กรุงเทพฯ--13 ธ.ค.--ปตท.
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันทุกชนิดปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 3.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 54.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 2.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 50.97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 4.70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 51.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในส่วนของราคาน้ำมันสำเร็จรูป ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 4.28 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 64.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 3.94 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 61.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยบวกต่อราคาน้ำมัน
· Bloomberg รายงานการประชุมผู้ผลิตน้ำมัน Non-OPEC รวม 11 ประเทศ ที่กรุงเวียนนา เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 59 บรรลุข้อตกลงลดปริมาณการผลิตน้ำมันรวม 558,000 บาร์เรลต่อวัน โดยรัสเซียผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของNon-OPEC ลดปริมาณการผลิตสูงที่สุด 300,000 บาร์เรลต่อวัน เริ่มเดือน ม.ค.60 ทั้งนี้เมื่อรวมกับข้อตกลงลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของ OPEC ปริมาณ 1,200,000 บาร์เรลต่อวัน ทำให้อุปทานน้ำมันดิบในตลาดลดลงรวม 1,758,000 บาร์เรลต่อวัน
· Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 ธ.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.4 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 485.8 ล้านบาร์เรล
· หน่วยงานศุลกากรจีนรายงานจีนนำเข้าน้ำมันดิบในเดือน พ.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 16% มาอยู่ที่ 7.87ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ปริมาณนำเข้าเฉลี่ย 11 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2559 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 14% อยู่ที่7.53 ล้านบาร์เรลต่อวัน
· InterContinental Exchange (ICE) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 ธ.ค. 59 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับ Net Long Position เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 141,962 สัญญา มาอยู่ที่ 452,585 สัญญา
ปัจจัยลบต่อราคาน้ำมัน
· Baker Hughes Inc. รายงาน จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 9 ธ.ค. 59เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 21 แท่น มาอยู่ที่ 498 แท่น ซึ่งเป็นจำนวนแท่นผลิตมากสุดตั้งแต่เดือน ม.ค. 59
· รัฐบาลสหรัฐฯประกาศจำหน่ายน้ำมันใน Strategic Petroleum Reserve (SPR) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 – 2568 เพื่อหารายได้สำหรับงบประมาณรายจ่าย ซึ่งจะทำให้ปริมาณสำรองน้ำมันดิบใน SPR ลดลงจาก 695 ล้านบาร์เรล ในปี พ.ศ. 2560 มาสู่ 540 ล้านบาร์เรล ในปี พ.ศ. 2568 ซึ่งยังอยู่เกินระดับที่กฎหมายกำหนดที่ 450 ล้านบาร์เรล
· National Iranian Oil Co. (NIOC) บริษัทน้ำมันแห่งชาติของอิหร่านเปิดเผยว่าจะเปิดประมูลสัมปทานการขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติแหล่ง South Azadegan หลังเดือน ม.ค. 60
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 18 เดือนหลังจากการประชุมระหว่างผู้ผลิตOPEC และ Non-OPEC ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาบรรลุผลตามข้อตกลงในการปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของประเทศ OPEC โดยผู้ผลิตน้ำมันดิบ Non - OPEC ประกอบด้วย 11 ประเทศ ได้แก่ Azerbaijan, Bahrain, Brunei, Equatorial Guinea, Kazakhstan, Malaysia, Oman, Sudan, South Sudan, Mexico และ Russia จับมือกันลดกำลังการผลิตลง 558,000 บาร์เรลต่อวัน เพื่อให้สอดคล้องกับข้อตกลงในการประชุมสามัญประจำปีของ OPEC ครั้งที่ผ่านมาที่ตั้งเป้าไว้ที่ 600,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งถือว่าเป็นการร่วมมือกันครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 15 ปี สำหรับประเทศผู้ผลิต OPEC และ Non-OPEC โดย รัสเซียมีแผนปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ 300,000บาร์เรลต่อวัน ให้อยู่ที่ระดับ 10.95 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในเดือน มิ.ย. 60 นอกจากนี้รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของซาอุดีอาระเบียนาย Khalid Al-Falih เผยตัวเลขเป้าหมายปริมาณการผลิตน้ำมันดิบใหม่ที่ระดับ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าระดับที่ตกลงในวันที่การประชุมสามัญประจำปีของ OPEC ในวันที่ 30 พ.ย. 59 ที่ผ่านมา ภาพโดยรวมในปัจจุบันกลุ่มประเทศ OPEC และ Non-OPEC มีแผนลดประมาณการผลิตน้ำมันดิบในปีหน้ารวมประมาณ 1.76 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้แนวโน้มราคาน้ำมันดิบเปลี่ยนทิศทางปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ Wood Mackenzie คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ในปีหน้าจะอยู่ที่เฉลี่ย 65-70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ถ้ากลุ่มผู้ผลิตสามารถลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบได้จริงตามข้อตกลง ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 54-57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ NYMEX WTIเคลื่อนไหวที่ 50-55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ น้ำมันดิบดูไบเคลื่อนไหวที่ 51-56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้นจากข่าว Petrolimex ของเวียดนามออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซิน 92 RON และ 95 RON ปริมาณ 510,000 บาร์เรล และ 127,500 บาร์เรล ตามลำดับ ส่งมอบเดือน ม.ค. 60 ขณะที่PDVSA บริษัทน้ำมันแห่งชาติของเวเนซุเอลาออกประมูลซื้อน้ำมันสำเร็จรูปจำนวนมาก เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันภายในประเทศประสบปัญหาจนเป็นเหตุให้อัตราการกลั่นลดลง อาทิ Paraguana Refining Center (955,000บาร์เรลต่อวัน) ปัจจุบันกลั่นน้ำมันเพียง 45% ทั้งนี้ตั้งแต่เดือน พ.ย. 59 PDVSA นำเข้าน้ำมันเบนซิน และ น้ำมันดีเซลจากตลาดจรไปแล้ว 3.3 ล้านบาร์เรล และ สหภาพ FNV ในเนเธอร์แลนด์ประท้วง เรียกร้องค่าตอบแทนโดยจะลดอัตราเดินเครื่องโรงกลั่น Pernis (404,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Royal Dutch Shell ลง 50 % ในวันที่7 ธ.ค. 59 อย่างไรก็ดีการประท้วงยุติในวันที่ 12 ธ.ค. 59 ด้านปริมาณสำรองน้ำมัน International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 ธ.ค. 59ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 800,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 12.09 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Platts รายงาน Arbitrage Naphtha จากยุโรปมาเอเชียในเดือน ธ.ค. 59 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าจากเดือนก่อนหน้า และ CPC ของไต้หวันออกประมูลขาย น้ำมันเบนซิน 92 RON ปริมาณ 255,000 บาร์เรล ส่งมอบเดือน ม.ค. 60 ด้านปริมาณสำรอง PJK International B.V. รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในบริเวณAmsterdam-Rotterdam-Antwerp (ARA) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 ธ.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 3.5% มาอยู่ที่8.45 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 63-68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นจากแรงซื้อของ Pertamina ประเทศอินโดนีเซียออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล 0.03 %S จำนวน 2 เที่ยวเรือๆ ละ 50,000 บาร์เรล ส่งมอบ 15-17 ธ.ค. และ 29-31 ธ.ค. 59 และPetrolimex ของเวียดนามออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล 0.05%S จำนวน 3 เที่ยวเรือๆละ 260,000 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 1-5, 11-15 และ 16-20 ม.ค. 60 ประกอบกับจีนมีแนวโน้มยกเลิกการให้โควตาส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปแก่โรงกลั่นอิสระ (Teapot Refinery) ในปี พ.ศ. 2560 ซึ่งจะส่งผลให้โรงกลั่นอิสระต้องพึ่งพาบริษัทค้าน้ำมันของรัฐบาลในการส่งออก ด้านปริมาณสำรองน้ำมัน PJK รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในบริเวณ ARA สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 ธ.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 5.8% มาอยู่ที่ 19.66 ล้านบาร์เรล และ IES รายงานปริมาณสำรองMiddle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 ธ.ค. 59 ลดลง 1.24 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 13.66 ล้านบาร์เรล และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3ธ.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 4.2% มาอยู่ที่ 9.31 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Reuters รายงานบริษัท Winson Oilและ Hin Leong เทขายน้ำมันดีเซล 0.05%S ปริมาณรวมกว่า 3.7 ล้านบาร์เรล (ในเดือน พ.ย. 59 บริษัททั้งสองซื้อน้ำมันดีเซล รวมเกือบ 19 ล้านบาร์เรล ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลช่วงก่อนหน้าแข็งแกร่ง) สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 60-65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล