กรุงเทพฯ--14 ธ.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรฯ ร่วมจัดการประชุมเวทีข้าวไทย ปี 2559 ในหัวข้อ "การลดพื้นที่ทำนา : ผลกระทบและทางออก" เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับนโยบายการลดพื้นที่นาของภาครัฐ พร้อมเปิดเวทีให้ร่วมกันคิดวิเคราะห์และศึกษาถึงผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเปิดการประชุมเวทีข้าวไทย ปี 2559 ในหัวข้อ "การลดพื้นที่ทำนา : ผลกระทบและทางออก" ณ ห้องประชุมสุธรรม อารีกุล อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ว่า มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และองค์กรร่วมด้านข้าว 11 องค์กร ซึ่งมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าร่วม ได้แก่ กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ได้จัดงานในครั้งนี้เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับนโยบายการลดพื้นที่นาของภาครัฐ พร้อมกับเปิดเวทีให้นักวิจัย นักวิชาการ ผู้แทนภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับข้าว รวมถึงนิสิต นักศึกษา ชาวนา และบุคคลทั่วไป มาร่วมกันคิดวิเคราะห์และศึกษาถึงผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนแผนการตอบรับในนโยบายของรัฐบาล ซึ่งผลสรุปที่ได้จากการประชุมจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์เพื่อสร้างอนาคตที่ดีให้กับข้าวและชาวนาไทย
ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปี 2558 – 2559 ที่ผ่านมา ได้บูรณาการทุกหน่วยงานในสังกัดจัดทำยุทธศาสตร์ข้าวครบวงจร มีการกำหนดแผนการผลิตและการตลาดโดยการกำหนดอุปสงค์-อุปทาน การผลิต การเก็บเกี่ยว/หลังเก็บเกี่ยว การตลาดภายในประเทศ และการตลาดต่างประเทศ ซึ่งได้มีการกำหนดพื้นที่เพาะปลูกข้าวในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม จำนวน 5.7 ล้านไร่ ให้ปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน และได้ตั้งเป้าหมายในการทำนารอบ 2 และ 3 เป็นตัวตั้ง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ผลผลิตสามารถใช้ในประเทศและส่งออกได้พอดี ไม่ส่งผลต่อราคา รวมถึงพื้นที่การเพาะปลูกจะได้รับการปรับปรุง ทำให้ผลผลิตออกมาดีขึ้น เป็นการสร้างสมดุลระหว่างอุปสง-อุปทาน และรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกได้
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังได้จัดทำยุทธศาสตร์ข้าว ปี 2560 – 6564 ได้แก่ 1) การสร้างความเข้มแข็งแก่ชาวนาและองค์กรชาวนา 2) การบริหารจัดการพื้นที่ปลูกข้าวและปริมาณผลผลิตข้าวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด 3) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว 4) การยกระดับคุณภาพข้าวและมาตรฐานสินค้าข้าวและผลิตภัณฑ์ 5) การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการโลจิสติกส์ 6) การพัฒนาศักยภาพและสร้างความเป็นธรรมในระบบการค้าข้าว และ 7) การสร้างค่านิยมการบริโภคข้าว เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการผลผลิตข้าวให้ได้คุณภาพ ตรงตามความต้องการของตลาด นอกจากนี้ ยังได้มีนโยบายการสนับสนุนการพัฒนาข้าวและชาวนา โดยการทำนาแปลงใหญ่ แผนที่การบริหารจัดการการเกษตรเชิงรุก (Agri-Map) การตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ระดับอำเภอ 882 ศูนย์ การตอบสนองและเชื่อมโยงตลาด และการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร
"รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะทำงานเพื่อเกษตรกร เพราะเป็นรากฐานของคนทั้งประเทศ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐร่วมกันบูรณาการทำงานกันอย่างใกล้ชิด รวมถึงมีภาคเอกชนเข้ามาช่วยสนับสนุน โดยร่วมมือกันพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการทำการเกษตร โดยเน้นคุณภาพและลดต้นทุนการผลิต" พลเอก ฉัตรชัย กล่าว