กรุงเทพฯ--15 ธ.ค.--ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์
อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันปีใหม่แล้ว หลายคนอาจจะบ่นว่าเวลาผ่านไปเร็วเหลือเกิน เป้าหมายที่เคยวางแผนไว้ยังไม่มีอะไรเสร็จเป็นชิ้นเป็นอัน หรือบางคนอาจจะยังคงวนเวียน จมจ่อมอยู่กับความทุกข์ นึกถึงเรื่องอดีตซ้ำไปซ้ำมา จนบางครั้งขาดสติ ทำอะไรโดยใช้อารมณ์เป็นตัวนำ ทำให้เกิดผลเสียที่ใหญ่หลวงตามมา ความคิดนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นของความทุกข์ทั้งปวง ถ้าไม่คิดก็ไม่ทุกข์ ฟังดูอาจเป็นเรื่องง่ายที่จะไม่คิด แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนทั้งโลกมีความทุกข์ก็เริ่มมาจากความคิดของตัวเรานั่นเอง
ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่า คนไทยฆ่าตัวตายเพราะโรคซึมเศร้า ประมาณปีละ 4,000 คน เฉลี่ยเดือนละ 300 กว่าคน มากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากอันดับ 1 คือ ประเทศญี่ปุ่นและอันดับ 2 คือ สวีเดน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวถือว่าน่าเป็นห่วงมาก
ดร.วีรณัฐ โรจนประภา นักวิชาการด้านสังคมผู้สูงวัยและประธานกรรมการมูลนิธิบ้านอารีย์ ได้กล่าวถึงปัญหานี้ว่า จากสถิติการฆ่าตัวตายที่อยู่ในระดับสูงของสังคมไทยนั้นสะท้อนให้เห็นถึงความรู้ไม่เท่าทันความคิด การตกเป็นทาสของความคิดของคนจำนวนมากในสังคมที่คอยผลักดันให้กระทำการต่างๆ โดยไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งๆ ที่ทราบว่าเป็นเรื่องเลวร้ายอย่างเช่นการตัดสินใจฆ่าตัวตาย เป็นต้น
สำหรับทางออกในการแก้ปัญหานี้อย่างได้ผล คือ การมาเรียนรู้ความคิด มาศึกษาให้เข้าใจถึงระบบและกลไกการทำงานของความคิดชุดต่างๆ ที่ผุดขึ้นมา ที่เมื่อเรียนรู้จนเข้าใจแล้วจะทำให้สามารถสังเกตได้ว่าความคิดใดเป็นประโยชน์ก็คิดต่อด้วยเหตุผล เพื่อนำไปพัฒนางานและชีวิต และสังเกตได้ว่าความคิดใดเป็นความคิดที่ไร้ประโยชน์ เป็นความคิดที่มาจากความกลัว ความกังวลที่เกินขอบเขต ก็รู้วิธีที่จะหยุดและพาตัวเองออกมาจากชุดความคิดที่ทำร้ายตัวเองนั้นได้
โดยการที่จะสังเกตความคิดชุดต่างๆ เช่นนี้ได้นั้นต้องใช้เครื่องมือที่เหมาะสม เหมือนเราต้องใช้เครื่องมือ คือ ลิ้นเพื่อรับรู้รส จมูกเพื่อให้รู้กลิ่น เป็นต้น การจะรู้ความคิดได้นั้นก็ต้องใช้เครื่องมือที่ถูกคู่กัน ซึ่งก็คือ สติ นั่นเอง
ดังนั้น ทางแก้ปัญหานี้ก็คือการฝึกสติ ซึ่งผลที่ได้นั้นจะไม่เพียงป้องกันความทุกข์ที่เกิดจากความคิดจนทำให้ฆ่าตัวตาย แต่ยังทำให้ผู้ฝึกสามารถจัดการบริหารความคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำความสำเร็จมาสู่ตนเองได้ด้วย และที่ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น คือ การฝึกสตินี้สามารถส่งผลเป็นความสุขขั้นสูงสุดในทางพระพุทธศาสนาเลยทีเดียว เพราะเมื่อมีสติแล้วจะทำให้เกิดสมาธิที่จะส่งต่อไปให้เกิดเป็นปัญญาในการรู้ธรรมชาติตามความเป็นจริง หรือความเข้าใจในไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ความไม่เที่ยง ทุกขัง ความคงสภาพอยู่ไม่ได้ และอนัตตา ความไม่มีตัวตนที่แท้
ซึ่งความเข้าใจในไตรลักษณ์นี้จะทำให้เราไม่ยึดติดกับเหยื่อล่อต่างๆ ทำให้ได้ผล คือ การมีอิสระในชีวิตอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ เทคนิคการฝึกสติที่เหมาะกับวิถีชีวิตของคนเมืองที่มักจะคุ้นชินกับการใช้ความคิดมาตั้งแต่เกิดก็คือการเดินจงกรม ซึ่งถือเป็นรูปแบบที่เอื้อให้เกิดสติได้ง่าย เหมาะแก่คนคิดมาก โดยการเดินจงกรมที่แนะนำสำหรับผู้คิดมาก คือ การเดินที่เน้นจังหวะหยุด มีวิธีดังนี้
1. ?หาพื้นที่ ที่สงบ เงียบ อากาศถ่ายเทได้ดี พื้นราบเรียบไม่ขรุขระ กำหนดความยาว 8 - 12 ก้าว เพราะหากสั้นไปจะทำให้เครียด หากยาวไปเวลาเผลอไปคิดจะเพลินจนหลุดออกมาจากความคิดได้ยาก
2. เริ่มที่ด้านใดก็ได้ ยืนตรงเก็บมือทั้งสองไว้ด้านหน้าหรือหลัง ไม่แกว่งแขน เพราะจะทำให้รู้สึกถึงการเดินได้ไม่ชัด จากนั้นตั้งใจว่าการเดินจากนี้จะพยายามรู้สึกตัวให้มาก แล้วจึงเดินตรงตามทางไปด้วยความเร็วปกติหรือช้ากว่าปกติเพียงเล็กน้อย
3. ?เมื่อฝึกเดินใหม่ๆ มักจะรู้สึกเท้ากระทบพื้นได้เพียง 2-3 ก้าวแรก จากนั้นมักจะเผลอไปคิด ก็ไม่ต้องกังวล เพียงดึงจิตกลับมารู้ที่การกระทบของเท้าทุกครั้งที่นึกได้
4. เมื่อเดินไปถึงปลายทางอีกด้านที่กำหนดไว้ ก็หยุดให้นิ่ง พร้อมทำความรู้สึกถึงการยืนของร่างกายนั้นให้ชัดสักครู่ เมื่อรู้การยืนนั้นชัดแล้วค่อยๆ หมุนตัวไปด้านใดก็ได้ทีละ 90 องศา จนเมื่อตัวหมุนย้อนกลับมาในทางจงกรมให้หยุดนิ่ง แล้วทำความรู้สึกตัวให้ชัดอีกครั้งก่อนจะเดินย้อนกลับ
เดินตามนี้ไปเรื่อย ๆ สักพักจิตจะเริ่มรู้ได้ถี่ขึ้น ต่อเนื่องขึ้นเรื่อยๆ จากรู้เพียง 2 - 3 ก้าวแรกเป็นรู้ 4 - 5 - 6 - รู้ทุกกระทบ จนรู้ละเอียดไปถึงการยก การเคลื่อนของเท้า จนความคิดแทรกเข้ามาไม่ได้ เมื่อนั้นจิตจะมีกำลังหรือที่เรียกกว่าเป็น "สมาธิ" มีความตั้งมั่นขึ้นมา ต่อไปเวลามีความคิดอะไรแทรกเข้ามา สติก็สามารถสังเกตได้
จากนั้นจะคิดต่อเพราะสมควร หรือจะหยุดคิด เพราะไม่มีประโยชน์ก็สามารถจัดการได้ ไม่ใช่เผลอหลงถูกความคิดลากไปคิดเรื่องกังวลใหญ่อยู่นานจนความคิดมีพลังครอบงำไม่อาจหลุดพ้นได้เช่นคนอมทุกข์ที่เห็นโดยทั่วไป คือ เมื่อฝึกจนมีสติแล้วก็จะสามารถเลือกจะคิดหรือไม่ก็ได้ตามเหตุและผล ไม่โดนความคิดทำร้ายอีกต่อไป
สำหรับท่านที่สนใจการฝึกสติด้วยวิธีนี้ ทาง ดร.วีรณัฐ จะจัดกิจกรรม "เดินชนะคิด" ในวันเสาร์ที่ 14มกราคม 2560 เวลา 9.30-12.00 น. ณ สมาคมบ้านปันรัก ถ.พหลโยธิน ซึ่งเป็นเวิร์กช็อปสอนเทคนิคการเดินจงกรมที่เหมาะกับคนเมืองทุกเพศทุกวัย รับจำนวนจำกัด 50 ท่านโดยสามารถลงทะเบียนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้ที่ โทร 02-619-6655 (ทุกวันอังคารถึงวันอาทิตย์) และสามารถติดตามรายละเอียดของเวิร์กช็อปนี้ทาง Line@ : @dr.veeranut (ต้องใส่ @ นำหน้า)