กรุงเทพฯ--15 ธ.ค.--BRAINASIA COMMUNICATION
ทั่วโลกตื่นตัวกับพลังงานทางเลือกและเทคโนโลยีพลังงานชีวมวล รศ.ดร. คมสัน มาลีสี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และรศ.ดร. ปานมนัส ศิริสมบูรณ์ ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร ต้อนรับ ดร. เอเซล ฟังค์ (Dr. Axel Funke) ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งคาร์ลสเรอห์ ประเทศเยอรมัน (Karlsruhe Institute of Technology - KIT) บรรยายพิเศษในงาน เทคโนโลยีสลายชีวมวลด้วยไพโรไลซิสแบบเร็วเพื่อผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงไบโอออยล์ในเยอรมัน (Biomass pyrolysis in Germany) โดยมีวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านพลังงานทางเลือกเพื่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่ยี่งยืนแก่นักศึกษาและคณาจารย์ ณ ห้องประชุม สจล.
รศ.ดร. คมสัน มาลีสี คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศการเกษตรและมีชีวมวลหรือของเหลือใช้จากเกษตรและอื่นๆ กว่า 59 ล้านตันต่อปี ซึ่งสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านพลังงานได้กว่า 12 ล้านตัน ขณะที่เราและนานาประเทศ กำลังเผชิญปัญหาจากการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลและผลกระทบ เช่น สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ สภาวะโลกร้อน พลังงานขาดแคลน ต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า การคมนาคมขนส่ง การทำการเกษตรและอุตสาหกรรม เราสามารถลดความรุนแรงของปัญหาลงได้โดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่หมุนเวียนได้ เช่น ชีวมวล โดยนำมาใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อการผลิตพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ ดังนั้น ระบบไพโรไลซิสแบบเร็ว (Fast Pyrolysis) จึงเป็นอีกคำตอบของการสร้างมูลค่าจากชีวมวลที่เหลือใช้ให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม กระบวนการไพโรไลซิส เป็นกระบวนการแปลงสภาพชีวมวลให้เป็นเชื้อเพลิงเหลว ในอุณหภูมิระหว่าง 450-600 องศาเซลเซียส ที่เรียกว่าน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ หรือ Bio-oil เทียบได้กับน้ำมันเตา ซึ่งสามารถใช้ในการผลิตไฟฟ้า ในเครื่องกังหันแก๊ส เครื่องยนต์ดีเซล หม้อไอน้ำ เป็นต้น และหากใช้ตัวเร่งปฏิกริยาในกระบวนการ ก็จะได้ น้ำมันเบนซินชีวภาพ (biogasoline) จึงนับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า คลายปัญหาสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน
ปัจจุบัน วิศวกรรมเกษตร (Agricultural Engineering) คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.เปิดการเรียนการสอนหลักสูตรวิศวกรรมเกษตร ในระดับปริญญาตรี โทและเอก เพื่อผลิตวิศวกรและดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อรองรับการเจริญเติบโต และเพื่อนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการพัฒนาด้านการเกษตรกรรมของประเทศ วิศวกรรมเกษตร (Agricultural Engineering) กำลังทวีบทบาทความสำคัญยิ่ง เนื่องด้วยอาหารและการเกษตรเป็นพื้นฐานหลักและความมั่นคงของนานาประเทศและของภูมิภาคโลก ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตผลการเกษตรและแปรรูปอาหารที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก อีกทั้งเป็นหนึ่งใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่รัฐบาลมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 อย่างยั่งยืน วิศวกรรมเกษตร สจล.ผสมผสานวิทยาการหลายแขนงทั้งทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องกล ไฟฟ้า โยธา การเกษตร และด้านอื่นๆ เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ซึ่งจะต้องนำเอาองค์ความรู้หลายแขนงมา บูรณาการเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกัน คือ "การผลิตอาหารให้มีคุณภาพไปถึงมือผู้บริโภคอย่างปลอดภัย" หลักสูตรวิศวกรรมเกษตร (Agricultural Engineering) คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.มุ่งเน้นการสอน 3 ด้าน คือ 1.ด้านเครื่องจักรกลเกษตร (Agricultural Machinery)- ศึกษาการออกแบบ และการใช้งานของเครื่องจักรกล การเกษตรเก่าๆ ระบบการทำฟาร์ม 2.ด้านการจัดการดินและน้ำ (Soil & Water Management)- ศึกษาการชลประทาน ตลอดจนการใช้ทรัพยากรทางด้านการเกษตร ให้เกิดประโยชน์สูงสุด 3.ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (Energy & Environment) - ศึกษาด้านเทคโนโลยีพลังงานรูปแบบต่างๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานลม, พลังงานชีวมวล เป็นต้น (http://www.agrieng.kmitl.ac.th )