กรุงเทพฯ--16 ธ.ค.--ฟร้อนท์เพจ
กระทรวงดิจิทัลฯ จัดอบรมวิทยากรแกนนำ e-Commerce ชุมชน เดินหน้าสร้างความรู้ความเข้าใจเศรษฐกิจดิจิทัลและไทยแลนด์ 4.0 หนุนชุมชนทั่วประเทศใช้ดิจิทัลค้าขายออนไลน์
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จับมือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาวิทยากรแกนนำ e- Commerce ชุมชน เป็นตัวแทนถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัล และไทยแลนด์ 4.0 แก่ชุมชนทั่วประเทศ พร้อมสร้างกลไกการกระจายความรู้ด้านเทคโนโลยีในการทำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่เหมาะสมสำหรับชุมชน
พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาวิทยากรแกนนำ e- Commerce ชุมชน ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจัดขึ้น ณ โรงแรมปริ๊นซ์ พาเลซ ว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาดิจิทัลของประเทศเพื่อปฏิรูปประเทศไทยสู่ "ดิจิทัลไทยแลนด์" โดยได้กำหนด ภูมิทัศน์ของประเทศไทยในระยะ 20 ปี เป็นแนวทางการพัฒนาประเทศไทย เพื่อให้เป็นประเทศที่มีการใช้ประโยชน์จากดิจิทัลในทุกภาคส่วน ปัจจุบันอยู่ในระยะที่ 1 ของการพัฒนา คือ Digital Foundation เป็นการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งคาบเกี่ยวกับระยะที่ 2 คือ Inclusion
ที่ต้องดำเนินการให้ทุกภาคส่วนของประเทศมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลตามแนวประชารัฐ สำหรับระยะที่ 3 คือ Full transformation จะทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นดิจิทัลไทยแลนด์ที่ขับเคลื่อนและใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมดิจิทัลได้อย่างเต็มศักยภาพ และระยะที่ 4 คือ Global Digital Leadership ที่ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศในกลุ่มที่พัฒนาแล้วสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคมอย่างยั่งยืน
สำหรับการที่จะก้าวเข้าสู่การเป็นดิจิทัลไทยแลนด์ได้อย่างสมบูรณ์นั้น บุคลากรนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ ดังนั้น การพัฒนาให้ประชาชนความรู้ ความสามารถ จะเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน การพัฒนาบุคลากรและประชาชนให้ครอบคลุมทั่วถึงเพื่อรองรับการเป็นดิจิทัลไทยแลนด์ จึงเป็นสิ่งที่เร่งด่วน กระทรวงดิจิทัลฯ เห็นว่าการสร้างผู้แทนหรือวิทยากรแกนนำจะเป็นส่วนสำคัญยิ่งของการนำความรู้สู่ชุมชน จึงได้จัดให้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับวิทยากรแกนนำ e-Commerce ชุมชนขึ้น เพื่อสร้างกลไกการกระจายความรู้ด้านเทคโนโลยีในการทำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่เหมาะสมสำหรับชุมชน ตลอดจนให้คำปรึกษา แนะนำ และแก้ไขปัญหาเบื้องต้นสำหรับผู้ประกอบการชุมชนและผู้สนใจที่จะค้าขายออนไลน์ให้มีความเชื่อมั่น และเห็นว่า e-Commerce เป็นเรื่องใกล้ตัวที่สามารถทำเองได้ ลดค่าใช้จ่าย ตัดปัญหาพ่อค้าคนกลาง ทำให้เกษตรกร และผู้ประกอบการชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่งผลต่อความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในระยะยาว
ด้านนายภุชพงค์ โนดไธสง รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับวิทยากรแกนนำ e-Commerce ชุมชนครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างวิทยากรแกนนำ e-Commerce สำหรับชุมชนให้สามารถถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวเศรษฐกิจดิจิทัล และไทยแลนด์ 4.0 โดยเน้นที่การค้าออนไลน์ และ e-Commerce ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์ให้แก่ประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบการชุมชน และเกษตรกร ผ่านศูนย์ดิจิทัลชุมชน และศูนย์เครือข่ายอื่นๆที่กระจายอยู่ทั่วประเทศและที่สำคัญ ผู้ผ่านการอบรมจะได้รับความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับการเลือกใช้เครื่องมือดิจิทัล และสามารถประยุกต์กับการถ่ายทอดความรู้ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เป็นการสร้างกระแสการใช้ประโยชน์จากดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนตามแนวทางประชารัฐ ประกอบด้วย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) และได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนจำนวนมากร่วมถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์เพื่อสร้างวิทยากรแกนนำ e-Commerce สำหรับชุมชนรุ่นแรกของประเทศไทย ซึ่งมีผู้เข้ารับการอบรมฯ จำนวนทั้งสิ้น 250 คน จาก ทั่วประเทศ ได้แก่ บุคลากรจากศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน และศูนย์ดิจิทัลชุมชน บุคลากรสำนักงานสถิติจังหวัด และ เจ้าหน้าที่ดีแทคเน็ตอาสา ที่พร้อมถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนในลักษณะวิทยากรอาสาทำงานเชิงรุกเพื่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้ การอบรมดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 18 ธันวาคม 2559 ซึ่งเน้นเนื้อหาเข้มข้นทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ผ่านการอบรมทั้งหมดจะสามารถนำความรู้ที่ได้รับกลับไปขยายผลจัดอบรมประชาชนในชุมชน จนสามารถเป็นวิทยากรแกนนำ e-Commerce อย่างเต็มภาคภูมิต่อไป
"โครงการนี้นับเป็นตัวอย่างที่ดีของการพัฒนาในลักษณะประชารัฐที่เปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามี ส่วนร่วมและกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ และดำเนินการตามภารกิจ บทบาทของตนเอง ซึ่งผู้เข้าอบรมฯ ในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในยุคของการเปลี่ยนผ่านจากแอนาล็อกไปสู่ดิจิทัล เพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่การเป็น "ประเทศไทย 4.0" เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเพื่อก้าวข้าม กับดักรายได้ปานกลาง ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยวิทยากรแกนนำแต่ละท่านมีบทบาทหน้าที่ และพื้นที่การทำงานที่ต่างกัน ผู้ดูแลศูนย์ฯ มีพื้นที่คือ ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน หรือ ศูนย์ดิจิทัลชุมชนของกระทรวงฯ ในขณะที่ เน็ตอาสามีพื้นที่การทำงานที่ยืดหยุ่น คล่องตัว และทำงานเชิงรุกได้มากกว่า เจ้าหน้าที่สำนักงานสถิติจังหวัดมีบทบาทในการอำนวยให้ศูนย์ฯ บริการชุมชนได้ตามวัตถุประสงค์ ซึ่งได้ตั้งโจทย์ของการทำงานร่วมกันของแต่ละจังหวัดหรือ กลุ่มจังหวัด ให้ร่วมคิดและออกแบบกระบวนการทำงานเพื่อพัฒนาคนในพื้นที่เดียวกันร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในจังหวัด โดยมีกลุ่มผู้ได้รับประโยชน์ในพื้นที่การทำงานของกระทรวงฯ ได้แก่ ศูนย์ดิจิทัลชุมชนกว่า 2,000 แห่ง รวมกับศูนย์ กศน. ตำบลที่มีทุกตำบลอีกกว่า 8,000 แห่ง และเมื่อโครงการอินเทอร์เน็ตหมู่บ้านเกิดขึ้นก็จะมีพื้นที่การทำงานเพิ่มขึ้นอีกมากกว่า 30,000 แห่ง เพื่อเป็นค่าเป้าหมายการทำงานของวิทยากรชุมชนในการใช้เครื่องมือดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนครอบคลุมทุกพื้นที่" พล.อ.อ.ประจินฯ กล่าวในตอนท้าย