กรุงเทพฯ--13 ธ.ค.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
สพฉ. ย้ำเร่งพัฒนามาตรฐานรถพยาบาลและรถกู้ชีพฉุกเฉินอย่างต่อเนื่อง เผยมีรถที่ผ่านการรับรองแล้วร้อยละ 71 พร้อมเดินหน้าจัดทำแอพลิเคชั่นให้ประชาชนสามารถตรวจสอบมาตรฐานรถพยาบาลได้ด้วยตนเองเพื่อความมั่นใจ
จากกรณีที่มี กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจรถพยาบาลหลายราย เรียกร้องขอความเป็นธรรม ให้ดำเนินการขึ้นทะเบียนรถพยาบาลให้ถูกต้อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ป่วยที่เรียกใช้บริการ และป้องกันปัญหารถพยาบาลที่ไม่ถูกต้อง และไม่ได้เข้าระบบนั้น
ล่าสุด นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า สพฉ. ไม่เคยนี่งนอนใจในเรื่องนี้ และเร่งพัฒนามาตรฐานของรถพยาบาลมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเข้าใจดีว่าเมื่อประสบอุบัติเหตุ หรือ เจ็บป่วยฉุกเฉิน สิ่งแรกที่ผู้ป่วยและญาติต้องการคือ การได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที โดยเฉพาะยานพาหนะ รถปฏิบัติการฉุกเฉินหรือรถกู้ชีพฉุกเฉิน รวมไปถึงบุคลากรที่มีมาตรฐาน ซึ่งจะเพิ่มความมั่นใจได้ว่า ผู้ป่วยจะได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกต้องและรวดเร็ว
และเพื่อเป็นการตอกย้ำความเชื่อมั่นให้กับประชาชน สพฉ. ยังได้ จัดทำแอพพลิเคชั่น EMS Certified ขึ้นเพื่อตรวจสอบมาตรฐานได้ด้วยตนเอง เพื่อยืนยันว่าจะได้รับบริการจากรถปฏิบัติการฉุกเฉินและรถกู้ชีพฉุกเฉินที่ได้มาตรฐาน โดยประชาชนสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนเพื่อตรวจสอบมาตรฐานรถบริการฉุกเฉิน โดยสามารถตรวจสอบได้ง่าย ๆ ดังนี้ 1. ถ่ายรูป คิวอาร์โค้ด ของรถปฏิบัติการฉุกเฉินหรือรถกู้ชีพฉุกเฉิน เพื่อนำมาสแกนในแอพพลิเคชั่น ว่าได้ผ่านการรับรองมาตรฐานจาก สพฉ. หรือไม่ 2. ตรวจสอบได้โดยการพิมพ์เลขทะเบียนรถ แล้วเลือกชื่อจังหวัดของรถคันนั้น ก็จะสามารถตรวจสอบได้ว่ารถปฏิบัติการฉุกเฉินหรือรถกู้ชีพฉุกเฉินคันดังกล่าวผ่านมาตรฐานหรือไม่
นพ.อนุชา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา สพฉ. ได้จัดให้มีการขึ้นทะเบียนและตรวจมาตรฐานรถกู้ชีพและรถพยาบาลเป็นประจำทุกปี โดยรถที่จะผ่านการรับรองมาตรฐานและหลักเกณฑ์ของระบบการแพทย์ฉุกเฉินนั้น จะต้องเป็นรถตู้หรือรถกระบะบรรทุกที่มีทะเบียนยานพาหนะถาวร มีหลังคาสูงเพียงพอที่จะทำการฟื้นคืนชีพ (CPR) ได้สะดวก ห้องคนขับและห้องพยาบาลแยกออกจากกันแต่สามารถสื่อสารกันได้ มีแสงสว่างเพียงพอที่จะทำหัตถการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ที่สำคัญคือมีที่ว่างสำหรับจัดวางเตียงพร้อมผู้ป่วยฉุกเฉินลักษณะนอนราบ และมีระบบระบายอากาศ และกระจกหลังต้องมีการติดข้อความชื่อหน่วยปฏิบัติการ หมายเลขโทรศัพท์ 1669 ด้านข้างช่วงหลังทั้งสองข้างต้องแสดงตราสัญลักษณ์ของ สพฉ. และจะต้องติดแถบสะท้อนแสงด้านข้างรถตลอดแนว
ส่วนอุปกรณ์ภายในรถถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะเป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิตในขั้นต้น โดยอุปกรณ์จะต้องจัดอยู่ในสภาพเรียบร้อย สะอาด กรณีที่เป็นสิ่งปฏิกูลหรือสิ่งที่อาจทำให้ติดเชื้อ จะต้องมีการจัดแยกให้ถูกสุขลักษณะ รวมถึงจัดให้เป็นระเบียบ เพียงพอ พร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา มีอุปกรณ์สื่อสารเพื่อใช้ในการติดต่อ มีระบบการรับสัญญาณเตือนภัย และมี อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น อาทิ เฝือกคอชนิดแข็ง (Hard collar) ไม่น้อยกว่า 3 ขนาดและสามารถปรับขนาดได้ มีเฝือกดามแขน ขา มีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลและทำแผลพื้นฐาน ถุงมือปราศจากเชื้อ สำลี ผ้าพันแผล น้ำเกลือ อุปกรณ์ล้างตา เครื่องดูดเสมหะชนิดบีบมือ ที่หนีบสายสะดือ เป็นต้น นอกจากนี้ต้องมีอุปกรณ์กู้ภัยเบื้องต้น เช่น ขวานขนาดใหญ่ เชือกคล้องตัว อุปกรณ์ยึดเหนี่ยว กรรไกรตัดเหล็กขนาดใหญ่ อุปกรณ์ดับเพลิง
"ยืนยันว่า สพฉ. ได้เร่งพัฒนามาตรฐานมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัยและการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดย สถิติการตรวจรับรองรถปฏิบัติการฉุกเฉินและรถกู้ชีพฉุกเฉินที่ผ่านมาตรฐานแล้ว มีจำนวนทั้งสิ้น 8,704 คัน จากทั้งหมด 12,242 คัน ใน 77 จังหวัด หรือคิดเป็นร้อยละ 71 และยังมีหลายจังหวัดที่กำลังเร่งดำเนินการออกใบรับรองมาตรฐานให้มีความครอบคลุมมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคาดว่าจะตรวจรับรองให้เสร็จสิ้นได้ในเร็วๆนี้" นพ.อนุชากล่าว
ส่วนการดำเนินการกับผู้ลักลอบติดสัญญาณไซเรนโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นรถปฏิบัติการฉุกเฉิน จะมีความผิด ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก 2522 มีโทษปรับ 500 บาท และหากตรวจพบจะต้องทำการยึดอุปกรณ์ไฟวับวาบ แต่หากมีการติดตั้งและเปิดสัญญาณไฟจะมีโทษปรับ 2,000-10,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ.