม , เวิลด์โฟน 800 และ 1800--จบ--
-นศ-