กรุงเทพฯ--19 ธ.ค.--ธนาคารเอชเอสบีซี
โดย นางสาวนลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวันที่ 21 ธันวาคม ส่วนการเปลี่ยนแปลงการคาดการณ์เศรษฐกิจอื่นๆน่าจะไม่มีนัยสำคัญสำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบัน
เราปรับลดการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสำหรับปี 2017 และ 2018 ลงจากการเร่งตัวของเงินเฟ้อที่ช้ากว่าที่คาดไว้หลายเดือนก่อนและการฟื้นตัวที่อ่อนแอของอุปสงค์
เนื่องจากความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจลดลง ธปท. มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนโฟกัสไปสู่เสถียรภาพการเงินและการพัฒนาระบบการเงินมากขึ้น
แนวนโยบายการเงินไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอีกสักพักใหญ่
เราคาดว่าธปท.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.5 ในวันที่ 21 ธันวาคม และคงมุมมองในภาพรวมเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงินจากช่วงที่ผ่านมา การคาดการณ์ทางเศรษฐกิจรายไตรมาสของธปท.ไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่ธนาคารกลางรอดูพัฒนาการของปัจจัยภายนอก เช่น นโยบายการค้าและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา และข้อมูลอื่นๆของเศรษฐกิจไทย เพื่อคาดการณ์ระดับของการชะลอตัวในไตรมาสที่ 4 ในปีนี้
รายงานการประชุมนโยบายการเงินของวันที่ 9 พฤศจิกายน แสดงให้เห็นว่าธปท.มองว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจมีความเสี่ยงด้านลบมากขึ้นจากความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจใหญ่และความผันผวนในตลาดการเงินโลก อย่างไรก็ดี การเติบโตของเศรษฐกิจไทยดูเหมือนจะมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ซึ่งบางมาตรการเป็นการต่ออายุจากมาตรการที่เคยใช้ก่อนหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจชะลอตัวไปมากกว่านี้
เราปรับลดการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 60 และ ปี 61 ลงสู่ร้อยละ 1.7 และ 2.0 จากเดิมที่ร้อยละ 2.0 และ 2.1 ตามลำดับ โดยอัตราเงินเฟ้อได้ปรับเพิ่มขึ้นช้ากว่าที่คาดไว้ก่อนหน้าช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ในขณะที่ธุรกิจยังสะท้อนว่าอำนาจการกำหนดราคายังอยู่ในระดับต่ำจากอุปสงค์ที่อ่อนแอ ทั้งนี้ ผลจากฐานราคาน้ำมันที่ต่ำในปีนี้อาจจะส่งผลทำให้ต่อเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นบ้าง แต่รัฐบาลสามารถช่วยชะลอผลกระทบต่อราคาขายปลีกโดยอาศัยกองทุนน้ำมันส่วนหนึ่ง ดังนั้น คาดว่าธปท.ไม่น่าจะมีความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อไปอีกระยะ นอกจากนี้ เนื่องจากว่าเสถียรภาพภายนอกของไทย (external stability) อยู่ในเกณฑ์ดีและค่าเงินบาทค่อนข้างมีเสถียรภาพเมื่อเทียบกับคู่ค้า จึงคาดว่าการดำเนินการด้านอัตราแลกเปลี่ยนใดของธปท. จะมีเพียงเพื่อลดความผันผวนในระยะสั้นเพื่อให้ภาคเอกชนมีเวลาปรับตัวและป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเป็นหลัก
ธปท. มีแนวโน้มที่จะมุ่งเน้นการรักษาเสถียรภาพการเงินและการพัฒนาทางการเงินต่อไป
ในแถลงข่าวเรื่อง การประชุมร่วมของคณะกรรมการนโยบายการเงินและคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน ในวันที่ 9 ธันวาคม ธปท.ระบุว่าเสถียรภาพทางการเงินยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี เว้นเพียงแต่คุณภาพสินเชื่อที่ลดลงและพฤติกรรม "การหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น" ในตลาดการเงินที่ยังต้องคอยติดตาม ดังนั้น เราคาดว่าความน่าจะเป็นของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงต่อไปนั้นมีน้อย และคาดว่า ธปท.จะยังคงมุ่งเน้นไปที่การรักษาเสถียรภาพทางการเงินและการพัฒนาโครงสร้างระบบการเงินในช่วงต่อไป ซึ่งมีนัยสำคัญว่า แม้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายการเงินด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน แต่ยังมีการดำเนินการ "เบื้องหลัง" เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางการเงินและโครงสร้างโดยรวมของภาคการเงิน ซึ่งผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นมีหลายประการ เช่น การเข้าถึงทางการเงินที่มากขึ้น การลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมทางการเงิน กฎระเบียบด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยนที่เอื้อต่อการทำธุรกิจมากขึ้น การติดตามความเสี่ยงภาคการเงินอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น การเพิ่มขีดความสามารถของสถาบันการเงินไทย และการเชื่อมโยงด้านการเงินภายในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น ฯลฯ