กรุงเทพฯ--15 ธ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานแถลงข่าวและมอบประกาศนียบัตรความสำเร็จของโครงการต่อยอดการสร้างพื้นที่ชุมชนสร้างสรรค์ด้วยพลังเยาวชนปีที่ 2 (Love Your Local Love Your City#2) ที่หอภาพถ่ายล้านนา พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อมุ่งสนับสนุนเยาวชนในสถาบันอุดมศึกษาส่วนภูมิภาค ให้รู้จักวิธีคิดแบบนักออกแบบ (Design Thinking) และสามารถนำไปใช้พัฒนาพื้นที่ชุมชนของตนเองให้กลายเป็น "พื้นที่ชุมชนสร้างสรรค์" (Creative District) โดยมี 3 โครงการดีเด่นที่สามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์แก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่ชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม
นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กล่าวว่า โครงการต่อยอดการสร้างพื้นที่ชุมชนสร้างสรรค์ด้วยพลังเยาวชนเกิดขึ้นจากการร่วมมือระหว่างTCDC และสสส.เพื่อสนับสนุนเยาวชนในสถาบันอุดมศึกษาส่วนภูมิภาค ได้รู้จักวิธีการคิดแบบนักออกแบบ (Design Thinking) เพื่อสามารถนำไปต่อยอดในการพัฒนาพื้นที่ชุมชนของตนเองด้วยกระบวนการต่างๆ ให้กลายเป็น "พื้นที่ชุมชนสร้างสรรค์" (Creative District) โดยในปีนี้เป็นการจัดขึ้นครั้งที่ 2 เพื่อต่อยอดความสำเร็จจากครั้งแรกในปี 2557ที่ผ่านมา ซึ่งในปีนี้มีเยาวชนนักศึกษาเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 15 ทีมจากสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมเครือข่ายโครงการกระจายโอกาสสร้างแหล่งเรียนรู้ด้านการออกแบบสู่ภูมิภาค(miniTCDC) และมี 3 ทีมดีเด่นจาก 15 ทีมดังกล่าวที่สามารถสะท้อนถึงการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา พัฒนาชุมชนของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้รับทุนสนับสนุนให้ดำเนินการทดสอบในพื้นที่จริง ได้แก่ 1)พื้นที่ชุมชนสร้างสรรค์ (Creative Local Community) โครงการ "HEROesสอนหลาน : การสร้างสรรค์แรงบันดาลใจสู่บ้านตองกายเพื่อต่อยอดหัตถกรรมไม้กลึงอย่างยั่งยืน" ของทีมเยาวชนนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ต้องการสร้างสรรค์ชุมชนบ้านตองกายที่สืบทอดทักษะฝีมือช่างกลึงไม้มาแต่โบราณ ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างและเป็นการอนุรักษ์ทักษะฝีมือช่างกลึงไม้ให้คงอยู่ 2) ท่องเที่ยวสร้างสรรค์ (Creative Tourism) โครงการ "The Whisper Storyเรื่องเล่าผ่านเสียงกระซิบ" ของทีมเยาวชนนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง ที่ต้องการให้ "บ้านทับเที่ยง" ย่านเมืองเก่าของจังหวัดตรังเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว และให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสถึงเสน่ห์ของวิถีชีวิตเก่าแก่ในเมืองเก่าโดยการสร้างเนื้อหาประสบการณ์รับรู้เมืองในมุมใหม่ผ่านหนังสือนำเที่ยวแบบปฏิสัมพันธ์ (Interactive Guidebook) และ 3)ความปลอดภัยสร้างสรรค์ (Creative Safety)โครงการ "3 ป. (ปลอดภัยเป็นระเบียบประทับใจ)"ของทีมเยาวชนนักศึกษาคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชรที่เล็งเห็นถึงปัญหาการจราจรและความปลอดภัยของผู้ใช้ถนนทั้งผู้ขับรถและเด็กนักเรียนที่ข้ามถนน โดยพัฒนาขึ้นเป็นชุดปฏิบัติการเรียนรู้และกิจกรรมส่งเสริมให้นักเรียนข้ามถนนอย่างปลอดภัย รวมถึงออกแบบทางม้าลายรูปแบบใหม่ และป้ายสัญลักษณ์สำหรับผู้ใช้รถใช้ถนนเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
"โครงการต่อยอดการสร้างพื้นที่ชุมชนสร้างสรรค์ด้วยพลังเยาวชนภายใต้ "โครงการกระจายโอกาสสร้างแหล่งเรียนรู้ด้านการออกแบบสู่ภูมิภาค" (miniTCDC) ซึ่งเป็นการขยายโอกาสการเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้ด้านการออกแบบและผลักดันธุรกิจสร้างสรรค์ระดับชุมชนในท้องถิ่น ให้สามารถผสานภูมิปัญญาดั้งเดิมและองค์ความรู้ใหม่ ๆ เสริมสร้างศักยภาพที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น โดยโครงการดังกล่าว เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2550 และในปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการถึง 15 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศไทยทั้งนี้ สถาบันการศึกษาภายใต้โครงการ miniTCDC จะได้รับการสนับสนุนส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ แหล่งบริการหนังสือด้านการออกแบบ วัสดุเพื่อการออกแบบ ฐานข้อมูลออนไลน์ด้านการตลาด การออกแบบ และข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากมาย ตลอดจนได้เข้าร่วมกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการออกแบบ ตลอดจนสามารถนำความรู้ความสามารถไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาธุรกิจ ชุมชน และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ต่อไป อย่างเป็นรูปธรรม" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส.กล่าวว่าสสส.ร่วมกับ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ครั้งนี้เป็นปีที่ 2 ด้วยเห็นว่าการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ทั้งทางกายภาพและทางความคิด เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญ ของการการพัฒนาเด็ก และเยาวชนให้มีทักษะที่เหมาะสมต่อการใช้ชีวิตได้ในอนาคต ได้แก่ ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะชีวิตการทำงานและทักษะด้านสารสนเทศ สื่อและเทคโนโลยี ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการสังเกตเห็นว่าเยาวชนมีโอกาสพัฒนาและสร้างสรรค์ทางความคิด ได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ ได้ใช้ความรู้มาพัฒนาชุมชน ซึ่งถือว่าเป็นการปูทางให้เยาวชนได้เรียนรู้การแก้ปัญหาใหม่ๆ พร้อมเป็นเมล็ดพันธุ์ของความเป็นนักคิดสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพได้ต่อไป อย่างไรก็ดี หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกหน่วยงานและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะได้มีส่วนร่วมในการผลักดันและส่งเสริมโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต และสังคมต่อไปในอนาคต
นางสาวธาราทิพย์ อะติถะ ตัวแทนนักศึกษาเจ้าของผลงานโครงการ "HEROesสอนหลานจากคณะวิจิตรศิลป์สาขาวิชาการออกแบบ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าว่าโครงการฮีโร่สอนหลานฯเริ่มจากการเล็งเห็นปัญหาว่าบ้านตองกาย เป็นหมู่บ้านช่างฝีมือด้านการกลึงไม้ที่ใหญ่ที่สุดในเชียงใหม่ แต่ไม่เป็นที่รู้จักของผู้คนในเมืองและนักท่องเที่ยวเนื่องจากจะกลึงไม้ส่งขายให้กับผู้ว่าจ้างไม่ได้มีหน้าร้านทีมจึงเกิดแนวคิดที่จะผลักดันให้บ้านตองกายเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวและช่างฝีมือโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ เนื่องจากต้องการให้อนุรักษ์ทักษะฝีมือช่างที่สืบต่อกันมาเป็นเวลานานโครงการฮีโร่สอนหลานฯ จึงเริ่มต้นขึ้นด้วยการร่วมพูดคุยและขอเรียนรู้การกลึงไม้จากผู้เชี่ยวชาญในชุมชนเพื่อกระตุ้นให้ชุมชนเกิดความภูมิใจว่างานกลึงไม้เป็นภูมิปัญญาไทยที่ต้องได้รับการอนุรักษ์และสืบต่อจากนั้นจึงเริ่มวางแผนและจัดทำเป็นโปรแกรมเวิร์คช็อปสำหรับผู้ที่สนใจโดยให้ผู้เชี่ยวชาญในชุมชนสอนและฝึกหัดให้เพื่ออนุรักษ์ความเป็นเอกลักษณ์ของบ้านตองกายให้สมบูรณ์ที่สุดโดยทีมจะเข้าไปสนับสนุนและช่วยจัดทำคู่มือและอุปกรณ์สำหรับการเวิร์คช็อปและประชาสัมพันธ์กิจกรรมผ่านสื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊กจัดทำโปสเตอร์ติดที่ร้านหนังสือร้านกาแฟรวมถึงที่TCDCเชียงใหม่ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายซึ่งก็ได้รับความสนใจจากช่างฝีมือนักออกแบบนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติมากขึ้นทำให้บ้านตองกายมีรายได้เสริมจากกิจกรรมเวิร์คช็อปนี้อย่างไรก็ตามทีมได้วางแผนในการถ่ายทอดการจัดทำตารางเวิร์คช็อปให้ลูกหลานในชุมชนเพื่อสามารถบริหารจัดการและปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมทั้งนี้คาดหวังให้โครงการดังกล่าวจะทำให้บ้านตองกายได้รับการอนุรักษ์และถ่ายทอดต่อไป
ด้าน นายศรีลา คุ้มภัย หัวหน้าช่างกลึงไม้บ้านตองกาย อายุ 64 ปี เล่าว่า บ้านตองกายเป็นหมู่บ้านที่ประกอบอาชีพหัตถกรรมไม้กลึงเก่าแก่ของเชียงใหม่ สืบทอดทักษะฝีมือแบบรุ่นต่อรุ่นสำหรับตนเองนั้นเริ่มทำงานไม้กลึงมาตั้งแต่อายุ 12 ปี และปัจจุบันเป็นช่างกลึงไม้รุ่นที่ 3 ของหมู่บ้านตองกาย ซึ่งเริ่มพบปัญหาด้านคนทำงานไม้กลึงลดน้อยลง โดยแต่เดิมหมู่บ้านจะรับทำงานตามคำสั่งซื้อเป็นการผลิตที่เน้นปริมาณมากแต่ก็จะเป็นงานรูปแบบเดียวกัน เช่น โตก โกศ และชุดชากาแฟทำให้ขาดทักษะการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่แปลกใหม่ อย่างไรก็ตาม โครงการฮีโร่สอนหลาน สร้างสรรค์แรงบันดาลใจต่อยอดหัตถกรรมไม้กลึง ของกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้ชุมชนเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจจากคนภายนอกมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ทำงานฝีมือและนักออกแบบรุ่นใหม่ ช่วยให้ชุมชนได้ทำงานที่เกิดความคิดสร้างสรรค์ และได้แสดงทักษะการกลึงไม้ พร้อมการพัฒนาฝีมือให้ชำนาญมากขึ้นด้วย รวมทั้งได้มีโอกาสเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ และที่สำคัญทำให้มีรายได้เสริมเพิ่มจากการจัดโปรแกรมเวิร์คช็อปด้วย อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ดีในการนำเสนอคุณค่า และต่อยอดทักษะหัตถกรรมไม้กลึงของชุมชนโดยผ่านกระบวนการคิดสร้างสรรค์และสื่อต่างๆให้เกิดประโยชน์ ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวจะทำให้ชุมชนสามารถเป็นที่รู้จัก และได้รับการสืบต่อจากคนรุ่นใหม่เพื่อให้ไม้กลึงอยู่คู่กับคนไทยตลอดไป
นายณัฐพนธ์ ผลโสดา ตัวแทนนักศึกษาเจ้าของโครงการ "เรื่องเล่าผ่านเสียงกระซิบ" จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตตรังเล่าว่าโครงการ"เรื่องเล่าผ่านเสียงกระซิบ"เกิดขึ้นจากการเล็งเห็นว่า นักท่องเที่ยวที่มาจังหวัดตรังให้ความสนใจท่องเที่ยวอยู่ที่บริเวณชายหาด ทะเล และเกาะต่างๆ ทำให้ภายในตัวเมืองอย่าง "บ้านทับเที่ยง" เมืองเก่าแก่ที่มีเรื่องราวประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านไม่เป็นที่รู้จัก จึงเกิดเป็นโจทย์ที่ว่า "ทำอย่างไรถึงสามารถดึงดูดผู้คนและนักท่องเที่ยว ให้สามารถเข้ามาสัมผัสกับเสน่ห์ของตัวเมืองเก่านี้ได้" จึงร่วมกันคิด วิเคราะห์กับเพื่อนในทีม และสรุปออกมาได้เป็นการสร้างสรรค์ "หนังสือนำเที่ยวแบบปฏิสัมพันธ์" ที่มีจุดเด่นคือ การพิมพ์ภาพสถานที่ต่างๆลงบนแผ่นใสเพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถตามรอยไปยังสถานที่ที่ปรากฏในหนังสือ และสามารถนำภาพไปเทียบกับสถานที่จริง พร้อมรับรู้เรื่องราวเหตุการณ์ในอดีตของสถานที่นั้นๆไปพร้อมกัน เช่นบ้านหลังหนึ่งที่เคยเป็นหลุมหลบภัยสมัยสงครามโลกซึ่งนอกจากนักท่องเที่ยวแล้ว เรื่องราวต่างๆเหล่านี้ยังมีสิ่งที่แม้แต่คนในพื้นที่เองก็ไม่เคยทราบทั้งนี้ การสร้างสรรค์หนังสือนำเที่ยวแบบปฏิสัมพันธ์นี้ จะทำให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างนักท่องเที่ยวกับชุมชน ซึ่งเป็นการนำเสนอการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ของจังหวัดตรังอย่างสร้างสรรค์ อันจะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามมีความคาดหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะได้รับการเผยแพร่ในวงกว้างและสามารถเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่นๆในการประยุกต์ใช้เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดตนเองต่อไป
นายวัชระ ใจแป้ ตัวแทนนักศึกษา เจ้าของโครงการ 3 ป. (ปลอดภัย เป็นระเบียบ ประทับใจ) จากคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาวิชาออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร เล่าว่า โครงการ 3 ป. เกิดขึ้นจากแนวคิดที่ต้องการลดอุบัติเหตุการจราจรในพื้นที่ชุมชน โดยได้ลงพื้นที่พูดคุยรับฟังปัญหาชุมชน จึงพบว่าบริเวณหน้าโรงเรียนเทศบาล 2 (วัดทุ่งสวน) เป็นเส้นทางที่มีรถสัญจรไปมาตลอดเวลาโดยเฉพาะช่วงเวลาเข้าเรียน และเลิกเรียนจะมีนักเรียนข้ามถนนจำนวนมาก เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ จึงร่วมกันคิดและหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยมีจุดมุ่งหมายในการลดอุบัติเหตุในชุมชน และได้ร่วมกันออกแบบเครื่องมือ สัญลักษณ์สำหรับการข้ามถนน เพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้การข้ามถนนอย่างปลอดภัย โดยได้ออกแบบเป็นเกมจำลองการเรียนรู้กฎจราจรสำหรับเด็กเพื่อเป็นแรงดึงดูดในการสร้างความเข้าใจและการจดจำของเด็กโดยมีไฮไลท์เป็นสัญลักษณ์ "ตุ๊กตาจับตาดูความปลอดภัยก่อนข้ามถนน" เพื่อให้ผู้ข้ามถนนหยุดและปฏิบัติตามก่อนข้ามถนน พร้อมเพิ่มเติมการออกแบบทางม้าลายรูปแบบใหม่ลักษณะเป็นเส้นสวนทางไปกลับและต่างสีกันเพื่อสร้างความเป็นระเบียบขณะข้ามถนน นำไปสู่ความปลอดภัยบนท้องถนน อย่างไรก็ตาม หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นส่วนช่วยในการสร้างความเป็นระเบียบและปลอดภัยให้แก่ชุมชนและโรงเรียนได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งสามารถเป็นต้นแบบให้ชุมชนหรือโรงเรียนอื่นๆ นำไปปฏิบัติตามได้ด้วย