กรุงเทพฯ--19 ธ.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
JGSEE หรือ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีพลังงานและสิ่งแวดล้อม มจธ. ชี้ไทยตั้งเป้าเป็น HUB ด้านพลังงานของอาเซียน เน้นพัฒนาฐานนวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงานขยายสู่อาเซียนในอนาคต ย้ำการประชุมนานาชาติด้านพลังงานที่ผ่านมาต่างชาติให้ความสนใจงานวิจัยไทยมากขึ้น
จากสถานการณ์พลังงานที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วโลกมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ด้านพลังงานที่เปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด ประเทศไทยก็เช่นกัน
รศ.ดร.บัณฑิต ฟุ้งธรรมสาร รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวในการประชุม 6th International Conference on Sustainable Energy and Environment) หรือ SEE 2016 ว่าสถานการณ์ด้านพลังงานของโลกมีแรงขับเคลื่อนหลายอย่าง ปัจจัยหนึ่ง คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ซึ่งปัจจุบันเป้าหมายของการลดก๊าซเรือนกระจกร่วมกันระหว่างทั่วโลกนั้นมีเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น และประเทศไทยเองตั้งเป้าว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2030 ซึ่งแนวโน้มปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยสามารถทำได้ เพราะไทยมีแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี และแผนพลังงานทดแทนซึ่งขณะนี้กำลังก้าวไปในทิศทางที่เหมาะสม
"โดยเฉลี่ยของโลกและประเทศไทย ในภาคการผลิตและการใช้พลังงานมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นหากจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องเริ่มที่ภาคพลังงานเป็นอันดับแรก อีกสิ่งที่สำคัญและมีผลกระทบกับโลกรวมถึงประเทศไทยคือ Green disruption หรือเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ราคาของโซล่าเซลล์ลดลงมาก ยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจน IoT หรือ Internet of Things สิ่งเหล่านี้จะเข้ามาอย่างรวดเร็ว และทำให้ตลาดและโครงสร้างพื้นฐานเรื่องพลังงานเปลี่ยนไป ทุกภาคส่วนต้องเตรียมตั้งรับ ทางกระทรวงพลังงานก็เตรียมพร้อมเรื่องการใช้ Smart Grid ระบบเก็บพลังงานที่รองรับการใช้พลังงานหมุนเวียน และการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกมหาวิทยาลัยและ มจธ. เองทำได้เลยเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงคือการพัฒนากำลังคนที่จะตอบสนองหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนเพื่อเป็นฐานในการพัฒนาประเทศต่อไป"
ทางด้าน รศ.ดร.สิรินทรเทพ เต้าประยูร ผู้อำนวยการบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีพลังงานและสิ่งแวดล้อม มจธ. กล่าวเสริมว่านอกจาก มจธ. จะให้ความสำคัญกับเรื่องของการศึกษาวิจัยเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงพลังงานและสร้างกำลังคนแล้ว นับว่ายังไม่เพียงพอ เพราะการที่จะแก้ปัญหาและตั้งรับอย่างเท่าทันสถานการณ์พลังงานโลกได้นั้นต้องมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสถานการณ์ร่วมกัน
เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา JGSEE และมหาวิทยาลัยเกียวโต ได้ร่วมกันจัดประชุมวิชาการนานาชาติด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 6 (6th International Conference on Sustainable Energy and Environment) หรือ SEE 2016 ในหัวข้อหลักเรื่อง "พลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: การสร้างนวัตกรรมเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน" เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและการแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรม และยังจัดร่วมกับการประชุมนานาชาติด้านนวัตกรรมเขียวและความยั่งยืน ครั้งที่ 6 (6th International Conference on Green and Sustainable Innovation) หรือ ICGSI 2016 และการประชุมวิชาการนานาชาติด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านภูมิอากาศ ครั้งที่ 1 (1st International Conference on Climate Technology and Innovation)
"งานประชุม SEE 2016 ปีนี้เน้นเรื่องของนวัตกรรมซึ่งมีชาวต่างชาติให้ความสนใจเข้าร่วมประชุมจำนวนมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา แสดงให้เห็นศักยภาพของงานวิจัยไทยว่ามีคุณภาพเป็นที่ยอมรับและต่างชาติสามารถมาเรียนรู้จากเราได้เช่นกัน นอกจากนั้นในการประชุมมีการหารือนวัตกรรมสำหรับอาเซียน เพื่อตั้งรับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายในอาเซียน สถานการณ์พลังงานในอาเซียน และจะขยับไปสู่ความเป็น Sustainability ในที่สุด กว่า 10 ปีที่เราจัดประชุม SEE มาสังเกตได้ว่าประเทศไทยขยับเข้าหาอาเซียนมากขึ้น เราพยายามเป็นศูนย์กลางเพื่อเป็น HUB ของอาเซียน และสร้างเทคโนโลยีที่จะสามารถขยายไปสู่อาเซียนได้นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจน" รศ.ดร.สิรินทรเทพ กล่าว
อีกทั้ง ยังมีการประชุมเชิงปฏิบัติการวาระพิเศษ "Franco-Thai Workshop on Smart Grids" ซึ่งทางบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน และสถานเอกอัครราชฑูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เป็นผู้จัดการดำเนินงาน ขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้าน Smart Grid ระหว่างประเทศไทยและฝรั่งเศส ทั้งในมิติของการวางแผน การดำเนินการในด้านการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ Smart Grids สำหรับการจัดการพลังงานของประเทศไทยในอนาคต
นอกจากนี้ผลจากการนำเสนอและแลกเปลี่ยนผลงานทางวิชาการภายในงานช่วยสนับสนุนในการมุ่งสู่การลดก๊าซเรือนกระจก ร้อยละ 20 ถึงร้อยละ 25 ภายในปี 2573 ซึ่งทางตามที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ โดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนให้มากขึ้นต่อไป.