กรุงเทพฯ--13 ธ.ค.--กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยผลการดำเนินการสายด่วนแรงงาน ๑๕๔๖พบนายจ้าง ลูกจ้างรู้สิทธิ หน้าที่ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ข้อร้องเรียนด้านแรงงานลดลงกว่าร้อยละ ๑๖ จากปีที่ผ่านมา
นายสุวิทยา จันทวงศ์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่ากรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้จัดตั้งโทรศัพท์สายด่วน ๑๕๔๖ ขึ้น เพื่อให้บริการคำปรึกษาและรับเรื่องร้องทุกข์ด้านแรงงานจากนายจ้าง ลูกจ้าง รวมถึงประชาชนทั่วไป สำหรับผลการดำเนินงานในรอบปีงบประมาณ ๒๕๕๙ นั้นพบว่านายจ้าง ลูกจ้างให้ความสนใจโทรศัพท์มาขอคำปรึกษาเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ ๑๕.๒๗ เมื่อเปรียบเทียบกับปีงบประมาณที่ผ่านมา โดยในปีงบประมาณ ๒๕๕๘ มีผู้มาขอคำปรึกษา ๕๖,๘๐๗ ราย สำหรับปีงบประมาณ ๒๕๕๙ มีผู้ขอรับคำปรึกษา ๗๕,๘๕๕ ราย ทั้งนี้เรื่องที่ขอปรึกษาส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามพระราชบัญัติคุ้มครองแรงงาน แสดงให้เห็นว่านายจ้างและลูกจ้างให้ความสนใจในเรื่องของบทบาทหน้าที่ที่มีต่อกันตามกฎหมายเพิ่มมากขึ้น จึงเกิดความสัมพันธ์อันดีส่งผลให้ปัญหาด้านแรงงานลดน้อยลง โดยพบว่าสถิติการร้องเรียนเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของนายจ้างลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ ๑๖.๑๓ โดยในปีงบประมาณ ๒๕๕๘ มีผู้ร้องเรียน จำนวน ๓๑ ราย สำหรับปีงบประมาณ ๒๕๕๙ มีผู้ร้องเรียนจำนวน ๒๖ ราย ทั้งนี้ข้อร้องเรียนส่วนใหญ่เป็นเรื่องการจ่ายค่าจ้าง ค่าตอบแทนในการทำงาน และหากพิจารณาสถิติการรับเรื่องร้องเรียนที่ผ่านทางโทรศัพท์สายด่วน ๑๕๔๖ ย้อนหลัง ๔ ปี จะเห็นได้ว่าปัญหาการร้องเรียนในเรื่องของสิทธิประโยชน์ด้านแรงงานมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือในปีงบประมาณ ๒๕๕๖ มีผู้ร้องเรียน จำนวน ๕๙ ราย ปีงบประมาณ ๒๕๕๗ จำนวน ๓๗ ราย ปีงบประมาณ ๒๕๕๘ มีผู้ร้องเรียน จำนวน ๓๑ ราย ปีงบประมาณ ๒๕๕๙ มีผู้ร้องเรียนจำนวน ๒๖ ราย ตามลำดับ ประกอบกับข้อสังเกตจากผู้ใช้บริการที่ได้โทรศัพท์เข้ามาขอคำปรึกษาและกลับมาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าผู้ใช้บริการได้รับความรู้ ความเข้าใจในเรื่องสิทธิ หน้าที่ตามกฎหมาย รวมทั้งมีความเชื่อมั่นในการให้บริการของเจ้าหน้าที่
รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตามการให้บริการคำปรึกษาเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการใช้สิทธิตามกฎหมายในเรื่องของการคุ้มครองแรงงานนั้น นอกจากโทรศัพท์สายด่วน ๑๕๔๖ แล้ว นายจ้าง ลูกจ้าง หรือผู้สนใจยังสามารถรับบริการได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครเขต หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทั่วประเทศ