กทม.ส่งเสริมการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง

ข่าวทั่วไป Wednesday March 21, 2001 09:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 มี.ค.--กทม.
ที่ห้องรับรองกรุงเทพมหานคร เมื่อวานนี้ (20 มี.ค.44) เวลา 09.30 น. ดร.ธารินทร์ สงวนเสริมศรี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายอาทร จันทวิมล เลขานุการสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ นายไพรัช อรรถการมานนท์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา น.ส.ประนอม เอี่ยมประยูร ผู้อำนวยการศึกษานิเทศก์ สำนักการศึกษาร่วมแถลงข่าวโครงการอนุรักษ์วัฒนธรรมทางภาษาลายมืองามตามแบบไทย และส่งเสริมการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องของกรุงเทพมหานคร
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ภาษาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติ แต่ปัจจุบัน การใช้ภาษาไทย มีความผิดเพี้ยนไปมากทั้งด้านการพูด และการเขียน คือ ปัญหาด้านลายมือ จะเห็นว่าเยาวชนไทยมีการเขียนตัวอักษรที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิมมากจนอ่านแทบไม่ออก เขียนหนังสือไม่ถูกต้องตามรูปแบบตัวอักษร วางสระวรรณยุกต์ไม่ถูกที่ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง และมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน กรุงเทพมหานครซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับเยาวชนจำนวนกว่า 300,000 คน ได้ตระหนักถึงความสำคัญด้านภาษาไทยและมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะพัฒนาส่งเสริมนักเรียนกรุงเทพมหานคร ให้มีความเข้มแข็งในการใช้ภาษาไทย จึงมีนโยบายให้โรงเรียนสังกัดกทม.พัฒนานักเรียนด้านภาษาไทยอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน โดยมอบหมายให้สำนักการศึกษาดำเนินโครงการอนุรักษ์วัฒนธรรมทางภาษา มุ่งส่งเสริมให้นักเรียนสามารถใช้ภาษาไทยได้ถูกต้องทั้งการฟัง พูด อ่าน และเขียน ทั้งนี้นี้ยังเป็นการสนองพระราช-ดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้คนไทยใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง ไม่ผิดเพี้ยน
นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับหลักสูตรประถมศึกษา และแนวทางจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ด้วย โดยกำหนดกิจกรรมให้โรงเรียนดำเนินการพัฒนานักเรียนใน 6 กิจกรรม คือ คัดลายมือ การออกเสียงภาษาไทยอย่างถูกต้อง การท่องบทอาขยานและบทร้อยกรองที่ไพเราะ การย่อความ เรียงความ และการเขียนบทร้อยกรอง ซึ่งขณะนี้สำนักการศึกษาโดยความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้ดำเนินกิจกรรมสำคัญ 2 กิจกรรมคือ 1. กิจกรรมหมอภาษา 2. กิจกรรมคัดลายมือตามโครงการ ลายมืองามตามแบบไทย
ผู้อำนวยการหน่วยศึกษานิเทศก์ สำนักการศึกษา กล่าวด้วยว่า สำหรับกิจกรรม “หมอภาษา” เป็นกิจกรรมแรกที่ดำเนินการโดยการอบรมครู นักเรียน ตามแนวทางหมอภาษาเน้นการพัฒนาฝึกฝนนักเรียนให้สามารถออกเสียงภาษาไทยได้ชัดเจน เช่น เสียง ร , ล คำควบกล้ำ จ , ฉ , ช , ฝ, ฟ, ท ,ซ, ส, ง, เป็นต้น โดยขณะนี้จัดฝึกอบรมไปแล้วทั้งสิ้น 431 โรงเรียน และมอบหมายภารกิจให้ผู้เข้ารับการอบรมนำแนวทางไปดำเนินกิจการร้านหมอภาษาในโรงเรียน เปิดบริการออกเสียงให้นักเรียนในแต่ละโรงเรียนอย่างทั่วถึง ขณะนี้มีโรงเรียนต่าง ๆ เปิดร้านหมอภาษาไปแล้วกว่า 50 โรงเรียน และคาดว่า จะเปิดบริการอย่างทั่วถึงใน พ.ศ. 2544 ส่วนกิจกรรมการคัดลายมือตามโครงการ “ลายมืองามตามแบบไทย” จะเน้นให้ครูที่สอนวิชาภาษาไทยในสังกัดกรุงเทพมหานครทุกโรงเรียนนำความรู้ และวิธีการคัดลายมือที่ถูกต้องไปฝึกให้นักเรียนคัดลายมืออย่างถูกต้อง สวยงาม รวมทั้งวิธีการจับปากกาที่ถูกวิธี ซึ่งเรื่องนี้นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษและคาดหวังว่าในระยะเวลา 4 ปี นักเรียนในกรุงเทพมหานครทุกคนจะมีลายมือที่สวยงาม เป็นระเบียบ อ่านง่าย และถูกต้อง โดยรูปแบบตัวอักษรที่นำมาฝึกเด็กนักเรียนนั้นมี 3 รูปแบบ คือ 1. แบบหัวกลมตัวเหลี่ยม เหมาะกับระดับชั้น ป.1 — 2 เนื่องจากมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน นักเรียนเขียนรูปแบบได้ง่าย 2. แบบหัวแหลม ตัวกลม เหมาะกับระดับชั้น ป.3-4 รูปแบบนี้ต้องใช้เส้นโค้ง นักเรียนสามารถบังคับกล้ามเนื้อมือได้ดีขึ้น เขียนได้รวดเร็ว คล่องมือกว่าหัวกลม ตัวเหลี่ยม 3. แบบอาลักษณ์ เป็นการสอนเพิ่มเติมชั้น ป.5 — 6 และชั้นมัธยมศึกษาเป็นลักษณะลายมือที่สวยงาม ไม่นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้เขียนในเอกสารที่สำคัญที่ต้องการความสวยงาม เช่น ปริญญาบัตร ประกาศนียบัตร ประกาศที่เกี่ยวข้องกับเหรียญตราต่าง ๆ ฯลฯ ทั้งนี้จะได้มีการฝึกอบรมครูตามโครงการดังกล่าวในวันที่ 26-29 มี.ค.นี้ ที่โรงเรียนวัดดอกไม้ เขตยานนาวา
เลขานุการสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กล่าวว่า นับเป็นนิมิตรหมายอันดียิ่งที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการสอนคัดลายมือแก่นักเรียนในสังกัด กรุงเทพมหานคร โดยกำหนดเป็นนโยบายที่จะให้เห็นผลภายในระยะเวลา 4 ปี เนื่องจากในปัจจุบันคอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทกับการเรียนการสอนเพิ่มมากขึ้น และการสอบที่ใช้แบบปรนัยทำให้การเขียนมีการใช้น้อยลง ถ้ายังปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป การคัดลายมือของไทยคงจะต้องสูญหายไปอย่างแน่นอน ดังนั้นโครงการดังกล่าวจึงนับเป็นการเริ่มต้นที่ดีควรจะอนุรักษ์และสนับสนุนให้เด็กนักเรียนรักในการเขียนอักษรภาษาไทย ซึ่งตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตเด็กนักเรียนสังกัดกทม. จะเป็นเด็กที่มีลายมือที่สวยงาม เขียนได้ตามลักษณะของตัวอักษร รวมทั้งมีการวางรูปพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ได้อย่างถูกต้อง--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ