กรุงเทพฯ--13 ธ.ค.--เอ็ม บี เค กรุ๊ป
'ข้าวมาบุญครอง' ผลิตภัณฑ์ในเครือ เอ็ม บี เค กรุ๊ป ผลิตและจัดจำหน่ายโดย บริษัท ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี จำกัด (มหาชน) ริเริ่มโครงการ 'ชาวนาปลูก เราช่วยขาย คนไทยช่วยกัน' ช่วยชาวนาให้ฝ่าวิกฤติข้าวราคาตกต่ำ โดยนำ 'ข้าวรวมพลัง' ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพของพี่น้องชาวนามาจัดจำหน่ายผ่านช่องทางต่างๆ ของบริษัทฯ เพื่อส่งเสริมให้เกิดแรงขับเคลื่อนในการระบายผลผลิตข้าว และเพิ่มศักยภาพให้ชาวนาในการจัดจำหน่ายข้าวถึงมือผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายสมเกียรติ มรรคยาธร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารธุรกิจเครือ เอ็ม บี เค ฟู้ด โซลูชั่น (MBK FOOD SOLUTION) กล่าวถึงต้นตอปัญหาราคาข้าวตกต่ำในปัจจุบันว่า "ผลผลิตข้าวภายในประเทศออกสู่ตลาดพร้อมกันในปริมาณมาก และการส่งออกข้าวมีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากบางประเทศที่เคยนำเข้าข้าวจากไทย มีผลผลิตภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการแข่งขันด้านราคาส่งออกของประเทศเพื่อนบ้านที่ต่ำกว่าไทย จึงทำให้ราคาข้าวในประเทศลดต่ำลง"
"ขณะนี้ ชาวนาได้นำผลผลิตข้าวเปลือกมาแปรรูปเป็นข้าวสารบรรจุถุงออกมาจำหน่ายเอง แต่ยังขาดช่องทางการขาย และกลยุทธ์การตลาดที่ชัดเจน ข้าวมาบุญครอง พร้อมส่งเสริมผลิตภัณฑ์ของพี่น้องชาวนา ให้แข็งแรงผ่านตลาดและช่องทางการขายของบริษัทฯ และร้านค้าที่เป็นพันธมิตรทั่วประเทศ จึงเป็นแนวคิดในการจัดโครงการ ชาวนาปลูก เราช่วยขาย คนไทยช่วยกัน"
" 'ข้าวรวมพลัง' เป็นแบรนด์ข้าวถุงของกลุ่มพี่น้องชาวนาที่ผ่านการตรวจสอบด้านคุณภาพ แล้วนำไปจัดจำหน่าย ผ่านช่องทางการขายของข้าวมาบุญครอง โดยราคาจำหน่ายเป็นราคาต้นทุน และบริษัทฯ ไม่คิดส่วนต่างหรือกำไรใดๆ เพื่อช่วยเหลือชาวนาให้ได้รับส่วนแบ่งของรายได้อย่างเป็นธรรม รวมทั้งผู้บริโภคได้ทานข้าวที่มีคุณภาพ คาดว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นแรงขับเคลื่อน ในการระบายข้าวสารของชาวนาที่มีอยู่ โดยสามารถเพิ่มส่วนแบ่งของรายได้ไปยังกลุ่มพี่น้องชาวนาได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการประชาสัมพันธ์แบรนด์ผลิตภัณฑ์ของชาวนาให้เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้บริโภค ซึ่งนับเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับแบรนด์ 'ข้าวรวมพลัง' และสนับสนุนให้ข้าวของชาวนาสามารถแข่งขันในตลาดยุคปัจจุบันได้ จึงเป็นวิธีการช่วยเหลือชาวนาอย่างยั่งยืน" นายสมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติม
นางสาวพิมลรัตน์ จิตต์ภาวนาสกุล ผู้ช่วยกรรมการใหญ่สายขายและโลจิสติกส์ เปิดเผยว่า "สำหรับโครงการ ชาวนาปลูก เราช่วยขาย คนไทยช่วยกัน ได้เปิดพื้นที่บริเวณศูนย์อาหาร เอ็ม บีเ ค ฟู้ด ไอแลนด์ ชั้น 6 ภายในศูนย์การค้า เอ็ม บี เ ค เซ็นเตอร์ เป็นตลาดนัดชาวนา ให้ชาวนานำข้าวสาร และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวมาจัดจำหน่ายให้ผู้บริโภคโดยตรง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ขณะนี้เริ่มตลาดนัดชาวนาได้เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกแล้ว ในวันที่ 28พฤศจิกายน – 15 ธันวาคม 2559 และจะพิจารณาจัดเป็นประจำทุกเดือนต่อไป หากพี่น้องชาวนาสนใจร่วมออกบูธ สามารถติดต่อเข้ามาที่บริษัทฯ ได้โดยตรง ในส่วน 'ข้าวรวมพลัง' ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิบรรจุถุงของพี่น้องชาวนา เราได้นำมาจำหน่าย ร่วมกับผลิตภัณฑ์ข้าวมาบุญครอง ที่บูธจำหน่ายข้าวมาบุญครอง ทั้ง 3 แห่ง ที่ อาคารสำนักงานกลาสเฮ้าส์ อโศก ศูนย์การค้าเดอะไนน์ พระรามเก้า และศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ รวมทั้งเปิดช่องทางการขาย 'ข้าวรวมพลัง' ผ่านร้านค้าปลีก และค้าส่ง ที่เป็นพันธมิตรกับข้าวมาบุญครอง เพื่อช่วยเพิ่มช่องทางการขายให้ถึงมือผู้บริโภค และเพิ่มฐานลูกค้าของผลิตภัณฑ์พี่น้องชาวนาไทยมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ได้นำผลิตภัณฑ์ข้าวของพี่น้องชาวนาไทย มาจัดเป็นเซ็ตในแพคเกจที่สวยงาม เพื่อมอบเป็นของขวัญในวาระสำคัญต่างๆ โดยสามารถสั่งซื้อได้ที่บูธจำหน่ายข้าวมาบุญครอง และทางเฟซบุ๊กของข้าวมาบุญครอง"
นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า " 'ข้าวรวมพลัง' คือผลผลิตจากการรวมกลุ่มทำนาแปลงใหญ่ของพี่น้องชาวนาไทยทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยอยากให้ชาวนาไม่เพียงแค่ปลูกข้าวเป็น แต่อยากให้ขายเป็น เพื่อต่อยอดผลผลิต และดูแลตัวเองได้อย่างยั่งยืน จึงแปรรูปจากเดิมที่ขายข้าวเปลือกให้โรงสี เป็นผลิตภัณฑ์ข้าวสารบรรจุถุง โดยใช้หลักการทางการตลาดนำการผลิต โดยใช้โครงสร้างราคา "ห่วงโซ่คุณธรรม" ซึ่งเป็นโครงสร้างราคาที่เป็นธรรมกับทุกกลุ่มที่อยู่ในห่วงโซ่ ตั้งแต่ชาวนามีส่วนแบ่งรายได้เพิ่มขึ้น โรงสีมีรายได้จากการสีข้าว รวมทั้งรายได้จากสินทรัพย์ที่ได้จากกระบวนการสีข้าว ผู้ประกอบการค้าพอมีรายได้จากการจำหน่าย ผู้บริโภคได้ทานข้าวที่มีคุณภาพ ราคาไม่สูงเกินไป และรัฐบาลที่เป็นผู้กำกับดูแลภาพรวม จึงต้องการเชิญชวนพี่น้องชาวนาไทยให้รวมกลุ่มทำนาแปลงใหญ่ เพื่อแปรรูปสินค้า โดยศึกษาโครงสร้างการผลิต และโครงสร้างราคาจาก 'ข้าวรวมพลัง'และขอขอบคุณข้าวมาบุญครอง ที่เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงช่วยนำ 'ข้าวรวมพลัง' ออกสู่ตลาด ทำให้ข้าวของพี่น้องชาวนามีความเข้มแข็งขึ้น เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนให้ชาวนาดูแลตัวเองได้อย่างยั่งยืน"
นายทนงค์ ฉิมพันธ์ ผู้บริหารโรงสีสินทรัพย์ถาวร กล่าวว่า "โรงสีรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาตัวจริง ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่ โดยไม่ผ่านคนกลาง ตรวจสอบได้จากชื่อบัญชีธนาคาร ที่โรงสีจ่ายเงินให้กับชาวนา ต้องเป็นชื่อ นามสกุล ตรงกับใบรับรองที่ประธานกลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่แต่ละจังหวัดเซ็นรับรอง สำหรับสายพันธุ์ 'ข้าวรวมพลัง' คือข้าวหอมมะลิสายพันธุ์ 105 รวมทั้งมีการควบคุมคุณภาพเป็นข้าวคุณภาพเกรดส่งออก ตรวจสอบคุณภาพทางกายภาพ เคมีภาพ รวมทั้งการตรวจสอบ DNA ข้าวจากศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โดยราคาข้าวเปลือกที่รับซื้อ กำหนดด้วยคุณภาพข้าวอิงจากราคาข้าวเปลือกที่รัฐบาลกำหนด ทำให้มั่นใจได้ว่าผู้บริโภคจะได้ทานข้าวที่มีคุณภาพ และช่วยเหลือพี่น้องชาวนาโดยแท้จริง"นายสัตวแพทย์ธนิต เอนกวิทย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า "กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พยายามขับเคลื่อนให้เกิดนาแปลงใหญ่ โดยปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 1 พันไร่ ในปี 2560 ต้องการให้เพิ่มขึ้นเป็น 1.5 พันไร่ และ2 พันไร่ ในอนาคต เพราะช่วยควบคุมการเพาะปลูกสายพันธุ์ข้าวได้ตรงกับความต้องการของตลาด ลดต้นทุนการผลิตจากการรวมตัวกันซื้อพันธุ์ข้าว เพราะยิ่งซื้อมากราคาต้นทุนจะยิ่งลดลง รวมทั้งการควบคุมคุณภาพซึ่งชาวนาที่เข้าร่วมนาแปลงใหญ่ต้องได้มาตรฐาน จีเอ็มพี ในการนี้ได้นำเทคโนโลยี Agri - Map มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูก โดยเทคโนโลยีดังกล่าว จะช่วยคัดเลือกสายพันธุ์ข้าวมาปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสม หากพื้นที่ใดไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าว จะรณรงค์ให้ปลูกพืชชนิดอื่นร่วมด้วย เพื่อให้ชาวนามีรายได้เพิ่มมากขึ้น พร้อมจัดตั้งเป็นสหกรณ์ เพื่อร่วมแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าว เช่น หากสหกรณ์ไหนที่สามารถแปรรูปจากข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร และมีโรงสีที่ได้มาตรฐานที่สามารถทำเป็นข้าวถุง ก็สามารถดำเนินการได้
"ในส่วนของ 'ข้าวรวมพลัง' ผลผลิตจากการเกษตรนาแปลงใหญ่ ได้รวมกันผลิตเพื่อลดต้นทุนการผลิต เพื่อแปรรูป และร่วมกับโรงสีคุณธรรม พร้อมทั้งได้รับการช่วยเหลือจากภาคเอกชนที่มีความแข็งแกร่งซึ่งเป็นผู้จำหน่ายข้าวถุงในเมืองไทยและต่างประเทศ มาช่วยในการจัดจำหน่าย ต้องขอขอบคุณข้าวมาบุญครอง ที่ริเริ่มโครงการ และนำร่องในการช่วยเหลือเพื่อผลักดันผลิตภัณฑ์ของพี่น้องชาวนาออกสู่ตลาด กำไรที่ได้จากการแปรรูปที่เรียกว่า ห่วงโซ่คุณธรรม จะกลับไปสู่พี่น้องชาวนาในสัดส่วนที่เป็นธรรม" นายสัตวแพทย์ธนิต กล่าวปิดท้าย