กรุงเทพฯ--20 ธ.ค.--Hip Organize
ยิ่งใหญ่สมกับเป็นงานฮาลาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย "Thailand Halal Assembly 2016" การประชุมวิชาการและการแสดงสินค้านานาชาติ ที่รวบรวมสินค้าและบริการฮาลาล พลังของคนยุคใหม่สู่การนำสินค้าฮาลาลสู่การขับเคลื่อนธุรกิจ เน้นแนวคิดการพัฒนานวัตกรรม โดยไม่ละเลยแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้แนวคิด "Steering Towards Thailand & International Halal 4.0" หวังผลักดันผลิตภัณฑ์ฮาลาลของประเทศไทยขึ้นสู่อับดับหนึ่งในห้าของโลก
รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานการจัดงาน "Thailand Halal Assembly 2016" กล่าวว่า ตลาดรวมสินค้าฮาลาลทั่วโลกมีมูลค่ากว่า 2ล้านล้านเหรียญสหรัฐและมีผู้บริโภคชาวมุสลิมทั่วกว่า 1.8 พันล้านคน ซึ่งประเทศไทยส่งออกสินค้าฮาลาลอยู่ที่5,600 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ถึงแม้ภาพรวมการส่งออกของไทยจะตกลงแต่มูลค่าการส่งออกสินค้าฮาลาลของไทยกลับเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยส่งออกสินค้าฮาลาลไม่น้อยกว่า 15 % ซึ่งเห็นได้ว่าสินค้าฮาลาลของไทยเป็นที่นิยมไปทั่วโลก เพราะกระบวนการผลิตสินค้าฮาลาลไทยได้มาตรฐานตามคุณลักษณะที่โดดเด่นในระบบและกระบวนการดำเนินงาน ภายใต้หลักการศาสนารับรองวิทยาศาสตร์รองรับ อันเป็นผลให้ผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทยเป็นที่เชื่อถือในตลาดโลก โดยปีนี้ผลิตภัณฑ์ฮาลาลของประเทศไทยจัดจำหน่ายอยู่ทั่วโลกอยู่ในอันดับที่ 10 ของโลก เลื่อนขึ้นจากอันดับที่ 13 จากปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มีการผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ฮาลาลของไทยต้องขึ้นไปอยู่ในอันดับหนึ่งในห้าของโลกให้ได้ ภายในปี 2562
ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และหลายหน่วยงานร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการและการแสดงสินค้านานาชาติ "Thailand Halal Assembly 2016" ขึ้นเป็นที่ที่ 3 เพื่อรวบรวมสินค้าและบริการฮาลาล พลังของคนยุคใหม่สู่การนำสินค้าฮาลาลสู่การขับเคลื่อนธุรกิจ โดยไม่ละเลยที่จะเน้นเศรษฐกิจพอเพียง "ตามรอยพ่อ" ภายใต้แนวคิด "Steering towards Thailand & International Halal 4.0" จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-11 ธันวาคม 2559 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งเป็นงานด้านกิจการฮาลาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และด้วยพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ที่ทรงมีต่อพสกนิกรมุสลิมในประเทศไทย จึงได้จัดนิทรรศการ "In Remembrance of His Late Majesty King Bhumibol Adulyadej" ขึ้นเพื่อร่วมแสดงความไว้อาลัยและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ
จากนโยบายรัฐบาลที่ผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ประเทศไทยจึงขับเคลื่อนสู่ยุค Thailand 4.0 ซึ่งอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ฮาลาลได้พัฒนาอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ฮาลาลของไทยให้ก้าวสู่ Thailand Halal 4.0 เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มการส่งออกเช่นเดียวกัน โดย Thailand Halal 4.0 คือวงการฮาลาลประเทศไทยก้าวตามไปกับเรื่องราวสังคมเศรษฐกิจดิจิทัล ในส่วนระบบการรับรองฮาลาลมีการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ประยุกต์มากขึ้น ซึ่งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ เริ่มพัฒนาระบบ SPHERE เชื่อมโยงเครือข่ายการรับรองฮาลาลผ่านระบบอินเตอร์เน็ต มีการจัดทำฐานข้อมูลวัตถุเจือปนที่ฮาลาล หรือ H Numbers (Halal Number) เชื่อมโยงผ่านระบบดิจิทัล พัฒนาเส้นทางฮาลาลสำหรับนักเดินทาง Halal Route และพัฒนาศักยภาพตลาดฮาลาลที่ก้าวหน้าให้ได้รับการกล่าวถึงมากขึ้น Thailand Halal 4.0 จึงถือว่าเริ่มต้นขึ้นก่อนประเทศใดๆ และคงต้องพยายามที่จะพัฒนาให้รุดหน้าก้าวนำประเทศอื่นอย่างต่อเนื่อง
การประชุมวิชาการและการแสดงสินค้านานาชาติ "Thailand Halal Assembly 2016" ปีนี้ประกอบด้วย นิทรรศการความผูกพันของรัชกาลที่ ๙ ที่มีต่อชาวไทยมุสลิม "In Remembrance of His Late Majesty King Bhumibol Adulyadej", นิทรรศการดิจิตอลวิทยาศาสตร์ฮาลาล, นิทรรศการเรื่องราว 100 ปี จุฬาฯ กับบทบาทวิจัยนวัตกรรมด้านอาหารฮาลา, นิทรรศการเรื่องการขับเคลื่อนฮาลาลประเทศไทยสู่ฮาลาล 4.0, การจับคู่เจรจาทางธุรกิจฮาลาล, การประชุมองค์กรรับรองฮาลาลนานาชาติ, งานประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์อุตสาหกรรมและธุรกิจ ครั้งที่ 9 (HASIB 9th), การเสวนาในหัวข้อต่างๆ พร้อมด้วยงานแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลทั้งไทยและต่างประเทศ และรวบรวมสุดยอดอาหารฮาลาลและผลิตภัณฑ์ฮาลาลใหญ่ที่สุดในอาเซียนกว่า 300 บูท
การจัดงานในครั้งนี้ หน่วยงานร่วมจัดได้ตั้งเป้าหมายว่าตลอด 3 วันจะมีผู้ร่วมงานกว่า 10,000 คน อีกทั้งยังมุ่งหวังว่าการจัดงานในครั้งนี้จะสามารถเผยแพร่องค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีเรื่องฮาลาลประเทศไทยต่อประชาคมโลกให้รับทราบและสร้างความเชื่อมั่นต่อคุณภาพและมาตรฐานสินค้าฮาลาลของประเทศไทย พัฒนาให้สินค้าและบริการฮาลาลไทยสู่ Thailand Halal 4.0 โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิตฮาลาล เพิ่มมูลค่าการส่งออกผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่อันดับหนึ่งในห้าของโลก รศ.ดร.วินัย กล่าวปิดท้าย